tdri logo
tdri logo
2 มีนาคม 2016
Read in Minutes

Views

ถอดบทเรียน KPK :องค์กรถอนพิษคอร์รัปชันอินโดนีเซีย (1)

ประจักษ์ ก้องกีรติ

ผลจากการศึกษาวิจัยทั่วโลก ชี้ให้เห็นผลกระทบด้านลบ ของการทุจริตคอร์รัปชันที่มีต่อ คุณภาพของการเมือง การแข่งขัน ทางเศรษฐกิจ การกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม และการลดความ เหลื่อมล้ำในสังคม การต่อสู้กับคอร์รัปชันจึงกลายเป็น วาระร่วมกันของโลกในยุคปัจจุบัน มีการผลิตองค์ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติอย่างกว้างขวางเพื่อค้นหาแนวทางที่แต่ละสังคมจะต่อสู้กับคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีบทเรียนมากมายให้สังคมไทย เก็บรับและเรียนรู้จากประเทศต่างๆ

DSC02124
ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

ในบทความนี้ขอหยิบยกกรณีศึกษาของอินโดนีเซียมาถอดบทเรียน เหตุที่ไม่ยกตัวอย่างเดนมาร์ค นอร์เวย์ สวีเดน ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น กลุ่มประเทศที่โปร่งใสที่สุดในโลก เพราะกลุ่มประเทศพัฒนาเหล่านี้ มีพัฒนาการทางการเมือง เศรษฐกิจและเงื่อนไขทางสังคมที่แตกต่างจากไทยมากจนอาจทำให้ถอดบทเรียนได้ลำบาก ในขณะที่อินโดนีเซียเริ่มต้นเอาจริง กับปัญหาคอร์รัปชันในช่วงเวลาที่มีพัฒนาการทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้ดีกว่าสังคมไทย (ต้องถือว่า ด้อยกว่าด้วยซ้ำ)

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ อินโดนีเซียประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับคอร์รัปชัน ทั้งที่เริ่มจากสภาพแวดล้อม ที่ไม่เอื้ออำนวย คือสังคมมีธรรมาภิบาล ต่ำมาก ในช่วงปี 2538-2542

ผลการสำรวจว่าด้วยดัชนีชี้วัด ความโปร่งใส ที่เรียกว่า Corruption Perception Index จัดให้อินโดนีเซียอยู่รั้งท้าย ในขณะที่ปัจจุบันก้าวกระโดดมาอยู่ที่อันดับ 88 จาก 161 ประเทศทั่วโลก มีพัฒนาการที่ดีอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นกรณีตัวอย่างที่นานาชาติให้ความสนใจ เป็นความ “มหัศจรรย์” ที่ถูกยกย่องอย่างกว้างขวาง จนคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตของอินโดนีเซียที่ชื่อ Komisi Pemberantasan Korupsi หรือ KPK ได้รางวัลแมกไซไซในปี 2556 นอกจากนั้น KPK ยังได้รับการโหวต จากประชาชนอินโดนีเซียหลายปีติดต่อกันให้เป็นองค์กรสาธารณะที่น่าเชื่อถือศรัทธามากที่สุด พร้อมกับมีผลการทำงานดี ที่สุดด้วย

องค์กร KPK หรือ ปปช.อินโดนีเซีย เพิ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2546 โดยแรงผลักดัน จากการกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย และการเติบโตของภาคประชาสังคมภายหลังการสิ้นสุดของระบอบเผด็จการทหารของนายพลซูฮาร์โต ที่ปกครองประเทศยาวนานถึง 32 ปี และขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในระบอบที่มีการคอร์รัปชัน มากที่สุดในเอเชีย โดยประธานาธิบดี ซูฮาร์โตรวมศูนย์อำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองเข้าหาตัวเอง และใช้อำนาจนี้ แจกจ่ายผลประโยชน์ให้กับครอบครัว พวกพ้องนายพลในกองทัพ เพื่อนฝูง นักธุรกิจ และข้าราชการระดับสูง ในเครือข่าย ทำให้ภายใต้อำนาจซูฮาร์โต อินโดนีเซียกลายเป็นสังคมปิดที่ขาดความโปร่งใส เต็มไปด้วยการใช้เส้นสายและระบบอุปถัมภ์ การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ และการปิดกั้นสื่อ

