tdri logo
tdri logo
24 ตุลาคม 2015
Read in Minutes

Views

ปฏิรูป (หลักสูตร) นักกฎหมายไทยรับความท้าทายอนาคต

พนาทิตย์ เลิศประเสริฐกุล
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

วิชาชีพกฎหมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสังคมไทย เป็นอาชีพที่มีเกียรติ ได้รับการนับหน้าถือตาจากคนในสังคม และในยามบ้านเมืองอยู่ในห้วงคับขัน นักกฎหมายก็ถูกคาดหวัง ว่าจะเป็นที่พึ่งหาทางออกให้แก่สังคมได้

การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสิ้นปีนี้เป็นต้นไป นักกฎหมายจะมีบทบาทที่สำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะกฎเกณฑ์ที่อิงกับในรูปของกฎหมายหรือข้อบังคับต่างๆ ภายใต้ประชาคมเดียวกันนี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพึ่งพิงนักกฎหมาย ในการบังคับใช้และพัฒนากฎเกณฑ์ อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาคือ นักกฎหมายไทยในปัจจุบันพร้อมที่จะรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นหรือไม่เพียงใด

เพื่อให้นักกฎหมายเป็นที่พึ่งพิงของประชาชนได้อย่างสมบูรณ์ นักกฎหมายจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจบริบทสภาพแวดล้อมต่างๆ เป็นอย่างดี ซึ่งทั้งหมดต้องเริ่มต้นจากการศึกษาในมหาวิทยาลัย แต่หากพิจารณาความเป็นจริงจะเห็นว่า วิธีการศึกษานิติศาสตร์ของประเทศไทยยังไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก รูปแบบการเรียนการสอนยังมีลักษณะท่องจำตัวบท คำพิพากษาฎีกา โดยมีเป้าหมายเพื่อการสอบเท่านั้น

นักศึกษานิติศาสตร์ของไทยส่วนใหญ่ จึงขาดทักษะคิดวิเคราะห์ถึงความเป็นมาของกฎหมาย ไม่เข้าใจบริบทแวดล้อม ทั้งในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม อาจกล่าวได้ว่านิติศาสตร์ไทยเป็นสาขาวิชาที่มีการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่น้อยที่สุดสาขาหนึ่ง ซึ่งนักกฎหมายไทยส่วนใหญ่ก็ได้มองเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ เพราะความต้องการส่วนใหญ่ของนักศึกษานิติศาสตร์ อยู่ที่การก้าวเข้าสู่วิชาชีพนักกฎหมาย อย่างเช่นทนายความ อัยการ ผู้พิพากษา ฯลฯ ซึ่งใช้ประสบการณ์ความรู้ในเชิงปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่ หรือเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่อาจยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยเท่าใดนัก ขอเพียงเข้าใจคำอธิบายตัวบทกฎหมาย และจดจำคำพิพากษาฎีกาได้ ก็เพียงพอแล้ว

เนื้อหาการเรียนการสอนกฎหมายก็ยังซ้ำซ้อน ผู้เรียนต้องเรียนซ้ำไปซ้ำมา ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี เนติบัณฑิต สอบตั๋วทนาย สอบอัยการ หรือแม้กระทั่งสอบเข้าเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา เนื้อหาในวิชาสอบก็ยังคงวนเวียนอยู่แต่กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือที่เรียกรวมกันว่า “กฎหมาย 4 ขา” เมื่อสอบผ่านเป็นเนติบัณฑิต สำหรับคนที่ต้องการจะสอบเข้าเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาก็ต้องท่องจำแนวฎีกา โดยทั้งหมดเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วในอดีต ซึ่งคงจะเหมาะสม หากอยู่ภายใต้ข้อสมมติฐานที่ว่า สภาวการณ์สังคมไทยและสังคมโลกในปัจจุบัน ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง สภาวการณ์ทุกอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และมีพลวัต ทั้งสภาพการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะในการปฏิรูปการเรียนการสอนวิชากฎหมายว่า การปฏิรูปจะต้องกระทำโดยไม่ชักช้า แต่ควรตั้งเป้าของการเปลี่ยนแปลงในระยะปานกลาง (3-5 ปี)เพราะจะต้องใช้เวลาในการสร้างบุคลากรที่จะเป็นอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัย ที่มีความรู้ความสามารถพอที่จะสอนในลักษณะแบบที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ได้ การปฏิรูปควรเป็นนโยบายระดับประเทศ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และเนติบัณฑิตยสภา ที่ต้องกำหนดหลักสูตรระดับปริญญาตรีและประกาศนียบัตรของเนติบัณฑิตยสภาเสียใหม่ เพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเน้นที่การฝึกทักษะในการคิดสร้างสรรค์

นอกจากทักษะการคิดหาเหตุผลที่จำเป็นสำหรับการเรียนกฎหมายแล้ว ทักษะอื่นๆ เช่น ภาษาต่างประเทศ การคิดเชิงตรรกศาสตร์ การคำนวณ การออกแบบสร้างสรรค์ การเจรจาต่อรอง ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการมีความใฝ่รู้ในสิ่งใหม่ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นทักษะที่เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นของนักกฎหมายในอีก 10 ปีข้างหน้าทั้งสิ้น

หลักสูตรของการศึกษานิติศาสตร์ในระดับปริญญาตรี ควรมีการเปลี่ยนแปลงบางกระบวนวิชา ให้สามารถเรียนรวมกันเป็นหนึ่งวิชาได้ โดยไม่ต้องแยกเรียนเป็นหลายๆ วิชาดังเช่นที่เป็นอยู่ หลักสูตรของบางมหาวิทยาลัยมุ่งเน้นการเรียนวิชา “กฎหมาย 4 ขา” ซึ่งแม้ว่าจะมีความสำคัญ แต่ในบางครั้งการจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ลำพังแต่จะใช้กฎหมาย 4 ขา นี้เข้ามาโดยยึดติดกับข้อความในตัวบทกฎหมายมากจนเกินไป โดยปราศจากการใช้ดุลพินิจ หรือมุมมองในสาขาอื่นๆ ประกอบด้วย ก็อาจทำให้การใช้กฎหมายอย่างเหมาะสม และการอำนวยความยุติธรรมเกิดขึ้นได้ยาก

การศึกษานิติศาสตร์ในระดับปริญญาตรี จึงควรเป็นการเรียนแบบกว้าง โดยเน้นการสอนกฎหมายควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงสังคมในบริบทต่างๆ หรือสอนให้เข้าใจถึงที่มาของกฎหมายแต่ละฉบับ รวมถึงการสอนให้นักศึกษาคิดในเชิงมหภาคว่า กฎหมายที่ออกมาใหม่นี้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมในภาพรวมของประเทศอย่างไร เช่น การสอนกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในส่วนที่เกี่ยวกับสัญญา ควรกระทำแบบภาพรวม โดยไม่ต้องท่องจำตัวบท แต่ให้วิเคราะห์หรือเรียนควบคู่ไปกับหลักในการดำเนินธุรกิจ หรือการสอนกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนที่เกี่ยวกับครอบครัว อาจสอนควบคู่กับการศึกษาประเด็นทางสังคมในระดับครอบครัว กฎหมายอาญาก็อาจสามารถสอนควบคู่กับการศึกษาแนวโน้มอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กฎหมายระหว่างประเทศสอนควบคู่กับพลวัตที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก ทั้งในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ควรให้มีการเรียนวิชานอกคณะแบบบังคับเรียน เช่น เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา ภาษาศาสตร์ บัญชี และให้มีวิชาภาษาอังกฤษสำหรับนักกฎหมาย (English for lawyers) เป็นวิชาบังคับ เพื่อให้นักศึกษากฎหมายมีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น และให้เหมือนกันในทุกๆ มหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนยังคงเห็นว่า การศึกษากฎหมายแบบเน้นการจำตัวบทยังมีความจำเป็นอยู่ แต่ควรจะให้อยู่ในระดับที่เกินกว่าปริญญาตรีไปแล้ว หรือระดับเฉพาะทาง เช่น การสอบเนติบัณฑิต การสอบตั๋วทนาย การสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา ซึ่งเป็นการสอบเพื่อเข้าสู่วิชาชีพนักกฎหมาย ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจกฎหมายอย่างลึกซึ้ง ในการที่จะนำเอากฎหมายมาใช้บริการสังคมและประเทศชาติ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด