‘พลังงานไฟฟ้าจากขยะ’ อีกหนึ่งพลังงานหมุนเวียนของไทย

ปี2015-07-30

ปริญญารัตน์ เลี้ยงเจริญ
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

“ภาครัฐโดย กระทรวงพลังงานกำหนดเป้าหมายภายในปี 2564 ต้องผลิต ไฟฟ้าด้วยพลังงานขยะได้เท่ากับ 400 เมกะวัตต์ ต่อปี”

การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและการอนุรักษ์พลังงานเป็นแนวทางหนึ่งของยุทธศาสตร์ประเทศที่มุ่งสู่การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กว่าร้อยละ 75 ของความต้องการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์มาจากการนำเข้า ภาครัฐจึงมีแนวทางลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ โดยการอนุรักษ์พลังงาน การพัฒนาและการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนรูปแบบอื่น ซึ่งรวมถึงพลังงานหมุนเวียนด้วยกลไกการสร้างแรงจูงใจหลากหลายมาตรการ ได้แก่

มาตรการสนับสนุนด้านการเงินทั้งการกู้แบบให้เปล่า เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การร่วมทุน มาตรการรับซื้อส่วนเพิ่มไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การปรับปรุงระบบสายส่งและการประชาสัมพันธ์การใช้พลังงานทดแทน และการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในระดับชุมชนอย่างทั่วถึง

มาตรการต่างๆ ส่งผลให้ภาคเอกชนมีความสนใจในการลงทุน ในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น การใช้พลังงานทดแทนของไทยจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2557 ประเทศไทยมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 11.9 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายทั้งหมดของประเทศ (ข้อมูลเบื้องต้น “สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน” website จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 2558)

ขยะเป็นพลังงานหมุนเวียนรูปแบบหนึ่ง ที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อน ในปัจจุบันมีปริมาณขยะจากชุมชนและอุตสาหกรรมจำนวนมากในแต่ละพื้นที่ ปี 2557 มีปริมาณขยะ 26 ล้านตัน เป็นขยะชุมชนร้อยละ 86 และขยะอุตสาหกรรมร้อยละ 14 ของปริมาณขยะทั้งหมด (กรมควบคุมมลพิษ 2557) ปริมาณขยะที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ (ผลิตไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์รีไซเคิล และปุ๋ย) คิดเป็นร้อยละ 23 ของปริมาณขยะทั้งหมด ปริมาณขยะที่ตกค้างคิดเป็นร้อยละ 2 ของปริมาณขยะทั้งหมด และปริมาณขยะที่เก็บขนไปกำจัดในสถานที่กำจัดร้อยละ 75 ของปริมาณขยะทั้งหมด

ซึ่งปริมาณขยะกว่าครึ่งหนึ่งไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้อง ที่กองทิ้งไว้ตามบ่อขยะหรือลักลอบทิ้งตามสถานที่ต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นและเชื้อโรค และบางครั้งมีมลพิษทางอากาศ จากการลุกไหม้กองขยะ และการกำจัดขยะด้วยกระบวนการเผาไหม้แบบธรรมดาที่มีควันลอยสู่บรรยากาศ ทั้งนี้ ขยะเหล่านี้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรือนำไปใช้เป็นพลังงานได้ อันนำไปสู่การแก้ไขขยะล้นเมือง และยังลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย

ภาครัฐโดยกระทรวงพลังงานกำหนดเป้าหมายภายในปี 2564 ต้องผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานขยะได้เท่ากับ 400 เมกะวัตต์ต่อปี และมีโรงงานผลิตไฟฟ้าจากการแปรรูปขยะจำนวน 53 แห่ง ซึ่งในปี 2557 มีการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานขยะเพียง 65.72 เมกะวัตต์ ที่มีโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะประมาณ 12 แห่ง โดยภาครัฐมีแนวทางการส่งเสริมพลังงานขยะ ตามนโยบายการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (waste to energy) และการกำหนดการจัดการขยะเป็นวาระแห่งชาติ

โดยการจัดการขยะตกค้างสะสม และการสร้างรูปแบบการจัดการขยะที่เหมาะสมในบ่อฝังกลบขยะในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อน และเป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้กับชุมชน รวมถึงการส่งเสริมการคัดแยกขยะ และการวางระเบียบมาตรการการบริหารจัดการขยะด้วยการให้ความรู้ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อมุ่งสู่การจัดการขยะอย่างยั่งยืน รวมทั้งมาตรการอุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานขยะที่กำหนดไว้ 5.60 บาทต่อหน่วย

จากมาตรการส่งเสริมต่างๆ ทำให้ภาคเอกชนมีความสนใจในการลงทุนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการจัดการขยะ ตั้งแต่การคัดแยกขยะด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ การใช้เทคโนโลยีการลดความชื้นในขยะที่มีความชื้นสูงและให้ความร้อนน้อย และเทคโนโลยีการแปลงขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมที่ไม่อันตราย[1] เป็นเชื้อเพลิงคุณภาพดี (Refuse Derived Fuel: RDF) ในการนำไปผลิตไฟฟ้า

แม้ว่าภาครัฐมีการส่งเสริมการนำขยะมาเป็นพลังงาน แต่การดำเนินการที่ผ่านมายังห่างไกลจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยในปี 2557 มีการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานขยะเพียง 65.72 เมกะวัตต์ และยังมีอุปสรรคหลายประการ ได้แก่ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ และการจัดขยะเพื่อมาเป็นเชื้อเพลิงต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ประกอบกับกฎระเบียบที่กำหนดว่าขยะเป็นทรัพย์สินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การนำมาใช้ประโยชน์ต้องดำเนินการตามกฎหมายร่วมทุน ที่มีต้นทุนการดำเนินการเพิ่มขึ้น โครงการขยะขนาดใหญ่ที่ร่วมลงทุนระหว่างรัฐ (ท้องถิ่น) กับเอกชนต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ใช้เวลานานและมีกฎระเบียบหลายอย่างที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินการของผู้ประกอบการ ปัญหาการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับปริมาณขยะ ความเหมาะสมของพื้นที่ดำเนินการ ชุมชนสิ่งแวดล้อม ความเหมาะสมของเทคโนโลยี ความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ ในปี 2556 มีการปรับปรุงกฎระเบียบ และมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมในการจัดการทำให้การดำเนินการมีความคล่องตัวมากขึ้น เปิดโอกาสให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพดำเนินการพัฒนาพลังงานขยะเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า หากสามารถดำเนินการได้จะทำให้เกิดประโยชน์ร่วมทั้งการลดปัญหามลพิษจากกองขยะชุมชนและการนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตเป็นไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ

แนวทางการจัดการขยะและการนำขยะมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในอนาคต ต้องสร้างรูปแบบการจัดการขยะอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ด้วยการรณรงค์ให้ความรู้ ปลูกจิตสำนึก สร้างความตระหนักให้ประชาชนในระดับครัวเรือน และชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการลดและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดต้นทุนในการคัดแยกขยะ เตรียมการก่อนนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าและความร้อน การจัดการขยะแบบศูนย์รวมในการร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการใช้เทคโนโลยีการแปรรูปขยะที่เหมาะสม และสอดคล้องกับปริมาณขยะ รวมถึงการวางระเบียบการบริหารจัดการขยะ เช่น การออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ให้มีการคัดแยกขยะมูลฝอย และการส่งเสริมการนำขยะที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ โดยการจัดการขยะชุมชนในระดับพื้นที่ที่ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ ปริมาณและคุณภาพของขยะ และการจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

—————-

[1] ขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมที่ไม่อันตราย ครอบคลุมถึงขยะอินทรีย์ที่ผ่านเทคโนโลยี ลดความชื้น กระดาษ พลาสติก ไม้ ผ้า พรม ยาง ซึ่งไม่รวมขยะที่ไม่สามารถเผาไหม้ได้ ขยะอันตราย และขยะรีไซเคิล เช่น โลหะ แก้ว เหล็ก อลูมิเนียม กรวด และหิน

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 30 กรกฎาคม 2558 ใน “’พลังงานไฟฟ้าจากขยะ’ อีกหนึ่งพลังงานหมุนเวียนของไทย”