รับน้องใหม่สนามแข่ง 4จี กับการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ต้องจับตา

ปี2016-02-11

ฉัตร คำแสง

หลังการประมูลคลื่น 4จีย่าน 1800 และ 900 เมกะเฮิทซ์ เมื่อปลายปีที่ผ่านมาสิ้นสุดลงด้วยเงินประมูลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ พลิกโฉมประวัติศาสตร์การ ประมูลของประเทศไทย และเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการแข่งขันที่แท้จริงนั้นเป็นเช่นไร

tam-portrait
ฉัตร คำแสง นักวิจัยทีดีอาร์ไอ

เมื่อสนามแข่งประมูลสิ้นสุดลง สนามแข่งขันทางการตลาดก็เริ่ม เข้มข้นขึ้นทุกขณะค่ายมือถือต่างงัด กลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าอย่างเต็มกำลัง ทำให้ราคาที่ให้บริการกับผู้ใช้งานถูกลงกว่าแพ็คเกจ 3จี แม้ราคาคลื่นความถี่ที่ประมูลกันจะแพงกว่า คลื่น 3จีอย่างมาก จนมูลค่าประมูล ของไทยแพงติดอันดับโลก ประเด็นนี้ได้เป็นสิ่งยืนยันว่า การประมูลคลื่นราคาแพงนั้นไม่ได้ ทำให้ผู้บริโภคเสียหายอย่างที่มี ข้อกังวลแต่อย่างใด ในทางกลับกัน การแข่งขันที่รุนแรงยังทำให้ผู้บริโภค มีทางเลือกมากขึ้น ได้ใช้บริการในราคาที่ ถูกลง และเป็นช่องทางการหารายได้สำหรับภาครัฐ ซึ่งช่วยลดความจำเป็น ในการขึ้นภาษีต่างๆ ที่สุดท้ายแล้ว ผู้บริโภคมักจะต้องเป็นผู้แบกรับภาระ

ต่อจากนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการค่ายมือถือ และสาธารณะจับจ้องอย่างไม่ละสายตา คือผู้เล่นในสนามรายใหม่ หรือแจส โมบาย ในการฟาดฟันกับค่ายมือถือรุ่นพี่ 3 เจ้า ซึ่งแจส โมบาย ก็ไม่เคยทำธุรกิจด้านนี้โดยตรงมาก่อน แต่ก็ยืนหยัด ประกาศแผน การทำธุรกิจของตนว่าจะต่อยอดจากฐานลูกค้าอินเทอร์เน็ต 3BB ที่มีอยู่ในมือ 2 ล้านราย โดยเสนอโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมต่างๆ เนื่องจากแจส โมบาย มีจุดขายผลิตภัณฑ์ คือ การให้บริการที่ครบวงจรอยู่แล้ว การต่อยอดฐานลูกค้าเดิมก็ใช่ว่าจะไม่พบเจอ อุปสรรค เพราะลูกค้า 3BB ที่อยู่ในมือ 2 ล้านรายเหล่านั้น เป็นลูกค้าเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของ 3 ค่ายใหญ่เช่นกัน ดังนั้นการจูงใจให้ลูกค้าเปลี่ยนมาใช้บริการ ของตนจึงเป็นความท้าทายอย่างมาก แต่เรื่องที่อาจท้าทายยิ่งกว่าก็คือ แจส โมบายจะต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ในการจ่ายค่าใบอนุญาต ลงทุนโครงสร้าง พื้นฐาน หรือเช่าเสาสัญญาณในระยะแรก เพื่อให้บริการลูกค้าได้ทำให้ แจส โมบาย ต้องกู้ยืมเงินเพิ่มเติม ขณะที่บริษัทมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนมากกว่า 2 เท่าซึ่งยากที่ธนาคารพาณิชย์รายใดจะปล่อยกู้ให้แก่บริษัทได้ โดยง่าย

จึงไม่น่าแปลกใจที่เกิดกระแสข่าวลือ ว่า แจส โมบาย อาจคืนใบอนุญาต เพราะไม่สามารถหาแบงก์การันตีได้ทัน เรื่องนี้หากเกิดขึ้นจริงก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อทั้งผู้บริโภค และนโยบายการจัดสรรคลื่นความถี่ หากบริษัทตัดสินใจคืนใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิทซ์ ก็จะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับ กสทช. ว่าจะตัดสินใจทำอย่างไรกับใบอนุญาต การจัดประมูลซ่อมทันที อาจดูเป็นหนทางที่ช่วยลดผลกระทบต่อผู้บริโภคได้ดีที่สุด เพราะเราต้องไม่ลืมว่าการประมูลนั้น เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่ง เพื่อทำให้เกิดตลาดการบริการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ในอีกทางหนึ่ง หากยอมให้เกิดการเบี้ยวค่าประมูลแล้วจัดสรรคลื่นใหม่ทันที อาจเป็นการสร้าง “มาตรฐาน” ในการไม่ชำระค่าประมูลเมื่อราคาแพงเกินที่จะจ่ายไหว ซึ่งจะเปิดโอกาสให้การประมูลครั้งอื่นๆ ในอนาคตไม่สะท้อนมูลค่าคลื่นที่แท้จริง
และทำให้คลื่นไม่ถูกใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพอยู่ดี

ในระหว่างนี้ กสทช. ก็คงทำได้ แค่ขู่ด้วยบทลงโทษต่างๆ นาๆ เพื่อให้ไม่เกิดการเบี้ยวค่าประมูล ขึ้นจริง แต่ในอนาคต กสทช. จะต้องคิดเงื่อนไขการประมูล ให้รัดกุมขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีการไม่ชำระค่าประมูล เช่น สิทธิในการโอนเปลี่ยนมือเจ้าของใบอนุญาต เพื่อไม่ให้เกิดเรื่อง เช่นเดียวกับในกรณีของดิจิทัลทีวี ที่เกิดปัญหาจอดำไปแล้ว 2 ช่องและมีข่าวว่าอาจจะดำเนินรอยตามอีก 5 ช่อง

วิธีการประมูลเป็นวิธีการจัดสรร คลื่นความที่โปร่งใสและได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า วิธีการจัดสรรคลื่นความถี่รูปแบบอื่น เพราะฉะนั้น กสทช. จะต้องทำงานหนักเพื่อเรียนรู้จากข้อผิดพลาด รู้ทันกลยุทธ์ของนักธุรกิจ และพัฒนาการจัดสรร คลื่นความถี่ทั้งคลื่นย่าน 900 1800 2300 และ 2600 เมกะเฮิทซ์ ที่จะทยอยประมูลในอนาคตอันใกล้

ในฝั่งนโยบาย ภาครัฐต้องให้ความชัดเจนเรื่องความเป็นเจ้าของ และมี กฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ภายใต้หลักการสำคัญคือ การจัดการให้ทรัพยากรถูกใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาครัฐจะต้องจัดการกับเกมการแย่งชิงคลื่นความถี่ของรัฐวิสาหกิจให้เด็ดขาดเพราะการให้รัฐวิสาหกิจกอดคลื่นความถี่ เอาไว้ในมือโดยไม่ได้ทำอะไร หรือทำแล้ว ก็ไม่มีประสิทธิภาพจนแทบไม่มีผู้ใช้บริการ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งจะต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน

———

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 ใน คอลัมน์: วาระทีดีอาร์ไอ: รับน้องใหม่สนามแข่ง 4จีกับการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ต้องจับตา