tdri logo
tdri logo
27 กรกฎาคม 2016
Read in Minutes

Views

ทีดีอาร์ไอแนะรัฐเร่งขายข้าวคุณภาพต่ำ ชี้เสียหาย5.8 แสนล้าน

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) เปิดผลการศึกษา “โครงการระบายข้าวในคลังของรัฐ” เพื่อศึกษาว่า “ระบายข้าวอย่างไรจึงขาดทุนและกระทบชาวนาน้อยที่สุด และไม่เกิดปัญหาข้าวเสียปนกับข้าวบริโภค”

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ กล่าวว่าประเทศเหลือปริมาณข้างคงคลังตามบัญชี 18.7 ล้านตัน เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหารเมื่อเดือน พ.ค. 2557 แต่พบว่ามีข้าวในสต็อกจริงเพียง 17.28 ล้านตัน โดยระหว่าง ส.ค. 2557-มิ.ย. 2559 มีการระบายข้าวไปแล้ว 7.5 ล้านตัน มูลค่า 7.8 หมื่นล้านบาท

ส่วนใหญ่กว่า 86% ใช้วิธีประมูลเพื่อบริโภคในประเทศ ส่วนการขายแบบรัฐต่อรัฐ (GtoG) เป็นข้าวใหม่โดยรัฐบาลผู้ซื้อเจรจากับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยโดยตรง โดยราคาขายข้าวของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต่ำกว่าราคาตลาด 2,664 บาทต่อตัน หรือ 20%

เปรียบเทียบกับการระบายข้าวสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างเดือน ต.ค. 2554-ก.ย. 2557 ปริมาณ 18.7 ล้านตัน มูลค่า 2.3 แสนล้านบาท จากปริมาณรับจำนวนข้าวจำนวน 33.5 ล้านตัน ส่วนใหญ่ กว่า 71% เป็นการขายแบบ G to G ปลอมและขายข้าวให้พรรคพวกในราคาต่ำเป็นพิเศษ โดยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ขายต่ำกว่าราคาตลาดถึง 5,082 บาทต่อตันหรือ 29%

ผลการศึกษาพบว่าวิธีประมูลแบบโปร่งใสจะทำให้รัฐได้รับผลตอบแทนสูงสุด แต่วิธี GtoG ปลอมและไม่เปิดเผย ข้อมูลจะทำให้รัฐขาดทุนมากที่สุด แต่สาเหตุหนึ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ขายข้าวได้ราคาดีกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะเน้นระบายข้าวเกรดดี (PAB) ทำให้ราคาขายต่ำกว่าตลาดไม่มากนัก

สำหรับปัจจุบันเหลือข้าวรอการระบายอีก 9.7 ล้านตัน ซึ่งควรระบายให้หมดภายใน 24 เดือนตามที่ตั้งเป้าหมายเพื่อทำให้ตลาดค้าข้าวในประเทศกลับสู่ภาวะปกติและลดความเสียหาย

โดยการคำนวณผลขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยข้อมูลใหม่ พบว่าผลขาดทุนถึงเดือน พ.ค. 2557 เพิ่มเป็น 5.49 แสนล้านบาท จากการคำนวณเมื่อปี 2557 อยู่ที่ 5.428 ล้านบาท แต่หากคำนวณราคาข้าวเมื่อเดือน พ.ค. 2559 ความเสียหายจะเพิ่มเป็น 5.8 แสนล้านบาท ถ้าหากระบายข้าวช้าไป 1 ปี ความเสียหาย จะเพิ่มขึ้นอีกปีละ 18,300 ล้านบาทหรือ ตันละ 1,570 ล้านบาทต่อปี จากค่าบำรุงรักษาและดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม ข้าวในสต็อกกว่าครึ่งในปัจจุบันหรือราว 4-5 ล้านตัน เป็นข้าวคุณภาพต่ำ (ข้าวเกรด C) และเชื่อว่าส่วนใหญ่เป็นข้าวที่มีคุณภาพต่ำมาก เช่น มีอายุมากกว่า 5 ปี หรือเป็นปลายข้าว จึงไม่เหมาะต่อการบริโภค แต่ควรนำไปผลิตเป็นเอทานอล ชีวมวล หรืออาหารสัตว์มากกว่าและการระบายข้าวคงไม่ได้ราคาดีเช่นเดิม เพราะมีข้าวเกรดซีปะปนเกรดอื่นๆ ในรูปแบบยกคลัง แต่ปัญหาด้านกฎระเบียบและบุคลากรทำให้การระบายข้าวมีข้อจำกัด

ทีดีอาร์ไอจึงเสนอให้รัฐบาลตรวจสต็อกข้าวอีกครั้ง ก่อนเร่งระบายข้าวเกรด C โดยเฉพาะ เนื่องจากต้องขายแบบขาดทุนทำให้เจ้าหน้าที่ถูกโจมตีเรื่องราคาและถ้านำไปเผาเป็นชีวมวลก็ถูกโจมตีเรื่องทำลายทรัพย์สินของแผ่นดิน

“เราเหลือข้าวในสต็อก 9.7 ล้านตันและยังมีผลผลิตออกมาทุกปี ถ้าใช้วิธีปกติก็อาจยากที่จะระบายให้หมดภายใน 2 ปี เพราะ ปีนึงเราส่งออกราว 9-10 ล้านตันและบริโภคภายในประเทศ 10 ล้านตัน แต่ถ้าเร่งระบายข้าวคุณภาพต่ำออกไปครึ่งหนึ่ง การระบายข้าวที่เหลือก็อยู่ในวิสัย”

แม้ว่าการระบายข้าวคุณภาพแย่มากคงไม่สามารถคาดหวังด้านราคาได้ แต่ถ้าขายหมดก็ถือเป็นการปลดภาระขาดทุน พร้อมเกิดรายรับขึ้นมาเล็กน้อย แต่ถ้าเก็บข้าวส่วนนี้ไว้ราคาก็จะลดลงเหลือน้อยมาก

ผลการศึกษายังมีข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลควรระบายข้าวแบบสม่ำเสมอทุกๆ เดือน หรือเดือนละ 2 ครั้ง เพราะจะขาดทุนน้อยกว่าขายเป็นช่วงๆ และลดการเก็งกำไรได้ และต้องเร่งระบายในช่วง 2-3 ปีนี้ เพราะหลังจากนั้นข้าวจะเสื่อมคุณภาพลงมาก โดยเฉพาะการลดราคาข้าวเสื่อมสภาพต้องเร่งขายให้เร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม หากไม่จำเป็นไม่ควรขายข้าวทั้งโกดังเป็นเกรดอาหารสัตว์ ผลิตเอทานอลเพราะจะขาดทุนมาก ยกเว้นกรณีที่เป็นข้าวเกรด C ที่มีมาตรฐานต่ำกว่าการบริโภคมาก โดยควรสำรวจโกดังข้าวที่มีอายุเกิน 5-6 ปี หากกลายเป็นฝุ่นหรือเน่าเสียก็ควรนำมาปรับสภาพและลดราคาเพื่อขายออกโดยเร็ว แต่การระบายข้าวขาวจะทำให้ราคาลดลงเล็กน้อย แต่ไม่มีผลกระทบต่อราคาข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว

ขณะเดียวกันควรแก้ไขกฎหมายข้อมูลข่าวสารราชการให้ครอบคลุมเรื่องการเปิดเผยข้อมูลการระบายข้าวรัฐบาล พร้อมบทลงโทษเจ้าหน้าที่ปิดบังข้อมูล เพราะค่าเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท มาจากภาษีของประชาชน

ดร.นิพนธ์ กล่าวต่อว่า ผลเสียหายของโครงการจำนำข้าวได้ให้บทเรียนว่า รัฐบาลไม่ควรแทรกแซงสินค้าเกษตรทุกชนิดแล้วนำมาเก็บไว้ในสต็อกโดยเด็ดขาย เพราะกฎระเบียบของรัฐไม่เอื้ออำนวยต่อการขายข้าว รัฐบาลจะขาดทุนมหาศาลจากค่าใช้จ่ายต่างๆ อีกทั้งเจ้าหน้าที่รัฐไม่กล้าตัดสินใจระบายข้าวหากราคาลดลงส่งผลให้ข้าวมีโอกาสเสื่อมมากขึ้น

นายปราโมทย์ วาณิชชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า อยากให้คะแนนการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล คสช.เต็ม หรือ A+ เพราะไม่มีวาระการเมืองเข้ามาแทรกแซง ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดี ในการเร่งระบายข้าวเก่าที่ค้างในสต็อก


หมายเหตุ ปรับปรุงเนื้อหาจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 27 กรกฎาคม 2559 ในชื่อ: ทีดีอาร์ไอแนะงัดม.44ขายข้าวเน่า ชี้เสียหาย5.8 แสนล้าน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด