สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ทีดีอาร์ไอ-สกว. เปิดวงเสวนาร่วมตัวแทนภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ถกปัญหาการใช้ “ดุลยพินิจรัฐไทย” เพื่อการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจและการกำกับดูแลธุรกิจ ห่วงเป็นช่องโหว่คอร์รัปชัน กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน และเอาเปรียบผู้บริโภค เห็นพ้องเดินหน้ากฎหมายอำนวยความสะดวกฯ มาถูกทาง แต่ขาดกลไกกำกับการใช้ดุลยพินิจ ด้วยการมีส่วนร่วมตรวจสอบจากประชาชน แนะเพิ่มการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อสร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นไปพร้อมกัน
เวทีเสวนา ‘ดุลยพินิจรัฐไทย ผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชน’ จัดโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อเร็วๆนี้ มีเป้าหมายเปิดประเด็นและกระตุ้นให้สาธารณะเห็นถึงผลกระทบจากการใช้ ‘ดุลยพินิจของรัฐ’ ที่แม้จะสามารถอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจหรือประชาชนได้ แต่ก็สร้างอุปสรรคได้หากการใช้ดุลยพินิจของรัฐไม่โปร่งใส ในเวทีนี้มีการนำเสนอผลวิเคราะห์ 2 บทบาทของภาครัฐ ได้แก่ รัฐในฐานะ ‘ผู้อำนวยความสะดวกทางธุรกิจ’ และการปรับปรุงขั้นตอนราชการ และ รัฐในฐานะ ‘ผู้กำกับดูแลธุรกิจ’ และความรับผิดชอบต่อสาธารณะ
นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ ได้วิเคราะห์ ผลกระทบจากการใช้ดุลยพินิจของรัฐในฐานะผู้อำนวยความสะดวกทางธุรกิจ ใน 10 ด้าน ตามรายงานการจัดอันดับ Doing Business ของธนาคารโลก ปี 2559 ที่เพิ่งปรับเกณฑ์ใหม่ พบว่า อันดับ “ความยาก-ง่ายในการทำธุรกิจ” ไทยตกต่ำลง จากอันดับ 46 มาอยู่ที่ 49 จาก 189 ประเทศ
เสนอให้ภาครัฐเร่งปรับปรุง 3 ด้านที่คะแนนลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ 1) ด้านการคุ้มครองนักลงทุน ที่มีปัญหาผู้ถือหุ้นรายย่อยมีสิทธิน้อย 2) ด้านการบังคับใช้สัญญา ที่ยังต้องปรับปรุงคุณภาพของกระบวนการยุติธรรม ระบบ e-Court และ 3) ด้านการขอสินเชื่อ ที่เอสเอ็มอียังเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก ส่วนด้านที่ทำคะแนนได้ดีขึ้น ประกอบด้วย การขอใบอนุญาตก่อสร้างจากการมีจุดบริการแบบเบ็ดเสร็จ การชำระภาษี และการอำนวยความสะดวกในกระบวนการฟ้องร้องล้มละลาย
นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในฐานะหน่วยงานรัฐผู้ดูแลภาพรวมโครงสร้างและกระบวนการทางราชการ เผยว่า ตั้งแต่ทราบผลการจัดอันดับ ทาง ก.พ.ร. สำนักงานประกันสังคม และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ไม่นิ่งนอนใจ ได้เร่งดำเนินการแก้ไขส่วนที่ต้องปรับปรุง 4 ด้าน คือ 1) ลดขั้นตอน เอกสาร และระยะเวลา ในการจดทะเบียนทำธุรกิจ 2) ลดค่าธรรมเนียม 3) ปรับกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวก 4) สร้างความเข้าใจต่อผู้เกี่ยวข้องต่อสิ่งที่ได้ปรับปรุง ซึ่งสอดคล้องกับปฎิรูปกระบวนการทางราชการตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558
ด้านตัวแทนภาคธุรกิจ นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานหอการค้าไทย เล็งเห็นว่า ที่ผ่านมาการมีอำนาจออกใบอนุญาตต่างๆ ของรัฐ ถูกใช้เป็นช่องทางทุจริต เช่น การเรียกรับเงินของเจ้าหน้าที่ ดังนั้น หากภาครัฐสามารถบังคับใช้ พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกฯ ได้ดีและคืบหน้ามากกว่านี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้การดำเนินการนั้นโปร่งใส ทั้งเรื่องขั้นตอน เอกสาร และผลการพิจารณาภายในระยะเวลากำหนดที่ชัดเจน
“กฎหมายนี้ยังไม่ครอบคลุมเรื่องประสิทธิภาพของภาครัฐ ซึ่งเป็นนโยบายเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดตั้ง และดำเนินธุรกิจ ทางออกคือเราสามารถนำกรณีของต่างประเทศมาเปรียบเทียบตั้งต้นได้” รองประธานหอการค้าไทย ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
เช่นเดียวกับ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่เห็นว่า กฎหมายอำนวยความสะดวกจะเป็นเครื่องมือป้องกันทุจริต เพราะขั้นตอนต่างๆ จะชัดเจนขึ้น แต่ต้องระวังไม่ให้กลายเป็นกฎหมายสิทธิพิเศษ เป็นเครื่องมือหาประโยชน์ของคนบางกลุ่ม อีกทั้งต้องสร้างความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายในระยะยาว และมีกลไกติดตามจากประชาชน
สำหรับบทบาทรัฐ ในฐานะผู้กำกับดูแลธุรกิจ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ ได้ยกกรณีองค์กรอิสระกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ที่มีอำนาจสูงในการใช้ดุลยพินิจและเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล อย่างคณะกรรมการ กสทช. มาเปิดประเด็น
จากการเปรียบเทียบการจัดตั้งและหลักการการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระของไทยกับระดับสากล พบว่า ประเทศไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการการตรวจสอบองค์กรอิสระเท่าที่ควร และพบ 3 ปัญหาหลัก คือ ความไม่โปร่งใสในการทำหน้าที่ โดยเฉพาะเรื่องการขาดกฎเกณฑ์ที่สร้างความโปร่งใสในการติดต่อระหว่างผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานกำกับดูแลกับธุรกิจภายใต้กำกับดูแลหรือบุคคลภายนอก การขาดการเปิดเผยข้อมูลสำคัญต่อสาธารณะ ได้แก่ รายละเอียดเงินเดือน ผลประโยชน์ที่ได้รับของคณะกรรมการ โดยเฉพาะผู้ริหารระดับสูง และการออกกฎหมายต่างๆ ที่ยังขาดกระบวนการการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรฐานสากล
“เพื่อการปฏิรูปองค์กรกำกับดูแล ต้องมีแนวปฏิบัติกรณีที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และควรให้มีสำนักงานให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม หรือ ethics office เพื่อฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ให้ทำตามมาตรฐานจริยธรรม ส่วนการเปิดเผยข้อมูล เรื่องรายจ่าย – รายรับที่ผ่านมา มีแต่บอกว่าเปิดเผยต่อ สตง. แต่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งจริงๆ แล้วทั้งหมดนี้ต้องมีการเปิดเผยต่อประชาชนทั้ง 65 ล้านคน” ดร.เดือนเด่น เสนอแนะ
ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล นักวิจัยโครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม หรือ NBTC Policy Watch ชี้ให้เห็นอีกว่า นอกจากการเปิดเผยข้อมูลที่ กสทช. ต้องทำให้โปร่งใสมากกว่าที่เป็นอยู่แล้ว ในด้านการใช้ดุลยพินิจขององค์กรกำกับดูแลก็ยังขาดความชัดเจน ซึ่งได้สร้างผลกระทบต่อการตัดสินใจการทำธุรกิจของนักลงทุน เช่น การจัดการประมูลคลื่นความถี่ที่ไม่ทราบกำหนดแน่นอนว่าจะมีอีกหรือไม่ อย่างไร และกรณีการตีความกฎหมายในการเอาผิดผู้ประกอบการยังไม่นิ่ง ทำให้เกิดความสับสน ดังนั้นการมีข้อมูลและกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงและอ้างอิงได้ จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นแก่ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะ นักลงทุนและประชาชนในฐานะผู้บริโภค
โดยที่ผ่านมา ประชาชนในฐานะผู้บริโภคยังไม่มีส่วนร่วมในการกำกับดูแลการใช้ดุลยพินิจภาครัฐ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง จึงเสนอเร่งผลักดัน ‘องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค’ ให้เกิดขึ้น หลังจากพยายามมาเกือบ 19 ปี เพื่อให้มีกลไกกำกับ และลดความเสียหายจากการใช้ดุลยพินิจของรัฐอย่างยั่งยืนต่อผู้บริโภค โดยได้ยกตัวอย่าง ผลกระทบที่รัฐปล่อยให้ผู้ได้รับสัมปทานทางด่วนใช้ดุลยพินิจขึ้นราคา ไร้กลไกกำกับจากผู้บริโภค ผลคือประชาชนต้องจ่ายค่าทางด่วนที่แพงมาก
บทสรุปส่งท้ายจากการเสวนาในครั้งนี้ ตัวแทนจากทุกภาคส่วน เห็นร่วมกันว่า การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐและองค์กรอิสระจะทำให้เกิดการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งจะช่วยกำกับการใช้ดุลยพินิจของรัฐไทย ในการเป็นทั้งผู้อำนวยความสะดวกทางธุรกิจ และการกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบต่อสาธารณะมากที่สุด อีกทั้งยังเป็นการส่งไม้ต่อถึงสิ่งที่ต้องปรับปรุงไปยังทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันเดินหน้าผลักดันภาครัฐไทยใช้ดุลยพินิจอย่างไร้ข้อกังขาและปราศจากการทุจริต
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘เผยแพร่ความรู้ด้านการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและการลดคอร์รัปชัน’ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)