tdri logo
tdri logo
25 มิถุนายน 2015
Read in Minutes

Views

ดร.เดือนเด่น เผยรพ.เอกชน 5 ดาว คิดค่าบริการสูงกว่ารัฐ 2.5-7 เท่า

นักวิชาการทีดีอาร์ไอชี้ค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชนสูงกว่ารัฐเป็นไปตามกลไกตลาด ระบุสิ่งที่รัฐต้องเข้ามากำกับดูแล คือ ค่าใช้จ่ายที่สูงเกินจริง-ราคายา ขณะที่นายกสมาคมรพ.เอกชนย้ำชัดค่ารักษาไม่แพงเป็นไปตามต้นทุนและศักยภาพในการให้บริการ

11541020_1452388448413474_8107643163493245039_n
งานสัมมนาเรื่อง “มาตรฐานค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน” (ที่มารูปภาพ: www.isranews.org/)

23 มิถุนายน 2558 คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการศึกษามาตรฐานค่ารักษาพยาบาลของสถานพยาบาล จัดสัมมนาเรื่อง “มาตรฐานค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน” ณ ห้องรับรอง1-2 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการด้านนโยบายการแข่งขันทางการค้าและคุ้มครองผู้บริโภค ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจรายสาขา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงผลการศึกษาอัตราค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนในปี 2552 ว่า โรงพยาบาลเอกชนคิดอัตราค่าบริการต่างกันหลายเท่าตัว โดยเอกชน 5 ดาวจะคิดค่าบริการสูงกว่าของรัฐ 2.5-7 เท่า และเอกชนแสวงหากำไร 1.4-4 เท่า

จากผลการศึกษาความแตกต่างระหว่างสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน ในปี 2557 เปรียบเทียบเฉพาะโรคต้อกระจกและไส้ติ่ง ค่ารักษาพยาบาลจะมีความห่างกันค่อนข้างมาก คือ มีอัตราค่าบริการสูงในโรคต้อกระจกมากกว่าของรัฐ 11.7 เท่า ส่วนไส้ติ่งสูงกว่าของรัฐ 8.3 เท่า

ดร.เดือนเด่น กล่าวอีกว่า จากการศึกษาที่ผ่านมาสรุปได้ว่า สถานพยาบาลเอกชน 5 ดาวจะมีอัตราค่าบริการแพงที่สุด รองลงมาจะเป็นเอกชนที่อยู่ตามหัวเมืองและมูลนิธิ และความแตกต่างเรื่องการบริการบางแห่งจะเพิ่มสูงขึ้นหากเป็นโรงพยาบาลเอกชน 5 ดาว

ส่วนการที่ไทยจะเป็น Medical Hub นั้นจะส่งผลกับค่ารักษาหรือไม่ ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า จากผลการศึกษา ค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน 5 ดาวที่มีความเกี่ยวโยงกับ Medical Hub สูงกว่าโรงพยาบาลอื่นๆอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งมีอัตราการเพิ่งที่สูงขึ้น จึงอาจสรุปได้ว่า Medical Hub มีผลทำให้ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น แต่ตัวเลขเชิงปริมาณยังไม่สามารถยืนยันได้

สำหรับกรณีที่เป็นข้อถกเถียงในสังคมเรื่องค่ารักษาพยาบาลแพงของโรงพยาบาลเอกชนและกำลังหาทางออกว่าจะมีการควบคุมราคาหรือไม่นั้น ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า ค่ารักษาพยาบาลแพงไม่ใช่ประเด็นเพราะโรงพยาบาลเอกชนค่ารักษาพยาบาลแพงกว่าของรัฐเป็นเหตุผลไปตามกลไกของตลาดธุรกิจ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การกำกับควบคุมค่ารักษาพยาบาลของเอกชนที่สูงเกินความคาดหมาย นั่นหมายความว่าหากคนไข้ เช่น จะคลอดบุตรยินยอมที่จะจ่ายในราคา 5 หมื่นบาท แปลว่า สามารถจ่ายได้ในราคานี้ แต่หากเข้าไปรับการรักษาหรือใช้บริการจาก 5 หมื่น กลายเป็น 1 แสนบาท แบบนี้จึงเรียกว่า ค่ารักษาสูงเกินกว่าความเป็นจริงและเป็นประเด็นที่ต้องแก้ไขที่รัฐต้องเข้าไปดูแล

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่า จากการไปศึกษาหรือสำรวจสถานพยาบาลเอกชนพบว่า จะมีค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆซึ่งใช้เป็นกลยุทธ์ในการกำหนดราคาที่จะซ่อนค่าใช้จ่ายแฝงไว้ข้างใน เช่น โฆษณาค่าห้องต่างจากความเป็นจริงและใช้ค่ายาอุด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลค่ายาด้วย ซึ่งจากการสำรวจได้ข้อมูลว่า ยาไทลินอลที่ข้างนอกขายเม็ดละ 1 บาท แต่เอกชนสำหรับผู้ป่วยนอกคิดเม็ดละ 3 บาท และผู้ป่วยในเม็ดละ 12 บาท ดังนั้นจะต้องมีการกำกับในเรื่องของราคายา

ด้านนพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า การที่โรงพยาบาลเอกชนมีความแตกต่างเรื่องค่ารักษาพยาบาลจากรัฐ เนื่องจากต้นทุนและกลไกการแข่งขันทางธุรกิจในตลาดเสรี เรามีการควบคุมมาตรฐานการพัฒนาระบบบริการ และระบบบริหารบุคลากรมีการใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัย มีกระบวนการวินิจฉัยและรักษาที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมทั้งพื้นที่บริการทางกายภาพก็ไม่อึดอัดและมีสภาพที่เอื้อต่อการบำบัดรักษา

“ดังนั้นผมไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีการเปรียบเทียบค่ารักษาพยาบาลทั้งๆที่รู้ว่าต้นทุนเราต่างกัน”

นพ.เฉลิม กล่าวถึงต้นทุนของยาและการบริหารจัดการยานั้นเป็นผลต่อต้นทุนทางตรงของระบบยาโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากมีกระบวนการดูแลและการเก็บรักษายา 24 ชั่วโมง มีการควบคุมการใช้และสั่งจ่ายยาโดยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทั้งระบบ ใช้ต้นทุนในการสต็อกยาให้เพียงพอ รวมทั้งมีการใช้เทคโนโลยีในการจัดเก็บที่มีราคาสูง เช่น มีการใช้หุ่นยนต์จ่ายยา ราคา 40 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งต้นทุนเหล่านี้คือการบริหารของทางโรงพยาบาลเอกชนเอง ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐเรื่องการบริหารจัดการยาจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลที่มาจากงบประมาณระบบภาษี

นายกสมาคมโรงพยาลเอกชน กล่าวด้วยว่า หากมองความเป็นจริงแล้ว ค่ายาและค่าบริการในโรงพยาบาลเอกชนนั้น “ไม่แพง” แต่เป็นการสะท้อนต้นทุนที่จะสนับสนุนศักยภาพการดูแลสุขภาพของประเทศและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันไปสู่ระดับสากล และทั้งหมดคือการลงทุน และการลงทุนนี้เป็นคำตอบว่าทำไมจึงมีความแตกต่างเรื่องราคา การสะท้อนต้นทุนของโรงพยาบาลเอกชนเป็นการตอบโจทย์ระบบเศรษฐกิจเสรี

—————————–

ตีพิมพ์ครั้งแรก: ในเว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา วันที่ 23 มิถุนายน 2558 ใน “ดร.เดือนเด่น เผยรพ.เอกชน 5 ดาว คิดค่าบริการสูงกว่ารัฐ 2.5-7 เท่า”

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด