‘ทีดีอาร์ไอ’ แนะตั้งพีพีพีนวัตกรรมพัฒนาศก. ‘พ้นกับดัก’รายได้ปานกลาง

ปี2015-11-24

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI) ปาฐกถาพิเศษ 100 ปี ป๋วย อึ้งภากรณ์ ครั้งที่ 8 ภายใต้หัวข้อ “รัฐไทยกับการพัฒนาเศรษฐกิจ” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดร.สมเกียรติ ระบุว่า อัตราการเติบโต หรือ Growth เป็นเงื่อนไขที่จำเป็น ในการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่การเติบโต เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการพัฒนา เศรษฐกิจ ยังมีอีกหลายปัจจัยที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องนวัตกรรม จะต้องมีการลงทุน ด้านการวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) ซึ่งไทยยังมีการลงทุนด้านวิจัย และพัฒนา น้อยมาก เพียง 4 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือ 0.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)

แม้ว่ารัฐบาลจะตั้งเป้าเพิ่มการลงทุนวิจัยและพัฒนา โดยตั้งเป้าเพิ่มการลงทุนเป็น 1% ของจีดีพี ในปี 2559 และเพิ่มการลงทุนเป็น2%ของจีดีพีภายในปี 2564 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่12 พร้อมกำหนดสัดส่วนการลงทุน 70% เป็นการลงทุนโดยเอกชน ส่วนอีก 30% เป็นการลงทุนโดยรัฐบาล

:ตั้งเป้าผู้มีรายได้สูงใน10ปี
ส่วนเป้าหมายที่ตั้งไว้ในแผน 12 หลายส่วน เป็นการตั้งเป้าหมาย ไม่ได้มีแผนงานรองรับที่ชัดเจน หรือไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทั้งการตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นประเทศผู้มี รายได้สูงใน 10 ปี ตั้งเป้าการเติบโตของเศรษฐกิจ 5% ต่อปี ภาคบริการโต 7% ต่อปี ผลิตภาพ การผลิตโต 2.5% ต่อปี รวมถึงเป้าหมายการลงทุนวิจัยและพัฒนา 2% ของจีดีพี ส่วนนี้มาตรการที่ระบุไว้ในแผนบอกเพียงว่า ปฏิรูปแรงจูงใจด้านการเงิน การคลัง แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค ซึ่งยังไม่เห็นมาตรการที่ชัดเจน ที่สามารถรองรับเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้

:เพิ่มงบลงทุนภาครัฐมีข้อจำกัด
ทั้งนี้ทีมวิจัยของทีดีอาร์ไอได้ศึกษา พบว่า หากรัฐบาลยังใช้วิธีการลงทุนในแบบเดิม หรือลงทุนตามแนวโน้มการลงทุน ที่ผ่านมา เป้าหมายการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา 2% ของจีดีพีภายในปี 2564 คงเป็นไปไม่ได้ กว่าจะได้การลงทุน 2% ของจีดีพีใน ปี 2590 ช้ากว่าที่แผนวางไว้ถึง 26 ปี

ขณะเดียวกันการเพิ่มงบลงทุนของ ภาครัฐก็มีข้อจำกัด จากการที่ไทยกำลังเข้าสังคมผู้สูงอายุในอีก 10 ปีหน้า หรือภายในปี 2568 ถือว่าไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ รัฐบาลจึงต้องใช้ งบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุจำนวนมาก ทำให้เราเหลืองบลงทุนต่างๆ ไม่มากมื่อเทียบกับความจำเป็นที่ต้องลงทุนนอกจากนี้ข้อจำกัดอีกอย่างคือ การทำนโยบายเรื่องวิจัยและพัฒนา รวมถึงการยกระดับการผลิต เป็นนโยบายที่เห็นผลใน ระยะยาว จึงไม่ค่อยมีรัฐบาลไหนสนใจหรือต้องการทำ เพราะทำแล้วอาจจะไม่เห็นผลในช่วงการทำงานของรัฐบาลชุดตัวเอง โดยเฉพาะการยกระดับการผลิตกว่าจะเห็นผลใช้เวลาเป็น 10 ปี

11-26-2015 7-50-24 AM
ที่มารูปภาพ: กรุงเทพธุรกิจ

:หมดสิทธิ์หวังเอกชนผู้นำลงทุน
ขณะที่รัฐบาลไทยมีอายุการทำงานสั้น สูงสุดไม่เกิน 4 ปี ต้องเลือกตั้งใหม่ แต่อายุเฉลี่ยจริงเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีอายุการทำงานแค่ปีครึ่ง ซึ่งยึดตามตัวนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมืองอยากได้คะแนนนิยม ก็ต้องทำในสิ่งที่เห็นผลในอายุการทำงานของตัวเอง ไม่มีใครอยากลงทุน ในสิ่งที่ไม่เห็นผลในรัฐบาลของตนเอง การเมืองไม่อยากลงทุนในสิ่งที่ไม่เห็นผลในเร็ววัน

นอกจากนี้หากจะหวังให้ภาคเอกชนเป็นผู้นำในการลงทุนหลัก หรือมีสัดส่วนการลงทุน 70% ของการลงทุนด้านอาร์แอนด์ดีทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากผลของการลงทุนวิจัยและพัฒนาเป็นประโยชน์สาธารณะ ผู้ที่ไม่ลงทุนก็มีสิทธิได้ประโยชน์ ภาคเอกชนจึงไม่ค่อยลงทุนมากเท่าที่ควร วิธีที่เป็นไปได้คือ รัฐสมทบการลงทุนกับภาคเอกชน

:ยกระดับการผลิตของสังคม
“เราต้องสร้าง ความต้องการยกระดับความสามารถทางการผลิตของสังคม เพราะการยกระดับการผลิต คือหัวใจของการพัฒนา ซึ่งการยกระดับการผลิตใช้เวลานานมาก แต่อายุรัฐบาลสั้น จึงมีความจำเป็นต้องสร้างความต้องการของภาคธุรกิจที่มีความต่อเนื่อง แม้ว่ารัฐบาลจะไม่มีความต่อเนื่อง มีอายุการทำงานสั้น แต่หากทุกรัฐบาลเห็นว่า ความต้องการของภาคธุรกิจมีความต้องการชัดเจนต่อเนื่อง สุดท้ายรัฐบาลก็ต้องปรับนโยบายมาตาม ความต้องการนั้น”

:ผนึกธุรกิจสร้างนวัตกรรม
“ข้อเสนอคือ ควรจะมีการรวมตัวกันของภาคธุรกิจในด้านการสร้างนวัตกรรม สร้างหุ้นส่วนเพื่อพัฒนานวัตกรรม หรือ Partnership for Innovation โดยรวมเอาบริษัทขนาดใหญ่ที่ทำวิจัยและพัฒนา เอสเอ็มอี บริษัทที่เริ่มต้นธุรกิจ (Start up company) ที่ต้องการงานวิจัยพัฒนา ต้องการแรงงานระดับสูง พร้อมให้ฝ่ายวิชาการไปร่วมด้วย รวมตัวกันเป็นหุ้นส่วนเพื่อการนวัตกรรม

“โมเดลนี้จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายด้านการยกระดับการพัฒนา เป็น Policy forum ขึ้นมา เพราะมีการตกผลึกแนวความคิด ความต้องการของกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องชัดเจน เวลาเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯไม่ว่าจะเป็นแผน 12 หรือ 13 รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ของภาครัฐก็จะออกมาในแนวทางนี้”

:จี้ธุรกิจร่วมยกระดับการผลิต
นอกจากนี้ภาคธุรกิจควรจะมีส่วนร่วมในเรื่องที่ธุรกิจมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องโดยตรงมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการยกระดับการผลิต เช่นการฝึกทักษะแรงงาน ควรก็จะยึดโมเดลต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่นเยอรมนี ที่มีการทำอาชีวะศึกษาแบบทวิภาคี โดยทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหอการค้าก็จะเป็นตัวหลักในการทำอาชีวะศึกษาแบบทวิภาคีให้เกิดขึ้น แล้วให้ภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน หรือส่วนเสริม ไม่ใช่รอภาครัฐเป็นผู้นำ เพราะขีดความสามารถของภาครัฐนั้นตกต่ำมากเกินไปที่จะเป็นผู้นำได้ ภาคธุรกิจจึงต้องเป็นผู้นำในการสร้างสินค้าสาธารณะ ซึ่งธุรกิจเองได้ประโยชน์ด้วย

:ภาคธุรกิจควรเปลี่ยนบทบาท
“ภาคธุรกิจต้องเปลี่ยนบทบาท จากการเป็นล็อบบี้กรุ๊ป กลุ่มผลประโยชน์ที่กดดันเอาผลประโยชน์เฉพาะหน้า เช่น การต่ออายุแอลทีเอฟ อาร์เอ็มเอฟ ออกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ให้ลดราคาส่วนนั้น ส่วนนี้ แต่ควรรวมตัวกันเพื่อทำให้รัฐยกระดับความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว นี่คือสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น รวมตัวกันเป็นหุ้นส่วนเพื่อนวัตกรรม และรับบทบาทหน้าที่บางอย่างของรัฐ ซึ่งรัฐหมดความสามารถที่จะทำได้ ให้รัฐไปยืนแถว 2 ในการทำ”

:’พีพีพี’ไม่ควรถูกจำกัดสิทธิ
โมเดลแบบนี้ขอเรียกว่า Public Private Partnership หรือ PPP (พีพีพี) เพื่อการพัฒนาประเทศ โดยโครงการพีพีพีไม่ควร จะถูกจำกัดเฉพาะการนำมาใช้กับโมเดล การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน แต่ควรไปเร่งให้ความสำคัญนวัตกรรม และการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยให้ภาคเอกชนรวมตัวกันเป็นแกนหลัก แล้วรัฐให้การสนับสนุน ทั้งการใส่เงินลงทุน หรือการให้สิทธิประโยชน์

อีกแนวทางคือการทำให้นวัตกรรม กลายเป็นกระแสหลักในการพัฒนาประเทศ ให้ได้ เพราะนวัตกรรมสำคัญที่สุดในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เป็นส่วนที่จะทำให้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับ ที่ 12 ที่ตั้งเป้าหมายไว้สูงจนเกินไป เข้าใกล้ เป้าหมายมากขึ้น และเป็นส่วสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวข้าม หรือพ้นกับดักการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศพัฒนาได้


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน แนวหน้า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ในชื่อ ‘ทีดีอาร์ไอ’แนะตั้งพีพีพีนวัตกรรมพัฒนาศก.’พ้นกับดัก’รายได้ปานกลาง