ทีดีอาร์ไอ เสนอ “โมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ” ดันไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

ปี2016-08-08

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดทำโครงการวิจัยเรื่อง “โมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ” ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมา และเพื่อนำเสนอแนวทางใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปและปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและในอนาคต  ขณะนี้โครงการวิจัยได้ดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย จึงได้มีการจัดสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ขึ้น เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาจากงานวิจัยต่อสาธารณชน และเพื่อเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวงกว้าง โดยมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

ประเทศไทยติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางมาระยะหนึ่งแล้ว โดยโมเดลการขยายตัวเศรษฐกิจแบบเก่าไม่สามารถช่วยให้ไทยหลุดพ้นกับดักนี้ได้ ประเทศไทยต้องการโมเดลใหม่ที่สะท้อนแนวคิดหรือวิธีบริหารจัดการรูปแบบใหม่ ที่จะนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดัก จนสามารถยกระดับเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ในระยะเวลาที่ไม่นานเกินไป

การสรรหาโมเดลใหม่เริ่มจากการทำความเข้าใจข้อบกพร่องของโมเดลเก่าที่ไม่สามารถใช้กับบริบทปัจจุบันและอนาคตของเศรษฐกิจไทยได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนแรงงานในเกือบทุกระดับทักษะ สังคมสูงอายุ ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ ภาครัฐขาดประสิทธิภาพ ระบบสังคมการเมืองมีความเหลื่อมล้ำของโอกาสและอำนาจ เป็นต้น

การสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เข้าร่วมสัมมนา ถึงแนวทางการปรับเปลี่ยนจากโมเดลเก่าสู่โมเดลใหม่เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในสี่ด้านคือ การพัฒนาคน นโยบายอุตสาหกรรมและบทบาทภาครัฐ การจัดการเชิงสถาบัน และการพัฒนาสีเขียว

การพัฒนาคนเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในการผลักดันประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง คุณภาพของคนขึ้นอยู่กับระบบการศึกษาที่ดี ทักษะแรงงานที่ยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการผลิต รวมทั้งการมีสุขภาพที่ดีเท่าเทียมกัน สิ่งที่ควรทำในโมเดลใหม่ คือ ต้องลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสและคุณภาพการศึกษา ปรับหลักสูตรการเรียนให้เน้นการแก้ปัญหา (solution-based) แทนการเรียนรายวิชา ปรับการบริหารจัดการการศึกษาให้มีระบบรับผิดรับชอบ (accountability system) มากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มบทบาทของท้องถิ่นในการพัฒนาการศึกษา การฝึกทักษะแรงงานควรเป็นไปตามความต้องการของตลาดมากขึ้น ส่งเสริมระบบทวิภาคี และเปิดเสรีการนำเข้าแรงงานต่างชาติทักษะสูงมากขึ้น

ประเทศที่ไม่ติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางล้วนมีการยกระดับเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง หลายประเทศดำเนินการเรื่องนี้ผ่านนโยบายอุตสาหกรรมภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีระบบการป้องกันความเสี่ยงที่ภาครัฐจะดำเนินการผิดพลาด ป้องกันระบบเล่นพรรคเล่นพวก กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ต้องมีระบบสถาบันที่เน้นการมีธรรมาภิบาลในการวางนโยบายส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจผ่านการยกระดับเทคโนโลยี (technology upgrading) เพื่อป้องกันพฤติกรรมแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจโดยภาคธุรกิจหรือกิจการที่ไม่มีศักยภาพ ซึ่งกลไกสำคัญอย่างหนึ่ง คือ การติดตามและประเมินผลการให้การสนับสนุนที่ชัดเจนและในลักษณะเป็นขั้นบันได มีกติกาที่ชัดเจนว่าจะให้การสนับสนุนต่อเนื่องภายใต้เงื่อนไขใด และหยุดการสนับสนุนภายใต้เงื่อนไขใด ซึ่งนโยบายส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยในปัจจุบันยังไม่มีการติดตามและประเมินผลในแนวทางนี้

ปัจจัยเชิงสถาบันมีบทบาทอย่างมากในการอธิบายระดับความเหลื่อมล้ำในสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทย ช่วยให้เข้าใจว่าทำไมนโยบายที่สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ดีจึงไม่ถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง การแก้ปัญหาจึงควรเน้นการจัดการเชิงสถาบัน ตัวอย่างที่เด่นชัด คือ การกระจายอำนาจการคลังและอำนาจการเมืองสู่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นแนวทางที่มีศักยภาพสูงในการลดความเหลื่อมล้ำ

ส่วนปัญหาคอร์รัปชั่นนั้น สังคมไทยต้องต่อสู้กับเรื่องนี้ในลักษณะร่วมมือกันทั้งสังคม ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น เช่นต้องสร้างความเข้มแข็งให้สื่อและภาคประชาสังคม ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปพรรคการเมืองและกระบวนการเลือกตั้ง ปฏิรูปสถาบันและกระบวนการทางรัฐสภา การกระจายอำนาจ รวมทั้งสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานและองค์กรระหว่างประเทศ

ข้อบกพร่องของโมเดลเก่าที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติในลักษณะทำลายเกินความจำเป็น ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมนานาประการ โมเดลใหม่จึงควรเน้นการพัฒนาสีเขียว (green growth) ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development goals หรือ SDGs) วิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้ไทยสามารถขยายตัวทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม คือ การปฏิบัติตามกติกาด้านการค้าระหว่างประเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งกติกาภาคบังคับและภาคสมัครใจ รวมทั้งควรมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนในเรื่องนี้ อย่างเช่นการปรับพฤติกรรมผู้บริโภคให้มีการบริโภคอย่างยั่งยืน การใช้มาตรการการเงินการคลังเพื่อเบี่ยงเบนภาคการผลิตไปสู่การผลิตที่สะอาดขึ้น การส่งเสริมเทคโนโลยีสีเขียว และการปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรฐานสากลในเรื่องนี้อย่างจริงจัง


ดาวน์โหลดเอกสาร การสัมมนา สัมมนาวิชาการเชิงสังเคราะห์ “โมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ”