ไทยได้เจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับหลายชาติทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้าและส่งเสริมการค้าระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม สิทธิทางการค้าภายใต้กรอบ FTA กลับถูกละเลยจากผู้ประกอบการไทย
ดร.เชษฐา อินทรวิทักษ์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า หากผู้ประกอบการใช้สิทธิเพื่อลดหย่อนภาษีได้เต็มที่ 100% ตามข้อตกลง FTA ที่ไทยมีกับประเทศภาคี 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และเปรู และข้อตกลง FTA ที่ไทยมีกับ 10 ชาติสมาชิกอาเซียน จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายทางด้านภาษีในการนำเข้า-ส่งออกได้เพิ่มขึ้นอีกถึง 191,359 ล้านบาท โดยที่ผ่านมามีการขอใช้สิทธิเพียงราวครึ่งเดียว
สถิติปี 2557 พบว่ามีการใช้สิทธิตามข้อตกลง FTA ในด้านการส่งออกเพียง 51.7% คิดเป็นมูลค่าภาษีที่ประหยัดได้ 146,541 ล้านบาท โดยภาคอุตสาหกรรมที่ใช้สิทธิทางภาษีมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อาหาร และพลาสติก
อย่างไรก็ตาม หากมีการขอใช้สิทธิเต็มที่ ผู้ประกอบการจะสามารถลดหย่อนภาษีเพิ่มได้อีก 133,217 ล้านบาท โดยภาคธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์จากการประหยัดภาษีเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล
ในส่วนของการนำเข้า ปี 2557 มีการขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามกรอบ FTA เพียง 53.4% คิดเป็นมูลค่าภาษีที่ประหยัดได้ 97,090 ล้านบาท โดยภาคอุตสาหกรรมที่มีการประหยัดภาษีในการนำเข้ามากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์ และเหล็ก
หากมีการขอใช้สิทธิเต็มที่จะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายทางด้านภาษีในการนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 44,818 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่สามารถประหยัดภาษีเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักรกล
ดร.เชษฐาระบุว่า “ในด้านการส่งออก หากมีการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA สินค้าของไทยที่ส่งไปขายยังต่างประเทศจะมีราคาถูกลงและสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น ขณะที่ในฝั่งการนำเข้า การที่ผู้นำไทยขยันบอกผู้ส่งออกจากประเทศคู่ค้าให้ใช้สิทธิ เราก็จะนำเข้าได้ถูกลง ซึ่งถ้าเป็นสินค้าพวกวัตถุดิบ เครื่องจักร และสิ่งที่จะเข้ามาพัฒนากระบวนการผลิตไทยให้มีประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น ก็แปลว่าเราสามารถนำเข้าสินค้าจำเป็นได้ถูกลง”
ในส่วนของอุปสรรคที่ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงการใช้สิทธิลดหย่อนทางภาษีตามข้อตกลง FTA สถิติจาก TDRI พบว่า 48% ของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมทำแบบสำรวจในปี 2557 มองว่า การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามข้อตกลง FTA ไม่มีความจำเป็น โดย 28% ระบุว่า ลูกค้าผู้นำเข้าในประเทศคู่ค้าไม่ได้ขอมา ส่วนอีก 20% ระบุว่ามูลค่าส่งออกของตนไม่สูง
ขณะที่อีก 18% ของกลุ่มสำรวจระบุว่า กระบวนการขอใช้สิทธิมีความยุ่งยากซับซ้อน 15% ระบุว่าไม่รู้ขั้นตอนการขอใช้สิทธิ และ 14% ระบุว่าไม่รู้ข้อมูลสำคัญ การตีความพิกัดศุลกากรสินค้าไม่ตรงกัน (9%) ความไม่แน่นอนในเรื่องดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ (7%) ระยะเวลาในการขอใช้สิทธินาน (7%) เอกสารสำคัญไม่ครบ (4%)
ดร.เชษฐายอมรับว่า กระบวนการใช้สิทธิมีความยุ่งยากจริง พร้อมแนะว่า “กระบวนการกรอกแบบฟอร์มควรทำเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ยังต้องเผยแพร่ให้กลุ่มเป้าหมายที่ยังใช้สิทธิน้อย เช่น SMEs ให้เข้าใจมากขึ้นว่าการใช้สิทธิ FTA ไม่ได้กระทบถึงการที่สรรพากรจะมาเก็บภาษีเพิ่ม”
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เมื่อ 13 มิถุนายน 2559 ในชื่อ: TDRI ชี้ใช้สิทธิ FTA ไม่เต็มที่เสียประโยชน์ 1.9 แสนล้านบาท
ข้อมูลจากงาน บรรยายในเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนากลุ่มภาคีธุรกิจอาหาร โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ และ ทีดีอาร์ไอ เมื่อ 7 มิถุนายน 2559