เร่งประมูล 4G คิดมโนเพื่อใคร

ปี2015-04-15

เฝ้าฝันกันว่า…“เศรษฐกิจดิจิทัล” หรือ “Digital economy” จะเป็นนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้ไฉไลทันสมัย ประหนึ่ง…ทุกอย่างสั่งได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส

คำถามมีว่า…ผู้ประกอบการมีความเข้าใจและเตรียมพร้อมแค่ไหนที่จะก้าวเข้าสู่สนามนี้ บางมุมมองจากงานสัมมนา “พลิกพลังสร้างสรรค์สู่เศรษฐกิจดิจิทัล” ภายใต้การขับเคลื่อน สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ มีหลายประเด็นน่าสนใจ

อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล รองผู้อำนวยการ บอกว่า การมาของสื่อดิจิทัลที่พุ่งตัวมาอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการบางรายอาจไม่ทันตั้งรับ สิ่งที่ต้องคิดถึงคือเนื้อหาที่จะสื่อสาร ต้องคิดว่าจะวิ่งด้วยอะไรและวิธีไหน เพราะในโลกดิจิทัลทุกอย่างเกิดขึ้นเร็ว ฉะนั้นมีความรู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องเรียนรู้การปรับวิธีใช้งานให้ทันตามโลก

จักรกฤษณ์ ทัฬหชาติโยธิน ผู้ร่วมก่อตั้ง Ne8t CoMaking Space มองว่าเวลานี้เรากำลังอยู่ในยุคปฏิวัติดิจิทัล ต้องเติมช่องว่างระหว่างออนไลน์กับออฟไลน์ รู้จักสร้าง…สิ่งที่จับต้องได้ ความท้าทายสำคัญในยุคที่เทคโนโลยีมีทั่วไปในท้องตลาด การทำให้ประสบความสำเร็จจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

จอมทรัพย์ สิทธิพิทยา ผู้ก่อตั้งบริษัท Exzy เสริมว่า เราเริ่มจากเชื่อในผลิตภัณฑ์ว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างไรให้กับลูกค้า สิ่งที่ทำ…ไม่ได้ไปขายของ แต่คือทำอย่างไรให้ลูกค้าประสบความสำเร็จในวิชั่นที่เราเห็น

การหาผลิตภัณฑ์ที่มี “ตลาด” และ “มีคนยอมจ่าย” เกี่ยวข้องกับการตั้งราคา กระบวนการตัดสินใจลูกค้า ซึ่งตอบโจทย์ได้ด้วยแนวทางบริหาร “คน”…ท้ายสุดแล้ว “กุญแจความสำเร็จ” ที่จะอยู่รอดบนถนนเศรษฐกิจดิจิทัล คือต้องมีความเป็นครีเอทีฟ…สมาร์ท…ยืดหยุ่น…รวดเร็ว…เข้าใจศักยภาพของผลิตภัณฑ์ และ…รู้จักคิดนอกกรอบ

โหมโรง…“เศรษฐกิจดิจิทัล” ด้วยการต้องเร่งเปิดประมูลคลื่น 4G โดยพลัน สมเหตุสมผลมากน้อย บันทึกช่วยจำ…เดือนมิถุนายน 2557 คสช.มีคำสั่งให้ กสทช.ชะลอการประมูลคลื่น 4G ออกไป 1 ปี โดยไม่ได้ให้เหตุผลที่ชัดเจน…ย้อนไปปี 2555 กสทช.ได้เตรียมประมูล โดยเอาคลื่น 1800 MHz ของทรูฯที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานมาประมูล แต่…สุดท้ายก็ไม่ได้ประมูล ด้วยมีมติให้ขยายเวลาการให้บริการ อ้างว่าจัดประมูลไม่ทัน

เสียงวิจารณ์เซ็งแซ่ ยิ่งประมูลช้า…ยิ่งทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการในตลาดโทรคมนาคมไทย และคนไทยก็จะเสียโอกาสในการได้ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ

ปัญหาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยราวกับถูกใบบัวปิดไว้ ยังไม่นับรวมถึงการแก้ปัญหาธรรมาภิบาลของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. มีแต่การเร่งผลักดันกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งไม่ได้ตอบโจทย์

วันวานเสมือนยื้อเวลา…มาวันนี้หากจะเร่งประมูลคลื่น 4G หรือชะลอต่อไป ประชาชนคนไทยควรจะได้รู้มาจากเหตุผลกลใดกันแน่ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ตั้งข้อสังเกต และ…จริงหรือที่การประมูลคลื่นจะทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน

ร่างรัฐธรรมนูญ และร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับปรับปรุงแก้ไขต่างมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีเนื้อหาที่แปลก ร่างรัฐธรรมนูญ : “…การจัดสรรคลื่นความถี่ต้องให้ความสำคัญต่อการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมและการให้บริการอย่างทั่วถึง ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ และในราคาที่ประชาชนทั่วไปเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด มากกว่าการมุ่งหารายได้เข้ารัฐ หรือเข้า กสทช.”

ร่างกฎหมาย กสทช. : “…ในการประกอบการทางธุรกิจ การคัดเลือกให้ทำโดยวิธีประมูล แต่หลักเกณฑ์การประมูลต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้รับ โดยจะคำนึงถึงจำนวนเงินที่เสนอให้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้”

สะท้อนความเข้าใจผิด…โดยเฉพาะแรงโหมสร้างความเข้าใจผิดต่อสังคมที่ว่า “การประมูลคลื่นไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและสร้างภาระแก่ผู้บริโภค” เคยเกิดมาแล้วในช่วงการประมูลคลื่น 3G แต่ก็ไม่เกิดขึ้นในช่วงประมูลคลื่นทีวีดิจิทัล ทำให้…น่าสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมบางรายหรือไม่

สมเกียรติย้ำว่า การประมูลคลื่น…ไม่ได้ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้น ไม่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ และยังเป็นวิธีที่ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมที่สุด

จับตาประเด็นแรก…มูลค่าประมูลคลื่นไม่มีผลต่อค่าบริการ เพราะค่าบริการขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทาน เช่น เมื่อผู้ประกอบการประมูลคลื่น 3G มาได้ในราคาถูกมาก…ถูกกว่าราคาที่ กสทช.ประเมินไว้ ก็ไม่ปรากฏว่าผู้ประกอบการลดราคาให้แก่ผู้บริโภค แม้ กสทช.จะแสดงท่าทีกดดันให้ลดราคาลงจากเดิม 15% ก็ตาม และต่อให้ผู้ประกอบการได้คลื่นไปฟรี ก็อย่าไปหวังว่าจะมีการลดราคาให้เรา…ยิ่งได้คลื่นมาฟรีๆก็ยิ่งถือว่าเป็น “ลาภลอย”

จับตาประเด็นที่สอง…รายได้จากการประมูลคลื่นที่รัฐได้รับมาจากกำไรของผู้ประกอบการ คำถามมีว่า…ถ้าการประมูลคลื่นไม่ได้ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่ม แล้วรายได้จากการประมูลมาจากไหน

ก่อนอื่นต้องดูคู่แข่ง…ผู้ใช้บริการยอมจ่ายสูงสุดเท่าไร จะทำให้รู้ราคาค่าบริการที่ทำกำไรสูงสุด…การได้คลื่น 4G จะทำให้เกิดรายได้เท่าไหร่ สมมติว่าได้ 1 แสนล้านบาทตลอดอายุใบอนุญาต ก็คำนวณต่อไปว่า…ต้องลงทุนต่างๆเท่าไรเพื่อให้ได้รายได้ตามเป้า เช่น ต้องลงทุน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีกำไรขั้นต้นที่ 7 หมื่นล้านบาท

แน่นอนว่า…จะไม่มีทางประมูลคลื่นสูงกว่า 7 หมื่นล้านบาท…เพราะจะขาดทุน

แต่จะประมูลสูงเท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับการแข่งขัน…ถ้าแข่งขันกันน้อยก็อาจจะประมูลที่ 5 พันล้าน…มีกำไร 6.5 หมื่นล้าน แต่ถ้าแข่งกันมากขึ้น อาจต้องประมูลที่ 2 หมื่นล้าน…มีกำไรสุทธิลดลงเหลือ 5หมื่นล้าน

ที่แน่ๆมากๆ…ไม่ว่าจะประมูลคลื่นมาที่ 5,000 ล้านบาท หรือ 20,000 ล้านบาท ก็จะคิดค่าบริการเท่าเดิม…ซึ่งเป็นราคาสูงสุดที่ผู้ใช้บริการยอมจ่าย

“ถ้าราคาประมูลสูง ได้กำไรลดลง…แต่รัฐได้รายได้มากขึ้น ทำให้รัฐลดความจำเป็นในการเก็บภาษีจากประชาชน การประมูลจึงเป็นการแบ่งกำไรระหว่างรัฐกับผู้ประกอบการ โดยผู้บริโภคไม่ถูกกระทบ การประมูลได้ราคาสูงๆ…เป็นการดูดกำไรของเอกชนมาเป็นกำไรของรัฐ…หรือของประชาชนผู้เสียภาษี”

ประเด็นสุดท้าย…การประมูลไม่ได้ขัดขวางประโยชน์สาธารณะ
“ถ้ายังห่วงว่าผู้บริโภคอาจถูกเก็บค่าบริการสูงด้วยเหตุผลใดก็ตาม วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้อุ่นใจก็คือ การที่ กสทช. กำหนดค่าบริการสูงสุดไว้ล่วงหน้าก่อนประมูล เช่น ห้ามคิดค่าบริการเกินนาทีละ 0.50 บาท เมื่อทำแผนธุรกิจ ผู้ประกอบการก็จะรู้เองว่าสมควรจะยื่นประมูลคลื่นเท่าใด จากค่าบริการสูงสุดที่จัดเก็บได้”

เช่นเดียวกัน หาก กสทช.ต้องการให้บริการ 4G มีมาตรฐานคุณภาพดีแค่ไหน และต้องให้บริการอย่างทั่วถึงอย่างไร ก็สามารถกำหนดเป็นเงื่อนไขให้ผู้ชนะการประมูลต้องปฏิบัติตามได้ โดยการประมูลยังคงสามารถใช้หลักเกณฑ์เดียวคือ “มูลค่าการประมูลสูงสุด” …ซึ่งไม่ได้ขัดขวางประโยชน์สาธารณะแต่อย่างใด

อาจารย์สมเกียรติ ฝากทิ้งท้ายว่า การประมูลแบบยึดมูลค่าการประมูลสูงสุดจะทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม…ยากต่อการวิ่งเต้น ตรงกันข้ามการจัดสรรคลื่นโดยไม่ประมูล แต่ใช้วิธีอื่น…คัดเลือกหรือประมูลโดยใช้หลายๆเกณฑ์จะไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ เพราะจะทำให้เกิดการวิ่งเต้นกันขนานใหญ่

ลงท้ายด้วยการที่ กสทช.จัดสรรคลื่นความถี่ในราคาที่ต่ำมาก…ให้ผู้ประกอบการนักวิ่งเต้นเอาไปทำกำไรมหาศาล

————————

หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือไทยรัฐ วันที่ 15 เมษายน 2558 ในชื่อ “เร่งประมูล 4G คิดมโนเพื่อใคร”