สวัสดีครับ ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยประสบกับความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่มาจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในประเทศ ถึงแม้ในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้นและความผันผวนจะลดลงบ้าง แต่การฟื้นตัวยังคงไม่กระจายตัวไปทุกภาคส่วนและยังคงมีความเปราะบางอยู่ จริงอยู่ที่การประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นพายุคลื่นลมในระยะสั้นไปได้เป็นสิ่งจำเป็น แต่การมุ่งเน้นที่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ อาจทำให้เราละเลยปัญหาที่ใหญ่กว่าและหนักกว่า นั่นคือ ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทยที่นับวันจะแสดงอาการมากขึ้นเรื่อยๆ
หากเราย้อนกลับไปมองพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในอดีต ตลอดหลายทศวรรษนับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกในปี พ.ศ. 2504 เศรษฐกิจไทยเคยขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 7-8 ต่อปี ยกระดับจากประเทศยากจนมาเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ประชาชนคนไทยมีรายได้ที่ดีขึ้นมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่นับตั้งแต่จุดเปลี่ยนภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจไทยปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดต่ำลงมาอยู่เพียงร้อยละ 3-4 ต่อปี จนดูเหมือนจะกลายเป็น “new normal” หรือ “สภาวะปกติใหม่” ของอัตราการขยายตัวไปแล้ว รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยที่ในอดีตเคยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนสามารถไล่ตามและแซงหน้าประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ มาจนบัดนี้เป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษแล้วที่รายได้เฉลี่ยของไทยยังคงวนเวียนอยู่ที่เพียงประมาณ 1 ใน 5 ของสหรัฐอเมริกา และถูกหลายประเทศที่เคยตามหลังเราแซงหน้าไปแล้ว ภาวะเช่นนี้หลายคนเรียกว่าเป็นอาการของ “การติดกับดักรายได้ปานกลาง” หรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “middle-income trap” และสะท้อนให้เห็นว่าการชะลอลงของเศรษฐกิจในระยะหลังนี้ ไม่ใช่เป็นแค่เพียงปัญหาวัฏจักรเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น แต่เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่หยั่งรากฝังลึกมานานและไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายจุด ทั้งในด้านการขาดการลงทุนมาเป็นเวลานาน ความล้าหลังของเทคโนโลยีการผลิต การขาดแคลนแรงงานทักษะสูง ความด้อยคุณภาพของระบบการศึกษาไทย ความอ่อนประสิทธิภาพของระบบราชการ รวมไปถึงความขัดแย้งในสังคมที่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากระบบเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน ไม่สามารถแก้ไขได้ในเวลาอันสั้น และไม่สามารถดำเนินการได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง มีการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม มีการทำงานเชิงรุกเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยหลุดจากการติดหล่มเชิงโครงสร้างในด้านต่างๆ และปลดล็อคเศรษฐกิจไทยให้สามารถก้าวข้ามไปสู่
การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงและยั่งยืนได้
ผมอยากจะย้ำว่า สิ่งที่เราควรมุ่งเน้นคือ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งมีความหมายกว้างและลึกกว่า “การขยายตัวของเศรษฐกิจ” มาก แน่นอนว่าความกินอยู่ที่ดีของคนไทยย่อมตั้งอยู่บนพื้นฐานของระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมไทยครอบคลุมถึงมิติด้านคุณภาพและการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมด้วย เพราะเศรษฐกิจที่เติบโตไปพร้อมกับช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยคนจนที่เพิ่มมากขึ้น จะเป็นบ่อเกิดของปัญหาอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในสังคม ความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจ รวมถึงแรงกดดันต่อเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งทั้งหมดนี้สุดท้ายจะกลับกลายมาเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต
ในขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืนอย่างแท้จริงนั้น ยังจำเป็นต้องอยู่บนฐานของความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นต้นทุนสำคัญของการขยายตัวของเศรษฐกิจที่มักจะถูกละเลย ทั้งๆ ที่จริงแล้วความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม มลพิษทางน้ำและอากาศ และภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจ เกิดต้นทุนที่เราทุกคนต้องรับภาระในวันข้างหน้า นอกจากนี้ ในปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างหันมาให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นมากกับการส่งเสริมรูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน หากประเทศไทยยังไม่มีกลไกและมาตรการแก้ไขปัญหาด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอตามมาตรฐานสากล ก็จะทำให้ประเทศอาจเสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศ และอาจถูกกีดกันทางการค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกด้วย
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ
ธนาคารแห่งประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจไทยเพื่อให้เศรษฐกิจไทยก้าวไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน อีกทั้งยังรับรู้ได้ถึงผลกระทบทางลบจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ จึงได้พยายามมาโดยตลอดที่จะผลักดันให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตื่นตัวมากขึ้นในการร่วมกันหาทางออกและแก้ปัญหาของประเทศภายใต้กรอบแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน หากท่านย้อนกลับไปดูงานสัมมนาวิชาการประจำปีของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ในหัวข้อ “วางรากฐานสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย” จนถึงปีที่แล้วในเรื่อง “เศรษฐกิจไทยกับบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ” จะเห็นถึงการหยิบยกหลายประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ทั้งในด้านการค้า การเงิน การคลัง โครงสร้างแรงงานและประชากร รวมไปถึงเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ธนาคารแห่งประเทศไทยมุ่งจะจุดประกายความคิด ประสานความร่วมมือในการเดินหน้ายกเครื่องเศรษฐกิจไทยอย่างจริงจัง จากทุกฝ่ายที่มีบทบาทรับผิดชอบและทุกคนที่มีความห่วงใยในอนาคตของประเทศ
ในวันนี้ ผมยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสต้อนรับทุกท่านเข้าสู่งานสัมมนาวิชาการที่เป็นอีกหนึ่งความพยายามร่วมกันผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว งานสัมมนาในวันนี้ ที่มีหัวข้อว่า “โมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยระยะเวลา 3 ปี ภายใต้ความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย กับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเข้าใจว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาอะไร ทำไมต้องคิดใหม่ทำใหม่ และเพื่อนำเสนอแนวทางใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและจัดการกับปัญหาเชิงโครงสร้างในทั้ง 3 มิติที่เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ผมได้กล่าวถึงข้างต้น อันได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ และความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม บัดนี้โครงการวิจัยดังกล่าวได้ดำเนินการมาถึงช่วงสุดท้าย จึงเป็นโอกาสดีที่เราจัดงานสัมมนาในวันนี้ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวงกว้าง จากทั้งนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิที่ให้เกียรติมาร่วมให้ความเห็นบนเวทีแห่งนี้ รวมถึงทุกท่านที่มาร่วมสัมมนาในวันนี้ด้วย
สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณคณะผู้วิจัยที่ได้มุ่งมั่นผลิตงานศึกษาที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต ขอขอบคุณท่านวิทยากร ผู้ร่วมเสวนา และสื่อมวลชนทุกท่านที่ให้ความสนใจมาร่วมงานกับเราในวันนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการอภิปรายในเวทีนี้จะนำไปสู่การสร้างวิสัยทัศน์ร่วม และสร้างแรงผลักดันเชิงบวกที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของคนไทย
ขอบคุณครับ