เมื่อระบอบนี้สิ้นสุดลงในปี 2541 จึงเกิดแรงผลักทั้งจากภายในและภายนอก ที่จะสร้างสังคมที่โปร่งใสปราศจากการผูกขาดอำนาจ วาระทางสังคม 2 ประการถูกผลักดันไปควบคู่กันคือ การสร้างประชาธิปไตยและการขจัดคอร์รัปชัน ภารกิจของ KPK เมื่อเริ่มก่อตั้งนั้นมีแรงเสียดทานสูง เพราะต้องเผชิญกับมรดกตกทอดจากระบอบอุปถัมภ์แบบเผด็จการของซูฮาร์โตที่ฝังรากลึกในเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม บวกกับการเป็นองค์กรเกิดใหม่ ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่ามีปัจจัยสำคัญ 5 ประการที่ทำให้ KPK ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและ เข้มแข็ง คือ

1) การออกแบบในเชิงสถาบันที่รอบคอบรัดกุม
2) ขีดความสามารถของบุคลากรและทรัพยากร
3) ความเป็นอิสระและเป็นกลาง
4) แรงสนับสนุนจากสื่อและประชาสังคม
5) บรรยากาศประชาธิปไตยในแง่การออกแบบ KPK ยึดตัวแบบ ของฮ่องกงที่ให้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ ปปช.อย่างกว้างขวาง

คือ มีอำนาจ ในการป้องกัน สืบสวนสอบสวน และฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ ทุกองค์กรโดยตรง (ยกเว้นบุคลากรกองทัพที่ KPK สืบสวนสอบสวนได้ แต่ฟ้องร้องไม่ได้) เหตุผลที่ KPK ถูกออกแบบให้มีอำนาจฟ้องคดีได้เพราะอัยการถูกมองว่าขาดความสามารถและความเป็นกลางในการทำคดีคอร์รัปชัน

แต่ที่สำคัญคือ ที่มาของ KPK ที่ถูกสร้างให้เป็น “เสือที่มีเขี้ยวเล็บ” นี้ถูกออกแบบอย่างรัดกุมและยึดโยงกับประชาชน คือ เริ่มจากประธานาธิบดีตั้งกรรมการคัดสรรที่ประกอบด้วยตัวแทนจากภาคประชาสังคมและภาครัฐผสมกัน กรรมการคัดสรรนี้มีหน้าที่เสนอชื่อผู้สมควรได้รับตำแหน่ง 10 คน ส่งให้รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งรับรองและคัดกรองเหลือ 5 คน โดยกรรมการทั้ง 5 คน อยู่ได้ไม่เกิน 2 วาระ วาระละ 4 ปี (สังเกตว่าไม่นานนัก) จะเห็นว่ากระบวนการสรรหากรรมการ KPK มีที่มาทั้งจากฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติที่โยงกับประชาชน และภาคประชาสังคม จึงทำให้มีความชอบธรรมสูง

ที่กล่าวมานี้เป็นปัจจัยเพียง บางส่วนที่ทำให้การทำหน้าที่ ปราบปรามคอร์รัปชันของ KPK เป็นที่ยอมรับและประสบผลสำเร็จ บทความตอนต่อไป จะเจาะลึก ถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จทั้งหมด ที่นำไปสู่บทสรุปว่า “การต่อสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตยและการขจัดคอร์รัปชัน เป็นเรื่องเดียวกัน” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการต่อสู้กับคอร์รัปชันที่ได้ค้นพบจากการถอด บทเรียนการปราบคอร์รัปชันของประเทศ อินโดนีเซีย


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559 ใน คอลัมน์: วาระทีดีอาร์ไอ:  ถอดบทเรียน KPK :องค์กรถอนพิษคอร์รัปชันอินโดนีเซีย (1)

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด