ยกระดับเบี้ยยังชีพสู่ ‘บำนาญแห่งชาติ’ ‘สวัสดิการยามชรา’ ที่ทั่วถึง-เท่าเทียม

ปี2015-04-22

องค์การสหประชาชาติให้นิยามว่า ประเทศใดที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ 10 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่ “สังคม สูงอายุ” แล้ว ซึ่งประเทศไทยเป็นสังคมสูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 และมีการประมาณการว่าอีก 30 ปีจากนี้ไปจำนวนผู้สูงอายุในไทยจะเพิ่มจากร้อยละ 14 เป็นร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุในไทยเป็นสิ่งที่รัฐต้องให้ความสำคัญในการวางระบบ และมีแนวทางสนับสนุน “หลักประกันรายได้” ให้เป็นสวัสดิการในการดูแลผู้สูงอายุอย่างจริงจัง เพราะข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2554 บ่งชี้ว่ามีผู้สูงอายุถึง 1 ใน 3 ที่มีรายได้ต่ำกว่า “เส้นความยากจน” ส่วนหนึ่งมาจาก “ความเหลื่อมล้ำ” ทางรายได้ทำให้กลุ่มคนที่อยู่ในภาวะยากจนเข้าไม่ถึงโอกาสต่างๆทางสังคมกลายเป็น “จนดักดาน” รายได้มีใช้ “เดือนชนเดือน” ไม่มีศักยภาพในการออม เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจึงใช้ชีวิตอย่างด้อยคุณภาพ

แล้วรัฐจัดสวัสดิการด้านรายได้ หรือ “บำนาญ” ให้กับผู้สูงอายุอย่างไรบ้าง.???

ที่ผ่านมาพบว่า การรับรู้เรื่องบำนาญของคนไทยมี 2 ส่วน คือ ส่วนแรกได้รับบำนาญต่างๆ อีกส่วนได้รับในรูปแบบ “เบี้ยยังชีพ” ซึ่งเมื่อปี 2554 รัฐบาลปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์มาจ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุทุกคนเป็นขั้นบันไดตามช่วงอายุตั้งแต่ 600-1,000 บาทต่อเดือน

ทว่า…..เบี้ยยังชีพที่เพิ่มขึ้นไม่มีหลักคำนวณ แต่สัมพันธ์กับ “นโยบายหาเสียง” ของพรรคการเมืองเป็น “ประชานิยม” ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการสิทธิขั้นพื้นฐานยังไม่เป็น “รัฐสวัสดิการ” และจำนวนเงินไม่เพียงพอกับการยังชีพได้จริง

แล้วรัฐควรจะทำอย่างไร.???

“ชุลีพร ด้วงฉิม” ตัวแทนเครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพกล่าวในเวทีรณรงค์สาธารณะเรื่อง “สังคมไทยสูงวัยไปด้วยกันด้วยระบบบำนาญแห่งชาติ” เมื่อเร็วๆนี้ว่า หลายภาคส่วนได้ร่วมกันจัดตั้ง “เครือข่ายประชาชนเพื่อขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติ” เพื่อผลักดันเสนอ “พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ” โดยเครือข่ายฯเห็นว่ารัฐควรปรับ “เบี้ยยังชีพ” ให้เป็นบำนาญพื้นฐานรวมถึงสร้างระบบ “บำนาญแห่งชาติ” ให้เป็นหลักประกันว่า “ประชาชนจะได้รับการดูแลให้อยู่ในภาวะที่พออยู่ได้ทันที” บนหลักการ “ทั่วถึง เท่าเทียม และถ้วนหน้า”

“พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติมีสาระสำคัญ 2 ประการ คือ 1.ให้รัฐจัดสวัสดิการบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าให้ผู้สูงวัย เพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้แบบรายเดือนในอัตราที่อ้างอิงเส้นความยากจน ในปี 2558 อยู่ที่ 2,400 บาทต่อเดือน และ 2.ให้มีคณะกรรมการกลางที่มีส่วนร่วมของประชาชนในการเป็นกลไกที่มีบทบาทจัดทำนโยบายและแผนพัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติให้เป็นระบบเดียวกัน” ชุลีพรกล่าว

ขณะที่ “วรเวศน์ สุวรรณรดา” คณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) กล่าวว่า คณะกรรมการฯได้ผลักดันให้เบี้ยยังชีพพัฒนาไปสู่การเป็นบำนาญพื้นฐานเพื่อสร้างหลักประกันทางรายได้ที่ยั่งยืนให้กับผู้สูงอายุ รวมถึงผลักดันให้มี “กลไกกลาง” ในการดูภาพรวม ทั้งนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางทิศทางบำนาญของประเทศให้ชัดเจน ซึ่ง สปช. ยอมรับหลักการแล้ว

“ข้อเสนอ” อีกประเด็นหนึ่ง คือ รัฐควรให้ความสำคัญกับการมีสวัสดิการสนับสนุนคนอีก 2 วัย คือ “เด็ก” ที่ต้องเติบโตขึ้นไปอย่างมีคุณภาพเพื่อจะได้มีศักยภาพในการเลี้ยงดูผู้สูงอายุ และ “คนทำงาน” ที่อาจต้องออกจากงาน หรือทำงานหนักมากขึ้นเพื่อมาดูแลพ่อแม่ หรือลูก ทำให้เกิดความลำบากในการใช้ชีวิตเมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัย จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเข้ามาดูแลคุณภาพชีวิตของประชากรทุกวัยอย่างเท่าเทียมกัน

ด้าน สมชัย จิตสุชน” ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยกล่าวว่า บำนาญแห่งชาติจะเกิดขึ้นได้นั้นรัฐต้องปรับ “โครงสร้างการจัดเก็บภาษี” เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ โดยเฉพาะภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเก็บใน “อัตราก้าวหน้า” ซึ่งจะทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณแสนล้านบาท

อีกทั้งรัฐต้อง “ปฏิรูปภาษีมูลค่าเพิ่ม” ที่แม้หลายฝ่ายมองว่าอาจสร้างความเดือดร้อนให้กับคนจน แต่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นรายได้ให้กับรัฐส่วนใหญ่ยังมาจากคนรวย เช่น คนจนดื่มน้ำขวดละ 10 บาท ขณะที่คนรวยดื่มไวน์ขวดละเป็นพัน แม้จะเก็บภาษีในอัตรา 7% เท่ากัน แต่จำนวนเงินที่เสียภาษีแตกต่างกัน ซึ่งการที่รัฐยังไม่ยอมขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มถือเป็นการ “ช่วยคนรวย” ประหยัดเงินไปได้มาก ดังนั้นภาษีมูลค่าเพิ่มจึงเป็นภาษีที่สร้างความเท่าเทียมกันในสังคม และเป็นภาษีที่คนรวย “หนีไม่ออก” แต่รัฐต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นจะนำไปใช้ในเรื่องบำนาญพื้นฐาน

อย่างไรก็ดี เรื่องบำนาญแห่งชาติต้องทำคู่กับ “การออมภาคบังคับ” ประชาชนจะได้ไม่ใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่าย ส่วนคนที่มีอายุ 40-50 ปี ซึ่งมีเวลาออมไม่มากอาจต้องมีมาตรการบังคับให้ลูกหลานจ่ายเงินออมเข้ากองทุนแทนพ่อแม่

นอกจากนี้ รัฐควร “ยกเลิก” ระเบียบการจ่ายเงินสมทบเข้า “กองทุนประกันสังคม” ที่ผู้ประกันตนมีรายได้สูงแค่ไหนก็มีเพดานในการจ่ายเงินสมทบไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน บนฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท เพื่อให้คนที่มีเงินเดือนสูงกว่า 15,000 บาท ส่งเงินเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้กองทุนประกันสังคมเกิดความมั่นคง

“ที่สำคัญที่สุดคือรัฐอย่ารวบอำนาจไว้ข้างบน ต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ส่งเสริมประชาธิปไตยในระดับรากหญ้า และเมื่ออำนาจไปอยู่ข้างล่างไม่ว่าจะเป็นเบี้ยยังชีพ การดูแลเด็กเล็ก หรือเรื่องรัฐสวัสดิการอื่นๆก็ให้ท้องถิ่นได้ตัดสินกันเอง ส่วนรัฐมีบทบาทในการหารายได้ช่วยท้องถิ่น ดังนั้น รัฐกลางต้องกระจายทั้งอำนาจและการเงินซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาของประชาชนในทุกๆด้านได้อย่างแท้จริง” สมชัยกล่าวทิ้งท้าย

การยกระดับเบี้ยยังชีพด้วยระบบ “บำนาญแห่งชาติ” เป็นการทำงานบนหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนจะช่วยให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงสวัสดิการที่เป็นหลักประกันทางรายได้จากรัฐได้อย่างเท่าเทียม ที่สำคัญยังช่วยให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หากรัฐบาล “เอาด้วย” กับเรื่องนี้ อย่างน้อยที่สุดก็น่าจะทำให้ผู้คนในสังคมไทย…..

“สูงวัยไปด้วยกัน” อย่างมีความสุข!!!

————————

หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 22 เมษายน 2558 ในชื่อ “คอลัมน์: สกู๊ปแนวหน้า: ยกระดับเบี้ยยังชีพสู่ ‘บำนาญแห่งชาติ’ ‘สวัสดิการยามชรา’ ที่ทั่วถึง-เท่าเทียม”