เก่งการค้า เพิ่มมูลค่าการผลิต ทางฝ่าวิกฤติส่งออกไทย (1)

ปี2016-04-07

ฉัตร คำแสง

ข้อมูลเศรษฐกิจของไทยในหลายด้านกำลังบ่งชี้ว่าการส่งออกของประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ ข้อมูลด้านแรกคือ การส่งออกสินค้าของไทยติดลบต่อเนื่องถึง 3 ปีซ้อน โดยปีที่ผ่านมาติดลบสูงถึงร้อยละ 5.8 แม้ในเดือน ก.พ. จะสามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ แต่ก็ได้รับอานิสงส์จากปัจจัยชั่วคราว สำนักเศรษฐกิจหลายแห่งยังคงประมาณการว่าตัวเลขส่งออกรวมทั้งปีจะยังคงติดลบอยู่

ด้านที่สองคือ การลงทุนภาคเอกชนของในประเทศไทยยังไม่กลับมาสดใส แม้ว่าภาครัฐใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปีละกว่าแสนล้านพร้อมเดินสายสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน นอกจากนี้แนวโน้มที่นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติกำลังย้ายและขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านมีความชัดเจนมากขึ้นทุกที ไม่ว่าจะเป็นอาหารแปรรูป เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนยานยนต์ ซึ่งประเทศไทยคิดว่ามีความได้เปรียบประเทศอื่นในอุตสาหกรรมเหล่านี้

นอกจากนี้ เรากำลังขาดแคลนแรงงานทั้งแรงงานฝีมือและแรงงานไร้ทักษะทั้งในมิติคุณภาพและปริมาณ อันเนื่องมาจากสาเหตุสำคัญคือ ไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุและคุณภาพการศึกษาที่ไม่สามารถสร้างแรงงานที่ตอบโจทย์ต่อภาคธุรกิจได้ ทำให้นักลงทุนคิดหนักว่าจะลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นดีหรือไม่

ประเด็นทางเศรษฐกิจข้างต้นล้วนเป็นปัจจัยที่น่ากังวลสำหรับพัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งตั้งแต่ไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 เป็นต้นมา ประเทศไทยใช้โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบเดียวมาตลอด คือการวางตำแหน่งตัวเองให้เป็นฐานการผลิตและส่งออกสินค้า

ในอดีต การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนถือเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยมีแนวคิดว่าการเชื้อเชิญให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน จะทำให้เกิดการยกระดับประสิทธิภาพ แม้ประเทศไทยจะสามารถเป็นเพียงแรงงานในการผลิตได้ระยะแรก แต่ก็หวังว่าจะเกิดการถ่ายทอดความรู้และทำให้คนไทยได้รับประโยชน์จากการลงทุนดังกล่าวได้ในระยะยาว หากลองนึกภาพตามว่าธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ในประเทศไทยมีธุรกิจใดบ้าง ก็คงหนีไม่พ้นธุรกิจยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและเกษตรแปรรูป แต่ถ้าหากถามต่อว่าธุรกิจเหล่านี้สร้างมูลค่าเพิ่มต่อประเทศไทยสูงหรือไม่ ก็คงไม่มีใครกล้าตอบเต็มปากเต็มคำ เพราะรูปแบบของธุรกิจขนาดใหญ่เหล่านี้มักเป็นการรับจ้างผลิต ซึ่งคนไทยและประเทศไทยมีส่วนแบ่งในมูลค่าเพิ่มไม่มาก

นอกจากนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลการส่งออกในระยะหลัง บ่งชี้ว่าสินค้าที่ไทยส่งออกได้มากมักเป็นสินค้าที่เริ่มอิ่มตัวในตลาดโลก หรือไม่ก็เริ่มถูกประเทศอื่นแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดไป ในขณะที่สินค้าที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในตลาดโลก เช่น อุปกรณ์โทรคมนาคม ประเทศไทยกลับมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าน้อยและตามประเทศอื่นไม่ทัน

ทั้งหมดนี้หมายความว่า ไทยกำลังหมุนตามโลกไม่ทัน กล่าวคือประเทศไทยเก่งในการค้าสินค้าที่ความต้องการในตลาดโลกเติบโตต่ำ แต่เรากลับไม่ได้ค้าสินค้าที่โลกกำลังให้คุณค่ากับมัน ดังนั้น พัฒนาการในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาจึงช้าเกินไป กล่าวคือ การปรับตัวและการเกิดขึ้นของธุรกิจใหม่ๆ ให้ตอบสนองต่อความต้องการของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นยังมีไม่เพียงพอ

ในช่วงเวลาที่ธุรกิจแบบเดิมๆ กำลังเผชิญปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง สร้างมูลค่าเพิ่มได้น้อย รวมทั้งมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น ประเทศไทยจะต้องปรับแผนเพื่อผ่าทางตันอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะกระทบต่อกำลังซื้อและความเป็นอยู่ของประชาชนจากการที่รายได้ลดลง

ทั้งนี้ หนึ่งในหนทางผ่าทางตันที่กำลังเกิดขึ้น คือการเดินหน้ายุทธศาสตร์ผลักดันไทยสู่การเป็นชาติการค้าโดยการเดินหน้าผ่าทางตันครั้งนี้เป็นความพยายามของผู้เกี่ยวข้องกับนโยบายการค้าของประเทศโดยตรง คือสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างถูกจังหวะ หลังจากนิ่งมานานเนื่องด้วยการส่งออกเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอดีตจึงละเลยการประเมินผลแนวทางการพัฒนาและยกระดับตนเองให้มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน

โดยหลักการ การเป็นชาติการค้าหมายความว่าทุกกิจกรรมในการทำธุรกิจจะต้องใช้ตลาดเป็นตัวนำ ไม่ว่าจะเป็นการค้า การกระจายสินค้า การผลิต หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งต้องรู้ก่อนที่จะเริ่มลงมือทำว่าจะตอบสนองต่อความต้องการของตลาดอย่างไร ใครเป็นกลุ่มเป้าหมายและมีมูลค่าเพิ่มอย่างไร ถ้าเปรียบเทียบแนวคิดนี้กับสิ่งที่เป็นอยู่ในประเทศไทยจะพบว่ามีความแตกต่างกันมาก เพราะโดยส่วนใหญ่การทำธุรกิจของไทยจะดูจากความสามารถของตนเองแต่แทบไม่คำนึงถึงว่าจะขายได้อย่างไร

ในตอนหน้าจะอธิบายในรายละเอียดของนโยบายดังกล่าวว่าคืออะไรและหนทางผลักดันประเทศไปสู่การเป็นชาติค้าขาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของไทยก้าวพ้นวิกฤติส่งออกนี้ไปได้


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 มีนาคม 2559 ใน คอลัมน์: วาระทีดีอาร์ไอ: เก่งการค้า เพิ่มมูลค่าการผลิต ทางฝ่าวิกฤติส่งออกไทย (1)