ถอดบทเรียน KPK :องค์กรถอนพิษคอร์รัปชันอินโดนีเซีย (จบ)

ปี2016-03-10

ประจักษ์ ก้องกีรติ

การขจัดคอร์รัปชันเป็นประเด็นปัญหาที่ทั่วโลกมุ่งให้ความสนใจ เฝ้าป้องกัน ปราบปราม ซึ่งบทความที่ผ่านมาได้หยิบยกกรณีตัวอย่างองค์กรทำหน้าที่ปราบปรามคอร์รัปชันของอินโดนีเซียมากล่าวถึง เพื่อถอดบทเรียนความสำเร็จของอินโดนีเซียในการต่อสู้กับคอร์รัปชันด้วยเหตุผลที่ว่าอินโดนีเซียอยู่ภายใต้บรรยากาศไม่เอื้ออำนวย ต่อการตรวจสอบการทุจริตและมีประวัติศาสตร์การคอร์รัปชันที่มีมาช้านาน

โดยพบว่ามีปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องในหลายมิติได้ผลักดันให้ ป.ป.ช. ของอินโดนีเซีย หรือในชื่อ Komisi Pemberantasan Korupsi (KPK) ทำหน้าที่ปราบปรามคอร์รัปชันอย่างแข็งขัน จนได้รับความเชื่อถือและทำให้การต่อสู้กับคอร์รัปชันในอินโดนีเซียเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น

นอกจากปัจจัยในเชิงสถาบันที่ KPK ถูกออกแบบให้เป็นเสือที่มีเขี้ยวเล็บ มีอำนาจกว้างขวาง สามารถสืบสวนสอบสวนและฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ทุกองค์กรโดยตรงดังที่กล่าวถึงในบทความตอนแรกแล้ว ปัจจัยทางด้านการเงิน KPK ก็เป็นสิ่งสำคัญ

การใช้จ่ายของ KPK ต้องถูกตรวจสอบจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินสูงสุด ทำให้ต้องมีความรัดกุมในการใช้จ่ายเงินและต้องมีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ ในการปฏิบัติงานโดยต้องจัดทำรายงานต่อรัฐสภาและเผยแพร่ต่อสาธารณะ และถูกประเมินผลการทำงานด้วยตัวชี้วัดที่เข้มงวดในด้านขีดความสามารถการทำงาน KPK มีทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถและกระตือรือร้น กรรมการทั้ง 5 ท่าน มีความน่าเชื่อถือและเป็นกลางและไม่ถูกครอบงำด้วยการทำงานแบบราชการ  คนทำงานจำนวนไม่มากแต่ศักยภาพสูง ฝ่ายสืบสวนและดำเนินคดีของ KPK  ดึงมาจากตำรวจและอัยการฝีมือดีและเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังถูกดึงมาช่วยงานสืบสวนที่เกี่ยวกับการเงิน ยิ่ง KPK มีความนิยมในหมู่ประชาชนมากขึ้นก็ยิ่งมีคนหนุ่มสาวเก่งๆ รุ่นใหม่ไฟแรงสมัครเข้ามาทำงานในองค์กรมากขึ้นเรื่อยๆ

KPK ยังมียุทธศาสตร์การทำงาน ที่เน้นแตะต้อง “ปลาใหญ่” คือทำคดีจำนวนไม่มาก แต่เน้นไปที่ผู้มีอำนาจระดับสูงในแวดวงการเมือง ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ กระทั่งผู้บริหารองค์อิสระก็ไม่ถูกยกเว้นจากการตรวจสอบ ดังกรณีอื้อฉาวที่คณะกรรมการเลือกตั้งถูกสอบสวนพบว่ามีความผิดในคดียักยอกเงินองค์กรหรือกรณีผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญถูกตัดสินลงโทษในคดีรับสินบน

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่สุดนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือของ KPK คือ ความเป็นอิสระและความเป็นกลาง ซึ่งไม่เหมือนกันเสียทีเดียวเพราะการเป็นอิสระหมายถึงมีอำนาจตรงในการบริหารหน่วยงานและตัดสินใจ แต่ความเป็นอิสระไม่ได้รับประกันความเป็นกลางเสมอไป ที่ KPK โดดเด่นเพราะทั้งอิสระและเป็นกลาง KPK ดำเนินคดี กับนักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล และผู้มีอำนาจทุกฝ่ายอย่างไม่เลือกข้าง พิสูจน์ให้สาธารณะเห็นว่าพวกเขาทำงานตรงไปตรงมา หลีกเลี่ยงการนำองค์กรตนเองมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

