จัดการน้ำ ทุ่มเงินล้านล้าน อย่างเดียวไม่ได้ ดร.นิพนธ์ แนะต้องจัดการที่ดิน-กระจายอำนาจ 

ปี2015-10-14

“เราไม่จำเป็นต้องเอาเงินล้านล้านบาทเข้ามาจัดการปัญหา แต่ที่จำเป็นกว่าคือการเอาผู้ใช้น้ำนับล้านคนมาคุยกัน และเน้นไปที่การกระจายอำนาจสู่ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ให้ผู้ใช้น้ำมีส่วนร่วมในการจัดสรรน้ำ ให้มีการจัดการเรื่องที่ดิน เพราะถ้าไม่พูดเรื่องการจัดการที่ดิน ก็ไม่มีทางแก้น้ำท่วมได้” 

10-14-2015 8-58-15 PM
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ

เมื่อเร็วๆนี้ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร หัวหน้าทีมวิจัยของ TDRI  ได้กล่าวแถลง สรุปผลการศึกษาการจัดการน้ำแบบไม่ใช้สิ่งก่อสร้างในลุ่มเจ้าพระยา ในเวทีประชุมสัมมนา “วิกฤติน้ำท่วม-น้ำแล้ง: พลิกโฉมการบริหารจัดการน้ำของไทย”ที่จัดขึ้นโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับ International Development Research Centre (IDRC) ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเชอราตัน รีสอร์ทแอนด์สปา หัวหิน จ.เพชรบุรี

รศ.ดร.นิพนธ์ ชี้ประเด็นปัญหาของน้ำท่วมน้ำแล้ง ว่า วิกฤติภัยแล้งและน้ำท่วมไม่ได้เกิดจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากความบกพร่องของนโยบายและการจัดการน้ำ รวมทั้งปัญหาการใช้ที่ดินที่ขาดการควบคุม เนื่องจากแนวทางการแก้ปัญหาของภาครัฐยังคงเน้นสิ่งก่อสร้างเป็นหลัก

ดร.นิพนธ์ ระบุว่า งานวิจัยของ TDRI ต้องการเติมช่องว่างด้านนโยบายการจัดการสิ่งที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง โดยโครงการวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจาก IDRC ซึ่งโครงการวิจัยประกอบด้วยโครงการย่อย 4 ด้าน คือการจัดการน้ำชลประทานและน้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยา การวางแผนและการควบคุมการใช้ที่ดินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วม การปรับตัวของเกษตรกรครัวเรือนในชุมชนชานเมือง แลอุตสาหกรรมเพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และการออกแบบสถาบันการจัดการน้ำที่เหมาะสม 

การวิจัยในครั้งนี้อาศัยกรอบแนวคิดทางวิชาการที่หลากหลาย เช่น แนวคิดการสร้างกลุ่มจัดการทรัพยากรสาธารณะ การจัดการด้านสถาบัน การปรับตัวของเกษตรกร การสร้างแบบจำลองด้านภูมิอากาศ  ทฤษฎีเกม เป็นต้น ซึ่งข้อมูลที่ได้มาทั้งหมด ก็มาจากการออกแบบสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้อง และจากการใช้เกมส์สถานการณ์จำลอง การสัมมนาเชิงปฎิบัติและการจัดเวทีประชาเสวนา

นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ สรุปผลการวิจัยการจัดการน้ำแบบไม่ใช้สิ่งก่อสร้างในลุ่มเจ้าพระยา 5 ด้านดังนี้

1 ผลวิจัยด้านการจัดการน้ำชลประทาน พบจุดอ่อนในการจัดการน้ำคือเป็นการจัดการน้ำแบบรวมศูนย์  รัฐไม่ให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม ปัญหาสำคัญที่สุดคือ โครงสร้างการจัดการน้ำปัจจุบันมีแต่คณะกรรมการลุ่มน้ำ ในระดับชาติกับกลุ่มผู้ใช้น้ำในระดับชุมชน เรายังขาดข้อต่อสำคัญที่จะเชื่อมคณะกรรมการลุ่มน้ำกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ (nested enterprise)

“หมายความว่าหากรัฐต้องการกระจายอำนาจการจัดการน้ำอย่างแท้จริง การสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มผู้ใช้น้ำ และการสนับสนุนให้กลุ่มผู้ใช้น้ำ (JMC) จากจังหวัดที่มีปัญหาร่วมกัน หันมารวมกลุ่มบริหารจัดการน้ำด้วยตนเอง จะทำให้ความพยายามตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำประสบความสำเร็จ” 

2 ผลวิจัยด้านการจัดการน้ำท่วม การวิเคราะห์เรื่องการจัดการน้ำท่วมในลุ่มเจ้าพระยาพบปัญหาสำคัญ การจัดการด้านลงทุนโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ การขาดการศึกษาความเป็นไปได้เพื่อคัดเลือกโครงการลงทุนที่ไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรม ไม่มีการจัดทำ EIA ขาดระบบชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ  รวมถึงความผิดพลาดในการจัดการน้ำท่วมปี 2554  ปัญหาการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประมาน การแทรกแซงทางการเมือง รัฐไม่มีการเตือนภัยล่วงหน้า แต่กลับบอกว่าเอาอยู่ 

3 ผลการศึกษาการจัดการใช้ที่ดิน จุดอ่อนสำคัญที่สุดในการป้องกันอุทกภัยในระยะยาว คือ การขาดการวางแผนและควบคุมการใช้ที่ดิน เวลาถามเรื่องการวางแผนและการควบคุมการใช้ที่ดิน ประชาชนและภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เห็นความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่หลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 พบว่า รัฐบาลทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นไม่ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางและกติกาการวางแผนและการควบคุมการใช้ที่ดินเลย นโยบายและแผนโครงการต่างๆ ยังเน้นสิ่งก่อสร้าง ถึงแม้ชุมชนจะมีการรวมกลุ่มเพื่อรับมือกับปัญหาน้ำท่วมอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นกิจกรรมเฉพาะหน้าเท่านั้น 

รศ.ดร.นิพนธ์ ยกตัวอย่างเหตุการณ์หลังจากปี 2554 ว่า ครัวเรือนมีการปรับตัวหลังน้ำท่วมแต่ในระดับชุมชนและเมืองแทบไม่มีการปรับตัวใดๆ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นมีขีดความสามารถในการจัดการเชิงระบบ และขาดศักยภาพทั้งด้านบุคลากรและงบประมาณ ซึ่งในระดับประเทศ ระดับภาคและท้องถิ่น ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องกฎกติกาดำเนินการ กฏเกณฑ์ที่เกี่ยวกับทางเลือกร่วมกันของสังคม (collective choice rules) ร่วมไปถึงกฏหมายระดับพระราชบัญญัติขึ้นไป 

4 ผลการศึกษาด้านการปรับตัวของเกษตรกร การศึกษาพบว่ามีโอกาสที่จะเกิดภาวะภูมิอากาศแปรปรวนผิดปกติมากขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผลทางการเกษตรเช่น ข้าวโพด อ้อยและข้าว เกษตรกรที่ปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศสามารถลดความเสียหายต่อผลผลิตได้ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่ได้ปรับตัว เพราะอุปสรรคบางประการ เช่นขาดข้อมูลด้านภูมิอากาศ  และความรู้เรื่องวิธีปรับตัว เป็นต้น 

5 ผลการศึกษาการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคส่วนที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมปี 2554 มากที่สุด หลังจากน้ำท่วมภาคอุตสาหกรรมจึงมีการปรับตัว เพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากน้ำท่วมในอนาคตทั้งที่ทำโดยรัฐบาลและในส่วนของโรงงานเอง  อย่างไรก็ตามแม้จะมีการปรับตัวแต่ก็พบว่ายังมีจุดอ่อนหลายอย่าง โดยเฉพาะการทำประกันภัยต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมชะลอตัว 

“ในยามปกติไทยใช้การจัดการน้ำแบบรวมศูนย์ แต่กลับกันในยามวิกฤติ ยกตัวอย่างปี 2554 กลับเริ่มด้วยการจัดการแบบกระจายอำนาจ ทั้งๆ ที่ต่างประเทศจะใช้การจัดการน้ำแบบกระจายอำนาจในภาวะปกติ และใช้แบบรวมศูนย์ในภาวะฉุกเฉิน หรือวิกฤติเท่านั้น”

ดร.นิพนธ์ กล่าวสรุปในช่วงท้ายว่า เรายังขาดระบบการจัดการน้ำท่วมที่เน้นการป้องกันในลักษณะการประเมินความเสี่ยง และการพยากรณ์อุทกภัย รวมถึงขาดกฏหมายและขาดองค์กรระดับประเทศที่รับผิดชอบการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การจัดการน้ำอย่างต่อเนื่องและยังขาดข้อต่อสำคัญ กลไกที่เชื่อมองค์กรผู้ใช้น้ำในท้องถิ่นกับคณะกรรมการลุ่มน้ำ และเพื่อเป็นการพลิกโฉมการบริหารจัดการน้ำของไทย รัฐอาจจะต้องกลับมาทบทวนว่า จะบริหารจัดการอย่างไร

“เราไม่จำเป็นต้องเอาเงินล้านล้านบาทเข้ามาจัดการปัญหา แต่ที่จำเป็นกว่าคือการเอาผู้ใช้น้ำนับล้านคนมาคุยกัน และเน้นไปที่การกระจายอำนาจสู่ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ให้ผู้ใช้น้ำมีส่วนร่วมในการจัดสรรน้ำ ให้มีการจัดการเรื่องที่ดิน เพราะถ้าไม่พูดเรื่องการจัดการที่ดิน ก็ไม่มีทางแก้น้ำท่วมได้” 

—————-

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน สำนักข่าวอิศรา วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม 2558 ในชื่อ นิพนธ์ พัวพงศกร:ทุ่มเงินสู้บริหารจัดการน้ำผ่านคนใช้น้ำกว่าล้านไม่ได้