เสนอวางกติกา’ควบรวมกิจการ’ป้องกันธุรกิจใหญ่มีอำนาจเหนือตลาด

ปี2015-03-25

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น ร่างแนวปฏิบัติการรวมธุรกิจตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า 2542 วานนี้(24มี.ค.) มีประเด็นน่าสนใจดังนี้

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจทีดีอาร์ไอกล่าวว่า ตามหลักการการของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันการควบรวมธุรกิจไม่มีความผิดหรือมีโทษ นอกจากนั้นในบางกรณี การควบรวมธุรกิจยังอาจเป็นประโยชน์ในการดำเนินการและบริหารจัดการ ทำให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและสามารถขยายตัวได้ รวมทั้งในสภาวะที่ธุรกิจมีจุดอ่อนหรือมีปัญหาในการทำธุรกิจก็สามารถได้รับการฟื้นฟูทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การควบรวมธุรกิจในตลาดที่มีผู้ประกอบการน้อยรายอาจนำไปสู่การผูกขาดหรือมีแนวโน้มของการลดการแข่งขันได้ จึงต้องมีบทบัญญัติและหลักการปฏิบัติเพื่อป้องกันการรวมธุรกิจที่อาจนำไปสู่การใช้อำนาจเหนือตลาดและใช้อำนาจในลักษณะที่ก่อให้เกิดการจำกัดการแข่งขันซึ่งการใช้อำนาจในลักษณะดังกล่าวอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคได้

นางเดือนเด่นกล่าวว่าตามพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า 2542 ได้มีการกำหนดให้มีบทบัญญัติกฎหมายลูกหรือกฎหมายลำดับรองในมาตรา 26 ซึ่งเกี่ยวข้องกับแนวปฏิบัติการรวมธุรกิจ (Merger Guidelines)

ที่ผ่านมายังไม่มีการออกบทบัญญัติดังกล่าวมาบังคับใช้ทำให้ที่ผ่านมาการควบรวมกิจการขนาดใหญ่ในหลายกรณีเกิดคำถามขึ้นในสังคมว่าก่อให้เกิดอำนาจเหนือตลาดจนกระทบกับประชาชนหรือไม่ ซึ่งการออกกฎหมายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องขึ้นมาเป็นเครื่องมือที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าสามารถนำไปใช้พิจารณาประกอบการอนุญาตการควบรวมกิจการต่างๆโดยเฉพาะกิจการขนาดใหญ่จึงมีความจำเป็น

ทั้งนี้ทีดีอาร์ไอได้เสนอร่างแนวปฏิบัติการรวมธุรกิจให้กับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้พิจารณานำไปใช้ในการพิจารณาควบคุมการควบรวมกิจการประกอบไปด้วย4ส่วน คือ

1. เกณฑ์การขออนุญาต โดยกิจการที่เข้าข่ายต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าก่อนการควบรวมกิจการ ได้แก่ การรวมธุรกิจ การเข้าซื้อหุ้นในบริษัทมหาชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ 25% ขึ้นไปหรือกรณีที่ซื้อหุ้นบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์หรือเป็นบริษัทจำกัดให้ใช้เกณฑ์การซื้อหุ้นตั้งแต่ 50% ขึ้นไปต้องแจ้งต่อคณะกรรมการรวมทั้งการรวมธุรกิจของบริษัทแม่ที่ส่งผลให้บริษัทในเครือที่เป็นบริษัทลูกควบรวมกันโดยอัตโนมัติ ซึ่งการควบรวมกิจการด้วยวิธีการต่างๆส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดคิดเป็น 30% ขึ้นไป และมียอดขายหรือรายได้ในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 2000 ล้านบาทต่อปีขึ้นไปในตลาดสินค้าหรือบริการใดบริการหนึ่ง

ส่วนการรวมกิจการที่ไม่ต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ได้แก่ การรวมธุรกิจระหว่างธุรกิจที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันทั้งแนวนอนและแนวตั้งและไม่เกี่ยวข้องกันทั้งทางตรงและทางอ้อม การรวมธุรกิจระหว่างบริษัทในกลุ่มเดียวกัน การรวมธุรกิจแบบแนวดิ่ง กรณีที่ผู้ถูกรวมธุรกิจมีส่วนแบ่งทางตลาดไม่เกิน 10% และมีรายได้และยอดขายที่ผ่านมาไม่เกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี และการรวมธุรกิจที่มีหน่วยงานกำกับดูแลเฉพาะอยู่แล้ว เช่น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ไม่ต้องขออนุญาตการควบรวมจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเนื่องจากมีกฎหมายและหน่วยงานดูแลอยู่แล้ว

2. หลักเกณฑ์ในการพิจารณาขอบเขตของตลาด โดยคณะกรรมการฯจะต้องพิจารณาทั้งจากส่วนของอุปสงค์และอุปทาน ได้แก่ พิจารณาจากการกำหนดราคา คุณภาพ ความสะดวกของการเข้าถึงสินค้า พฤติกรรมของผู้บริโภค การนำเข้าสินค้าทดแทน ช่องทางการจัดจำหน่าย ต้นทุนการขนส่ง และการเน่าเสียของสินค้า ซึ่งปัจจัยต่างๆล้วนมีผลต่อการแข่งขันทางการค้าทั้งสิ้น ในการคำนวณส่วนแบ่งทางตลาดยังต้องคำนึงถึงทั้งส่วนแบ่งทางรายได้และส่วนแบ่งปริมาณสินค้าและบริการของผู้ประกอบการที่ควบรวมกันว่าจะส่งผลโดยรวมต่อตลาดอย่างไร

3. แนวทางในการพิจารณาผลกระทบต่อการแข่งขัน โดยจะต้องพิจารณาถึง 3 ส่วนที่สำคัญได้แก่ 1) โครงสร้างตลาดในปัจจุบัน โดยดูถึงการกระจุกตัวของตลาดก่อนและหลังการรวมธุรกิจ 2) โครงสร้างตลาดที่อาจเกิดขึ้นหลังการรวมธุรกิจ โดยพิจารณาถึงโอกาสที่ผู้ประกอบการรายใหม่จะเข้ามาในตลาดได้ การเข้าถึงวัตถุดิบ การเข้าถึงทรัพย์ทางปัญญา และต้นทุนจมในการประกอบธุรกิจ และ 3) โอกาสที่จะเกิดผลกระทบทางลบต่อการแข่งขัน

4. คณะกรรมการฯต้องพิจารณาถึงความจำเป็นและผลกระทบต่อเศรษฐกิจและผู้บริโภค เช่น การพิจารณาว่ากิจการที่จะควบรวมกันมีความจำเป็นในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือสามารถที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวได้หรือไม่ ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาว่าการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันนั้นสามารถที่จะสร้างประโยชน์ต่อผู้บริโภค

คณะอนุกรรมการที่ร่วมกันร่างจะต้องจัดรับฟังความคิดเห็นในครั้งต่อๆไปเพื่อสอบถามความคิดเห็นของนักกฎหมายและผู้ประกอบการก่อนที่กระทรวงพาณิชย์จะประกาศใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อให้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้านำไปใช้ในการพิจารณาการควบรวมกิจการต่อไป

“ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นซึ่งจะยังมีข้อถกเถียงในบางประเด็น เช่น เกณฑ์ในการขออนุญาตการควบรวมไม่ควรเอาเกณฑ์ของส่วนแบ่งทางการตลาดมาเป็นเงื่อนไข เนื่องจากผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายย่อยอาจไม่รู้ถึงส่วนแบ่งทางการตลาดที่แท้จริงของตนเอง ขณะที่เกณฑ์ในการกำหนดยอดขายที่ 2000 ล้านบาทก็ยังต้องดูถึงความเหมาะสมว่าสูงเกินไปหรือไม่ ขณะที่เกณฑ์การควบคุมบริษัทจำกัดที่สัดส่วน 50% ก็อาจสูงเกินไปเนื่องจากการควบคุมบริษัทอาจไม่ต้องมีสัดส่วนหุ้นถึง 50% ก็ได้” นางเดือนเด่นกล่าว

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการผลักดันกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าซึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่มาตรา 25- 29 ซึ่งในส่วนที่กำลังจัดรับฟังความคิดเห็นในขณะนี้คือ ร่างแนวปฏิบัติการรวมธุรกิจตามมาตรา 26 ของพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า เพื่อให้เป็นหลักปฏิบัติว่าการควบรวมธุรกิจของบริษัทต่างๆ นั้นต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ซึ่งได้กำหนดให้มีการป้องกันการกระทำอันเป็นการผูกขาดการแข่งขันในการประกอบธุรกิจ

ที่ผ่านมายังไม่มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องจึงต้องมีการผลักดันให้มีการกำหนดบทบัญญัติตามมาตรา 26 เพื่อป้องกันการรวมธุรกิจที่ก่อให้เกิดอำนาจเหนือตลาดและใช้อำนาจในลักษณะที่ก่อให้เกิดการจำกัดการแข่งขัน คาดว่าจะสามารถผลักดันการออกกฎหมายได้ภายในรัฐบาลนี้โดยหลักเกณฑ์ที่ออกมาจะใช้กับทั้งกิจการไทยที่จะมีการควบรวมหรือกรณีที่บริษัทต่างประเทศจะเข้ามาควบรวมบริษัทในไทยซึ่งจะมีกรณีดังกล่าวมากขึ้นหลังจากเปิดเสรีอาเซียนหลังปี 2558 แล้ว

นายรัฐไกร ลิ้มศิริตระกูล กรรมการและเลขานุการและคณะกรรมการกฎหมาย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า จุดอ่อนของการนำกฎหมายนี้ไปบังคับใช้ก็คือ ในทางปฏิบัติผู้ประกอบการอาจไม่มีความรู้เพียงพอว่าสินค้าทดแทนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการที่ตนเองทำธุรกิจอยู่คืออะไรบ้าง

ประเด็นของการควบรวมกิจการโดยกำหนดว่ากิจการที่มีการควบรวมแล้วมีส่วนแบ่งทางการตลาดเกิน 30% ต้องขออนุญาตและจะต้องมีการพิจารณาอีกครั้งเนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย เรามีการกำหนดสัดส่วนตรงนี้ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งต้องมองภาพในอนาคตด้วยว่าเมื่อมีการเปิดเออีซีแล้วบริษัทต่างชาติจะเข้ามาซื้อหรือควบรวมกิจการในไทยมากขึ้น กรณีที่บริษัทต่างชาติยังไม่เคยทำการตลาดหรือมีส่วนแบ่งตลาดในไทยแต่อาจสามารถเข้ามาซื้อกิจการขนาดใหญ่และมีสัดส่วนทางการตลาดต่ำกว่า 30%

“เงื่อนไขในส่วนนี้อาจจะกระทบต่อการแข่งขันและสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจไทยในอนาคตได้”

————————

หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 25 มีนาคม 2558 ในชื่อ “เสนอวางกติกา’ควบรวมกิจการ’ป้องกันธุรกิจใหญ่มีอำนาจเหนือตลาด”