จนถึงปัจจุบัน KPK ประสบความสำเร็จในการเอาผิดนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงเกินกว่าหนึ่งร้อยราย  ซึ่งรวมถึงคนระดับรัฐมนตรี ซีอีโอบริษัทชั้นนำ และนายตำรวจระดับสูง กรณีที่มีชื่อเสียงคือ การดำเนินคดีกับคนในครอบครัวของประธานาธิบดี ซูซีโลบัมบัง ยูโดโยโน โดยประธานาธิบดีก็ไม่กล้าขัดขวางเพราะการขจัดคอร์รัปชันเป็นประเด็นหาเสียงสำคัญของเขา เครดิต ที่สูงเช่นนี้ทำให้ประธานาธิบดีโจโกวีเองก็จำต้องปรึกษาหารือกับ KPK ก่อนที่เขาจะแต่งตั้งรัฐมนตรีและข้าราชการ ระดับสูง

สุดท้ายคือ การทำงานร่วมกับสื่อและประชาสังคมซึ่งเป็นเสมือนเกราะกำบังอันแข็งแกร่งของ KPK ปราศจากปัจจัยนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ KPK จะตรวจสอบและปะทะกับชนชั้นนำได้อย่างเข้มแข็ง โดยกระแสการปฏิรูปที่เกิดภายหลังการล่มสลายของรัฐบาลซูฮาร์โต นำไปสู่การเกิดองค์กรประชาสังคมมากมายที่เคลื่อนไหวด้านปัญหาคอร์รัปชันโดยทำงานประสานกับสื่อเปิดโปงความฉ้อฉลต่างๆ อาทิเช่น Indonesian Corruption Watch และ Gerakan AntiKorupsi Movement Against Corruption นอกจากนั้นยังมีการก่อตั้งองค์กรต้านคอร์รัปชันในท้องถิ่นในหลายจังหวัดนโยบายการกระจายอำนาจทำให้คนในท้องถิ่นมีความตื่นตัวกับปัญหาการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบมาพากลเป็นอย่างมาก ซึ่งช่วยทำให้การทำงานของ KPK เข้มแข็งและสะดวกยิ่งขึ้น

สุดท้ายซึ่งสำคัญมากๆ คือบรรยากาศที่เปิดกว้างเป็นประชาธิปไตยที่รับประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อ และทำให้อำนาจกระจายตัวเป็นบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงานของ KPK ในทางกลับกันการทำงานอย่างแข็งขันของ KPK ก็ช่วยเสริมการสร้างสังคมให้โปร่งใส ทำให้คอร์รัปชันกลายเป็นกิจกรรมที่มีต้นทุนสูงแต่ผลตอบแทนต่ำ ป้องกันไม่ให้ชนชั้นนำสามารถใช้อำนาจโดยปราศจากความรับผิดชอบ ซึ่งช่วยหนุนเสริมการสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งขึ้นในสังคมอินโดนีเซียที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจมาอย่างยาวนานในอดีต บทเรียนจากอินโดนีเซียชี้ให้เห็นว่า การต่อสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตยและการขจัดคอร์รัปชัน แท้จริงแล้วเป็นเรื่องเดียวกันเพราะมีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างสังคมที่โปร่งใสปราศจากการผูกขาดอำนาจมันจึงต้องทำไปพร้อมๆ กัน

อินโดนีเซียไม่ปราบคอร์รัปชันโดยละทิ้งประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันก็ไม่สร้างประชาธิปไตยโดยละเลยปัญหาคอร์รัปชันอีกบทเรียนหนึ่งคือ การต่อสู้ กับคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพต้องการหน่วยงานที่ถูกออกแบบมาอย่างดีมีความสามารถ อิสระ และเป็นกลาง แต่นั่นก็ไม่เพียงพอมันยังต้องการสื่อและภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากบรรยากาศของการส่งเสริมประชาธิปไตยที่ให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ‘ยิ่ง KPK มีความนิยมในหมู่ประชาชนก็ยิ่งมีคนหนุ่มสาวเก่งๆ  รุ่นใหม่ไฟแรง สมัครเข้ามาทำงานในองค์กรมากขึ้นเรื่อยๆ’

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 10 มีนาคม 2559 ใน คอลัมน์: วาระทีดีอาร์ไอ:  ถอดบทเรียน KPK: องค์กรถอนพิษคอร์รัปชันอินโดนีเซีย (จบ)