โครงการศึกษาผลกระทบของการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาค (RCEP) และกลยุทธ์การเจรจาที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย

ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้พิจารณาการขยายการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในลักษณะการจัดทําความตกลงการค้าเสรีในระดับภูมิภาคหรือจัดทําความตกลงการค้าเสรีกับกลุ่มคู่เจรจา (ASEAN++FTA) ซึ่งจะส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายหลัก 1 ใน 4 ประการของการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือ การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก ปัจจุบันอาเซียนได้ดําเนินการจัดทําเขตการค้าเสรีและความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับประเทศนอกกลุ่มแล้ว 6 ประเทศ รวม 5 ความตกลงฯ คือ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย

การประชุมผู้นําอาเซียนครั้งที่ 19 ได้รับรองเอกสาร “ASEAN Framework for Regional Comprehensive Economic Partnership” ซึ่งวางกรอบการดําเนินงานและหลักการพื้นฐานของอาเซียนสําหรับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ใหญ่ขึ้นด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ครอบคลุม (Regional Comprehensive Economic Partnership ‘RCEP’) ซึ่งจะครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านการเข้าถึงตลาด (การลดภาษีและอุปสรรคทางการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน) การอํานวยความสะดวกทางการค้าและภาคธุรกิจ การเยียวยา และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เป็นต้น นอกจากนั้น RCEP จะเป็นความตกลงในภูมิภาคที่มีมาตรฐานสูงและเพิ่มพูนผลประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีรายความตกลงของอาเซียนที่ดําเนินการอยู่กับประเทศในกลุ่มบวกหก มีความร่วมมือทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง รวมถึงเปิดกว้างให้มีการพิจารณาประเด็นใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวทางภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เรื่องนโยบายการแข่งขัน ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

ประเทศไทยจึงต้องศึกษาผลประโยชน์และผลกระทบของการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาค (RCEP) และกลยุทธ์การเจรจาที่เหมาะสม รวมไปถึงประเด็นการค้าใหม่ๆ เพื่อประกอบการพิจารณา กำหนดท่าที กลยุทธ์ในการเจรจา การเตรียมความพร้อมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และมาตรการรองรับผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการศึกษาผลกระทบของการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ “RCEP”) และกลยุทธ์การเจรจาที่เหมาะสมสำหรับไทย เสนอต่อ สำนักการค้าบริการและการลงทุน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