ทบทวนกฎหมายปรับพื้นฐาน ลดทุจริตคอร์รัปชั่น

ปี2016-01-11

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์
ธิปไตร แสละวงศ์

เมื่อปี 2552 หรือ 7 ปีก่อนหน้านี้ รายงาน “Ease of Doing Business” ของธนาคารโลก ได้จัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มี ‘ความสะดวกในการทำธุรกิจ’ เป็นอันดับ 13 ของโลก จากประเทศทั้งหมด 181 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 4 ในเอเชีย เป็นรองจากประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง ตั้งแต่นั้นมาอันดับของประเทศไทยก็ลดลงมาเรื่อยๆ โดยในรายงานล่าสุดหรือฉบับปี 2558 ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 49 ของโลกตามหลังประเทศมาเลเซีย (อันดับ 18) ไต้หวัน (อันดับ 11) และเกาหลีใต้ (อันดับ 4)

แม้ว่าจะมีข้อโต้แย้งจากนักวิชาการและหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องถึงข้อจำกัดและความไม่เหมาะสมของระเบียบวิธีที่ใช้ในการจัดอันดับ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎและระเบียบของไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจดังเช่นในอดีต หรือไม่ก็เรา “ย่ำอยู่กับที่” ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ได้ปฏิรูปเพื่อปรับปรุงกฎระเบียบของตนเองเพื่อลดขั้นตอนทางราชการไปแล้ว

ที่ผ่านมามีเสียงบ่นอย่างไม่ขาดสายจากประชาชนและภาคธุรกิจเกี่ยวกับขั้นตอนทางราชการที่สร้างภาระโดยไม่จำเป็น เช่น การแสดงสำเนาและเซ็นชื่อกำกับในเอกสารต่างๆ จำนวนมาก ทั้งบัตรประชาชน ทะเบียบบ้าน ทะเบียนสมรส และสูติบัตร ทั้งๆ ที่ข้อมูลเหล่านี้ควรที่จะถูกบันทึกในฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ไว้หมดแล้ว สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจึงยังย้อนแย้งกับเป้าหมายการเป็น “เศรษฐกิจดิจิทัล” ที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ใบ ร.ง.4) ของธุรกิจติดตั้งแผงโซลาเซลล์บนหลังคาบ้านซึ่งในอดีตมีเรื่องร้องขอคั่งค้างอยู่ในการพิจารณาจำนวนมาก ทำให้เกิดต้นทุนทางธุรกิจสำหรับผู้ที่ขออนุญาต อันเป็นที่มาของข่าวอื้อฉาวในปี 2557

ปัญหาเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลปัจจุบันต้องออก “พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558” ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานผู้ออกใบอนุญาตต่างๆ ต้องกำหนดกรอบเวลาและรายละเอียดของเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ในการขอใบอนุญาตอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันความล่าช้าและความไม่แน่นอนในกระบวนการทางราชการ

การออกกฎหมายดังกล่าวมานั้น แม้ว่าจะมาจากเจตนาที่ดี แต่ก็ยังไม่ช่วยในการแก้ปัญหาที่รากเหง้า เนื่องจากปัญหาส่วนหนึ่งไม่ได้อยู่ที่ว่ากระบวนการพิจารณาใบอนุญาตล่าช้าหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าการประกอบกิจกรรมนั้นๆ ของภาคเอกชนจำเป็นต้องขอใบอนุญาตหรือไม่ เพราะเหตุใด

ทั้งนี้ มีการประเมินว่าปัจจุบันยังคงมีเรื่องต่างๆ ที่ประชาชนและภาคธุรกิจจำเป็นต้องขอใบอนุญาตถึงกว่า 1,500 เรื่อง และมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติซึ่งกำหนดกฎและเงื่อนไขต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจกว่า 8,000 ฉบับ

ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมกฎหมายลำดับรองที่ออกตามความในพระราชบัญญัติ เช่น พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ หรืออื่นๆ อีกจำนวนนับไม่ถ้วน เพราะเราไม่เคยมีการเก็บรวบรวมข้อมูลดังกล่าว ทำให้มีกฎหมายหลายฉบับที่ประชาชนทั่วไปไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอยู่จริง จนนำไปสู่การละเมิดกฎหมายโดยไม่ตั้งใจ

ตัวอย่างเช่น มีชาวต่างชาติกี่รายที่จะรู้ว่าการได้รับเชิญเป็นวิทยากรในงานสัมมนาในประเทศไทยนั้นจะต้องมีใบอนุญาตทำงานในไทยด้วย เพราะนิยามของ “การทำงาน” ตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวค่อนข้างกว้าง รวมถึงกิจกรรมที่ไม่มีรายได้ด้วย ในขณะเดียวกัน เรามีกฎหมายจำนวนมากที่ไม่มีการบังคับใช้จริง เช่น กฎหมายแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ที่หน่วยงานที่บังคับใช้ยังไม่เคยลงโทษธุรกิจใดสักรายหนึ่ง จึงอาจถึงเวลาที่เราจะต้องทบทวนดูว่า กฎระเบียบใดบ้างที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสร้างภาระแก่ประชาชนและภาคธุรกิจโดยไม่จำเป็น

ประเทศเกาหลีใต้เป็นตัวอย่างของประเทศที่ได้ทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายของตนเองมากกว่า 11,000 ฉบับ เพื่อความอยู่รอดของเศรษฐกิจของประเทศในช่วงหลังวิกฤตการเงินในเอเชียปี 2540 การทบทวนกฎหมายครั้งนั้นช่วยให้เกาหลีใต้ “โละ” กฎหมายที่ไม่มีประโยชน์ทิ้งไปได้ประมาณครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่ทั้งหมด และปรับปรุงกฎหมายอีกหนี่งส่วนสี่ให้เอื้อต่อการพัฒนาประเทศมากขึ้น

สิ่งนี้อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมอันดับว่าด้วยเรื่องความสะดวกในการทำธุรกิจของประเทศเกาหลีใต้ที่ธนาคารโลกจัดทำถึงดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากอันดับที่ 19 ของโลกในปี 2553 ขึ้นเป็นอันดับที่ 4 ในปี 2558

การทบทวนกฎหมายเพื่อ “โละทิ้ง” หรือปรับปรุงให้ดีขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ในต่างประเทศมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้จำนวนมากที่สามารถเข้ามาให้คำปรึกษา ตลอดจนช่วยวางระบบในการดำเนินการได้ภายในเวลาอันสั้นๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การสนับสนุนจากรัฐบาล ที่เล็งเห็นความสำคัญในการลดและปรับปรุงกฎระเบียบในประเทศ

อนึ่ง ในเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว ได้มีการประกาศใช้ “พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558” ซึ่งกำหนดให้กระทรวงต่างๆ ต้องรวบรวมรายชื่อของกฎหมายที่ตนดูแลอยู่ภายใน 1 ปี และทบทวนความจำเป็นของกฎหมายเหล่านั้นทุกๆ 5 ปี รวมทั้งเสนอให้มีการยกเลิกหรือปรับปรุงแก้ไขด้วย ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่เกรงว่ากฎหมายนี้สุดท้ายแล้วจะอยู่ในสภาพเดียวกับกฎหมายอีกหลายๆ ฉบับที่ไม่มีการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง เนื่องจากขาดหน่วยงานที่สามารถเข้ามาผลักดันอย่างจริงจัง

ผู้เขียนเห็นว่า การสังคายนากฎหมายควรเป็นเครื่องมือหลักในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เนื่องจากมีต้นทุนต่ำแต่ได้ประโยชน์สูง ที่ผ่านมาเรามุ่งเน้นการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีเพื่อจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนซึ่งมีต้นทุนสูงมาก ดังที่กระทรวงการคลังเคยเปิดเผยออกมาว่า เราสูญเสียรายได้ปีละกว่าแสนล้านบาทในการส่งเสริมการลงทุน


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน โพสต์ทูเดย์ เมื่อ 11 มกราคม 2559 ใน คอลัมน์: คิดเป็นเห็นต่าง: ทบทวนกม.ปรับพื้นฐาน ลดทุจริตคอร์รัปชั่น

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘เผยแพร่ความรู้ด้านการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและการลดคอร์รัปชัน’ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)