จิรวัฒน์ สุริยะโชติชยางกูล
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
“เทคโนโลยีตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้จริงๆ หรือ?” คำถามนี้เกิดขึ้นระหว่างที่ผู้เขียนหยิบสมาร์ทโฟนเลื่อนอ่านข้อความต่างๆ ในโลกสังคมออนไลน์ เพราะความเร็วสูงจากการแชร์ข้อมูลทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าเทคโนโลยีนั้นตอบโจทย์เราได้อย่างคุ้มค่าและแท้จริงหรือไม่ ซึ่งในปัจจุบันบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างประเทศแทบทุกองค์กรมีแผนก R&D (Research and Development) เพื่อคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบสนองคุณภาพชีวิตของเราให้สะดวกสบายขึ้นมาก และเป็นตัวชี้วัดความได้เปรียบทางธุรกิจคู่แข่งของตนได้อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ทว่า “ราคาของเทคโนโลยีนั้นไปด้วยกันกับประโยชน์ของมันแล้วหรือไม่”
เมื่อพูดถึงคำว่า “ราคา” ในที่นี้ ไม่ใช่แค่ราคาในความหมายทางเศรษฐศาสตร์ที่หมายถึง จำนวนเงินที่นำไปแลกกับสินค้าหรือบริการเท่านั้น แต่ยังหมายถึงราคาที่มองไม่เห็นหรือก็คือ ผลกระทบที่ตามมาจากการใช้เทคโนโลยีนั่นเอง แล้วราคาที่มองไม่เห็นเหล่านี้จะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น หรือเกิดให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้อย่างไร
ในขณะเดียวกัน อีกสิ่งที่ต้องพิจารณาคือ กระบวนการยุติธรรมซึ่งก็คือ เครื่องมือสำคัญที่กำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคม ไม่ให้ละเมิดสิทธิหรือกระทำความผิดต่อผู้อื่น ดังนั้นหากผู้กระทำความผิดใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการหาประโยชน์ที่ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย เช่น กรณีการโจรกรรมอัตลักษณ์บุคคลในระบบดิจิทัล การเจาะเข้าไปในระบบประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ (cloud computing) เพื่อละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือการก่อการร้าย หากกระบวนการยุติธรรมไม่คำนึงราคาเหล่านี้ ถึงตอนนั้นราคาที่เกิดขึ้นอย่าง ค่าเยียวยาผู้เสียหาย ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาและสร้างเสริมคุณค่าทางสังคม วัฒนธรรมและศีลธรรมอันดีของประชาชน ค่าใช้จ่ายในการจัดการกับความขัดแย้ง งบประมาณสำหรับการจับกุมอาชญากร หรือแม้กระทั่งราคา ซึ่งมาจากความน่าเชื่อถือของสถาบันยุติธรรมเองก็ตาม แน่นอนว่าเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะต้องแบกรับภาระราคาที่เกิดขึ้นนี้ แต่จริงๆ แล้ว “เราได้ตระหนักถึงปัญหานี้อย่างจริงจังหรือยัง?”
นอกเหนือจากราคาที่เรามองไม่เห็นแล้ว แน่นอนว่าการมีกระบวนการยุติธรรมที่ไม่อาจรับมือกับปัญหาเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ ย่อมส่งผลกระทบตามมา เช่น การแสวงหาประโยชน์ทางเพศ เชิงพาณิชย์ ทางอินเทอร์เน็ต การฟอกเงิน ฉ้อโกง ความมั่นคงต่อรัฐ การละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ หากทุกๆ ฝ่ายตระหนักในปัญหานี้อย่างแท้จริง กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมจะเป็นปราการสำคัญ ป้องกันภัยคุกคามทางเทคโนโลยี ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ แต่กฎหมายควบคุมเทคโนโลยีที่ใช้บังคับอยู่นั้น ยังมีความไม่ชัดเจน ขาดงบประมาณสนับสนุน องค์กรกำกับดูแลขาดความเป็นอิสระ ถูกแทรกแซงได้ง่าย อีกทั้งบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมไม่เข้าใจปัญหาสังคมที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นจากการใช้เทคโนโลยี
นาย William E.Gladstone อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวไว้ว่า “Justice delayed is justice denied” (ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือ ความไม่ยุติธรรม) แม้ว่าประเทศไทยเริ่มจะมีกระบวนการทางยุติธรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้เพื่อช่วยให้กระบวนการรวดเร็วขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายอย่างของกระบวนการยุติธรรม ที่ไม่อาจจัดการกับคดีเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น จะดำเนินการเอาผิดอย่างไร เมื่อการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีนั้น ไม่จำเป็นว่าผู้ว่ากระทำความผิดจะต้องอยู่ในประเทศที่ตรวจจับพบความผิด หรืออย่างการระบุตัวผู้กระทำความผิดว่าในฐานความผิดอื่นๆ จะพิสูจน์ด้วยลายนิ้วมือหรือดีเอ็นเอ แต่ความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์จะพิสูจน์ด้วยหมายเลขไอพี แอดเดรส (หมายเลขประจำอินเทอร์เน็ตชุดหนึ่ง) ซึ่งไม่สามารถใช้ยืนยันได้ตลอดเวลา เพราะหมายเลขนี้เปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ
จึงน่าขบคิดว่าภาคส่วนอื่นๆ เช่น ภาคประชาสังคม หรือภาคเอกชนเห็นคุณค่าตรงนี้ด้วยหรือไม่ หรือเรายังสนใจแค่การได้ใช้เทคโนโลยีอย่างไม่ลืมหูลืมตาและเอกชนก็สนใจแต่ผลกำไร โดยปราศจากการตระหนักถึงภัยคุกคามตราบเท่าที่ผลกระทบนั้นไม่ได้ตกอยู่กับตน เช่นนั้น สังคมนั้นก็คงไม่อาจตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคง ซึ่งจะส่งผลต่อการเมืองและเศรษฐกิจอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
กระบวนการยุติธรรมจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญ และปรับปรุงคุณภาพของสถาบันยุติธรรมให้เท่าทันต่อสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามพลวัต โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวเร่ง กฎหมายจะทันสมัยได้หากประชาชน ภาคการเมือง ภาคเอกชน ตื่นตัวและเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะตุลาการเป็นเพียงผู้ใช้กฎหมาย ไม่มีอำนาจที่จะลุกขึ้นมาแก้ไขกฎหมายเองได้ ที่สำคัญคือ ปัจจัยข้างต้นไม่ใช่เรื่องที่จะมโนเพ้อฝันเอาได้ว่า มันจะเกิดขึ้นได้ในเร็วๆ นี้ แต่ถึงกระนั้น กระบวนการยุติธรรมก็ยังคงต้องเป็นที่พึ่งพาเพื่อแสวงหาความยุติธรรมให้ได้ต่อไป ทว่าจะได้รับความเป็นธรรมเมื่อใดนั้นก็สุดจะคาดเดาขึ้นอยู่กับว่าทุกภาคส่วนเห็นคุณค่าและแนวโน้มของราคาที่มองไม่เห็นกันหรือไม่และอย่างไร
—————-
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 13 สิงหาคม 2558 ใน “ราคาที่มองไม่เห็นของเทคโนโลยีกับความ (ไม่) พร้อมในการรับมือ