สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ประเทศไทยกำลังเผชิญสภาวะสุดโต่งของสภาพภูมิอากาศ ผลศึกษาบ่งชี้ว่ามีโอกาสเกิดภัย “น้ำท่วมบ่อย และแล้งนาน” ขณะที่ผลศึกษาชี้ลุ่มเจ้าพระยาเสี่ยงเจอน้ำท่วมใหญ่เร็วขึ้นกว่าในอดีต ตอกย้ำโจทย์ท้าทายการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการภายใต้ความเสี่ยงที่ ต้องสร้างความเข้าใจและนำไปสู่การปรับตัว
ดร.อัศมน ลิ่มสกุล นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม และนักวิจัย ในโครงการศึกษา การปฏิรูปการจัดการน้ำของประเทศไทย โดยความร่วมมือของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และ International Development Research Centre (IDRC) เปิดเผยผลการศึกษา สภาวะความรุนแรงภูมิอากาศและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย โดยระบุว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่าสภาวะสุดโต่งทางสภาพภูมิอากาศ เห็นได้จากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไป การเกิดพายุและปริมาณฝนที่ตก เหตุการณ์น้ำท่วม น้ำแล้ง ซึ่งมีความรุนแรง สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในกิจกรรมภาคเกษตรของไทย ดังเช่น ปัญหาน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2554 และปัญหาภัยแล้งในปีนี้ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมีลักษณะสอดคล้องกับหลายประเทศทั่วโลกเผชิญเช่นกัน
โดยภาพรวม ที่ผ่านมามีผลการศึกษาจำนวนมากบ่งชี้ว่า สภาวะความรุนแรงภูมิอากาศหลายเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป เป็นผลมาจากความแปรปรวนตามธรรมชาติของภูมิอากาศรวมถึงภาวะก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ส่งผลต่ออุณหภูมิโลกร้อนขึ้น และเป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญที่ส่งผลต่อความถี่ ความรุนแรง ระยะเวลาและช่วงเวลาการเกิดสภาวะความรุนแรงภูมิอากาศในปัจจุบันและอนาคต ขึ้นอยู่กับความตระหนักและทิศทางการพัฒนาของทั้งโลกว่าจะเป็นไปในทิศทางที่ลดหรือเพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ในกรณีของประเทศไทย ผลการศึกษาพบว่า ในรอบ 40-50 ปีที่ผ่านมา สภาวะความรุนแรงภูมิอากาศในประเทศไทยหลายเหตุการณ์ มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับแนวโน้มการร้อนของประเทศไทย โดยเห็นได้จาก อุณหภูมิสูงสุด อุณหภูมิเฉลี่ยและอุณหภูมิต่ำสุด กล่าวคือ การมีจำนวนวันและคืนที่หนาวหรือร้อนมากขึ้น ซึ่งในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศา และในอนาคตประมาณกลางศตวรรษที่ 21 อุณหภูมิประเทศไทยอาจเพิ่มขึ้น 1-2 องศา
ขณะที่ด้านปริมาณฝนจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงพื้นที่ เช่น ภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนมากขึ้น ขณะที่ภาคตะวันออกฝนจะลดลง ภาคใต้ฝั่งอาวไทยจะมีฝนมากขึ้น ส่วนฝั่งอันดามันปริมาณฝนจะลดลง เป็นต้น ส่วนด้านความรุนแรงของฝน การศึกษาพบว่า มีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างซับซ้อน แต่อาจสรุปได้ว่า ความถี่ของเหตุการณ์ฝนในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยลดลง แต่ความแรงของฝนและความเข้ม(ปริมาณ)ของฝนจากเหตุการณ์ฝนตกหนักจะเพิ่มขึ้น ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำเจ้าพระยา กำลังประสบกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะความรุนแรงของฝนดังกล่าว
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบและความเสียหายจากเหตุการณ์สภาวะสุดโต่งของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในลุ่มเจ้าพระยาเมื่อปี พ.ศ.2554 เป็นปีที่ประเทศไทยมีสภาวะความรุนแรงของฝนสูงสุดในรอบ 57 ปี และนอกจากความรุนแรงในรูปของภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น ยังส่งผลต่อความถี่การเกิดและขนาดของสภาวะความรุนแรงในแง่น้ำท่วมและน้ำแล้งในประเทศไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมา และที่สำคัญการศึกษาพบด้วยว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยายังคงมีความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม และมีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่เช่นในปี 2538 เร็วขึ้นกว่าในอดีต
ดร.อัศมน กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ เมื่อมีความชัดเจนว่าในอนาคตประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคนี้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงภาวะน้ำท่วม น้ำแล้ง ที่มีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่คนไทยควรรับรู้และตั้งคำถามคือ จะรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างไรในระยะยาว ซึ่งการศึกษาต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายและการดำเนินงานในพื้นที่ในการปรับตัวต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางภูมิอากาศ เป็นโจทย์ท้าทายการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการภายใต้ความเสี่ยงที่ต้องสร้างความเข้าใจและนำไปสู่การปรับตัวได้จริง เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน