“อาเซียนถือเป็นตลาดสำคัญที่เป็นทางออกและเป้าหมายหลักสำหรับอุตสาหกรรมไทย ในสถานการณ์ที่การส่งออกไปตลาดหลักในสหรัฐฯ และยุโรปยังไม่สามารถกลับมาเติบโตได้เต็มที่ โดยอุตสาหกรรมแฟชั่นมีโอกาสจากการเติบโตจากความหลากหลายของตลาดในอาเซียนที่จะช่วยรองรับการขยายฐานการผลิตและการสร้างธุรกิจใน รูปแบบใหม่ๆ เพื่อแข่งขันต่อไปในตลาดโลก”
ภาครัฐและเอกชนยังคาดหวังให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่ภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อยกระดับภาคธุรกิจและการส่งออกไทยที่สามารถแข่งขันได้จากการสร้างมูลค่าเพิ่ม ช่วยพัฒนาผู้ประกอบการรวมถึงแรงงานที่มีทักษะสูง แต่ปัจจุบันยังมีความไม่พร้อมในหลายด้านต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐที่ต้องให้ทั้งเวลาและเงินทุนอีกมากในการผลักดันการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม
เสนอยุทธศาสตร์อุตฯ แฟชั่น
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยกับภูมิภาคอาเซียน เป้าหมายและวิสัยทัศน์ไทยเป็นศูนย์กลางแฟชั่นอันดับหนึ่งในอาเซียนในปี ๒๕๖๐ เพิ่มมูลค่า การส่งออกของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยเป็น ๑,๐๐๐,๐๐๐ ล้านบาท จาก ๖๒๐,๐๐๐ ล้านบาท ในปี ๒๕๕๘ โดยบทบาทเอกชนต้องมุ่งสู่การใช้อาเซียนเป็นฐานการค้าหรือการผลิตอย่างจริงจัง และรัฐต้องปรับบทบาทการส่งเสริมเป็นแบบมุ่งเป้าให้ได้ผล ไม่ใช่แค่ได้ทำ
ดร. สมเกียรติ เสนอยุทธศาสตร์การเชื่อมโยง ๖ ประการ ได้แก่ ๑. สร้างภาพลักษณ์ประเทศเป็นแหล่งผลิตสินค้าคุณภาพ มีการคิดค้นพัฒนา และใส่ใจสังคม ๒. ทำ การตลาดเชิงรุกในตลาดเป้าหมายอาเซียน ๓. เตรียมความพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการในการค้าและลงทุนต่างประเทศ ๔. เพิ่มผลิตภาพและมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมไม่ต่ำกว่า ร้อยละ ๑๐ ต่อปี ๕. ปรับบทบาทสถาบันเฉพาะทางหรือสมาคมที่เกี่ยวข้อง ๖. ยกระดับทักษะบุคลากร
ยุทธศาสตร์แรก เพื่อสร้างภาพลักษณ์ประเทศ
ประกอบด้วยการสร้างภาพลักษณ์ประเทศให้เข้มแข็ง มุ่งเน้นประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ไทยเป็นแหล่งผลิตมีคุณภาพ การออกแบบ พัฒนาและใส่ใจสังคม โดยยกระดับงานกรุงเทพเมืองแฟชั่น (Bangkok Fashion Week) เป็นงานระดับภูมิภาค และทำกรณีศึกษาสินค้าแฟชั่นไทยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ การส่งเสริมการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา สร้างความตระหนักให้แก่ผู้ประกอบการไทยต่อปัญหาการลอกเลียนสินค้า พร้อมแนะนำแนวทางการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และการสร้างความรับผิดชอบต่อสวัสดิภาพแรงงาน – สิ่งแวดล้อม มุ่งให้ความรู้มาตรฐานด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมแก่ผู้ประกอบการ เพื่อช่วยในการปรับตัว
ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การทำตลาดเชิงรุกมุ่งเน้นตลาดเป้าหมายในอาเซียน
ประกอบด้วยการจับคู่ผู้ประกอบการไทยกับผู้กระจายสินค้า จากความเข้าใจความต้องการ จุดเด่นและจุดด้อย การสร้างความสัมพันธ์กับผู้กระจายสินค้าและห้างสรรพสินค้า โดยเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไทยก่อนไปทำการจับคู่ตามกลุ่มสินค้า การปรับบทบาทสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ โดยให้ข้อมูลการตลาดเชิงลึก – พฤติกรรมผู้บริโภคแก่ผู้ประกอบการ รวมถึงมุ่งเน้นการจับคู่ทางธุรกิจ (business matching) ให้ได้ผล มากกว่าแค่จัดงานแสดงสินค้า และการส่งเสริม e – Commerce แนะนาผู้ประกอบการใช้ตลาดกลางอย่าง e – Commerce ในต่างประเทศ เพื่อขายสินค้าและเก็บข้อมูลผู้บริโภค พร้อมทั้งส่งเสริมเอกชนสร้างตลาดกลาง e – Commerce สำหรับสินค้าไทย
ยุทธศาสตร์ที่ ๓ เตรียมความพร้อมและสนับสนุนผู้ประกอบการ
โดยเฉพาะรายใหม่ที่มีความพร้อมด้านส่งออกและลงทุนต่างประเทศ รวมถึงอุดหนุนการพัฒนาในส่วนที่ผู้ประกอบการยังไม่พร้อม เช่น การให้ความรู้ด้านการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน โอกาสทางธุรกิจ กฎระเบียบ วัฒนธรรมและแนวทางการลงทุน การอำนวยความสะดวกการย้ายฐานผลิตและลงทุนไปต่างประเทศ โดยให้ความช่วยเหลือในการจับคู่ธุรกิจ ให้ผู้ประกอบการใช้พื้นที่ในศูนย์ส่งเสริมการค้าและการลงทุนในต่างประเทศเป็นสำนักงานชั่วคราว ให้ข้อมูลและช่วยเหลือการเงิน ด้านการประกันความเสี่ยงให้กับการลงทุน เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ ๔ เพิ่มผลิตภาพและมูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมไม่ต่ำกว่า ร้อยละ ๑๐ ต่อปี
ประกอบด้วยการลดความสูญเสียในกระบวนการผลิต โดยรัฐให้คำปรึกษาแก่ SMEs และช่วยเหลือค่าใช้จ่าย เช่น โครงการชุบชีวิตธุรกิจไทย รณรงค์ให้เกิดการผลิตแบบลีน (Lean manufacturing) เพิ่มการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีทันสมัย โดยช่วย SMEs เปลี่ยนเครื่องจักร – การใช้เทคโนโลยีใหม่ จากการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ พร้อมนาผู้ประกอบการไปดูงานเทคโนโลยีในต่างประเทศ เป็นต้น
การพัฒนาความสามารถการออกแบบ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยช่วยพัฒนานักออกแบบรายใหม่ที่เชื่อมโยงกับภาคการผลิตนำผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาช่วยยกระดับอุตสาหกรรม และให้สถาบันเฉพาะทางสถาบันวิจัยของรัฐถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการและร่วมทำงานวิจัยพัฒนาความรู้ด้าน supply chain management โดยจัดอบรมผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ OEM พัฒนาห่วงโซ่คุณค่า โดยส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างต้นน้ำและปลายน้ำ โดยเฉพาะผู้ผลิตผ้าผืน – เครื่องนุ่งห่ม การให้คำแนะนำเพื่อเพิ่มมูลค่าตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยมุ่งสู่ Niche market ที่สนองความต้องการลูกค้า จากการแก้ปัญหา สร้างคุณค่า และช่องทางการจัดจำหน่ายที่ตรงกับความต้องการ และให้บริการหลังการขายที่ดี พร้อมมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มจากสิ่งที่จับต้องไม่ได้มากขึ้น
ยุทธศาสตร์ที่ ๕ ปรับบทบาทสถาบันเฉพาะทาง – สมาคมที่เกี่ยวข้อง
ได้แก่ การปรับบทบาทสถาบันสิ่งทอ โดยอุดหนุนงบประมาณให้ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมได้มากขึ้น มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาสิ่งทอ การเก็บรวบรวมข้อมูลและให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีสิ่งทอ จัดตั้งสถาบันออกแบบและพัฒนาสินค้าแฟชั่น โดยอุดหนุนค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการในการเข้าร่วมฝึกอบรม ส่งเสริมบทบาทสมาคมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม โดยตั้งงบอุดหนุนสมาคมให้ช่วยพัฒนาสมาชิก และสนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้าของสมาคมผู้ประกอบการ
ยุทธศาสตร์ที่ ๖ ยกระดับทักษะบุคลากร
ประกอบด้วยส่งเสริมการพัฒนาช่างเทคนิค ช่างฝีมือหัตถกรรม โดยส่งเสริมอาชีวะศึกษาแบบทวิภาคี และส่งเสริมการฝึกทักษะระดับสูงในงานหัตถกรรม การพัฒนาบุคลากรให้มีวิสัยทัศน์และมุมมองแบบสากล โดยส่งเสริมการเรียนภาษาและวัฒนธรรมต่างประเทศ อำนวยความสะดวกการนำเข้าผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ โดยเปิดเสรีให้ work permit แบบ fast track และให้สิทธิประโยชน์ในการทำงานในประเทศไทยแก่ผู้เชี่ยวชาญระดับโลก
เจาะตลาดและเชื่อมโยงอาเซียน
นอกจากนี้ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยควรเริ่มต้นจากการเชื่อมโยงฐานการผลิตและตลาดเป้าหมายในอาเซียน ได้แก่
อินโดนีเซีย สินค้าแฟชั่นแบรนด์ไทยเริ่มมีวางจำหน่ายแล้ว จากจุดเด่นสิ่งทอไทยที่มีคุณภาพและการดีไซน์ รวมถึงมีห้างสรรพสินค้าไทย (Central) ที่เข้าไปเปิดสาขา โดยต้องพยายามทำให้แบรนด์ไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น ตามโอกาสของประชากรและชนชั้นกลางจำนวนมากที่กำลังขยายตัว มีการใช้สมาร์ทโฟนและจำนวนห้างสรรพสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น ถือเป็นตลาดและฐานการผลิตที่เหมาะกับ OEM ใช้แรงงานทักษะต่ำ
เวียดนาม โอกาสสินค้าไทยที่มีดีไซน์และเอกลักษณ์ คุณภาพปานกลาง – สูง สินค้าไทยมีภาพลักษณ์ดีและเป็นที่ต้องการ ต่างจากภาพลักษณ์สินค้าจีนที่แม้มีราคาถูกกว่า และยังเป็นตลาดที่กำลังมีโรงงานเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามข้อตกลงการค้า TPP และยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจากประเทศส่งออกหลักทั้งสหรัฐฯ และยุโรป เหมาะกับผู้ประกอบการ OEM ที่จะขยายฐานการผลิตและตลาดส่งออกสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม
เมียนมาร์ มีโอกาสจากเศรษฐกิจและชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก รวมถึงคู่แข่งในตลาดยังมีน้อย และเป็นประเทศที่กำลังต้องการอุตสาหกรรม ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุน แม้เรื่องของกฎหมายและกฎระเบียบที่ยังไม่ชัดเจน ข้อจำกัดการลงทุนจากต่างชาติที่ซับซ้อน แต่ถือเป็นความท้าทายจากการที่ยังมีสินค้าแฟชั่นเข้าไปจำหน่ายไม่มากนัก ผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นทางเลือกกลยุทธ์ในการเข้าไปบุกเบิกตลาดและฐานการผลิตทั้งจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปตลาดหลัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง
สิงคโปร์ ต่างจากตลาดอื่น โดยไม่เหมาะเป็นฐานการผลิต แต่มีความสำคัญและโอกาสจากการเชื่อมโยงด้านการตลาด การแข่งขันในด้านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาความร่วมมือความสามารถในด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนและหน่วยงานที่พัฒนาศักยภาพธุรกิจ เหมาะสำหรับผู้ประกอบการ ODM และ OBM ที่ต้องการสร้างแบรนด์และอยู่รอดให้ได้ท่ามกลาง การแข่งขันที่สูงเน้นจับเป้าหมายเฉพาะกลุ่มและขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าเสื้อผ้า รองเท้าและเครื่องนุ่งห่ม
สำหรับแนวทางการส่งเสริมของภาครัฐเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงตลาดและฐานการผลิต ช่องทางการจำหน่ายในกลุ่มประเทศเป้าหมายในอาเซียน ดร. สมเกียรติ กล่าวว่า ควรมุ่งเน้นเรื่องการสร้างแบรนด์และภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในการสร้างแบรนด์ประเทศที่มุ่งเรื่องของแฟชั่น การต่อยอดโครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น การพัฒนาผู้ประกอบการสร้างตลาดผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ป้องกันและลดความเสียหายจากการเลียนแบบเครื่องหมายการค้า สนับสนุนการนำผู้เชี่ยวชาญงานออกแบบ การตลาด การสร้างแบรนด์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เข้ามาช่วยยกระดับอุตสาหกรรมไทย รวมถึงสนับสนุนการให้คำแนะนำ อำนวยความสะดวกในการย้ายฐานการผลิต การจับคู่ธุรกิจ โดยผ่านกลไกของรัฐที่ร่วมมือกับภาคเอกชน พร้อมจัดทำคู่มือข้อมูลเชิงลึกการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน
หนุนผู้ประกอบการทุกกลุ่ม
“ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ไม่มีสูตรเดียวในการยกระดับผู้ประกอบการแฟชั่นไทย แต่ทุกสูตรต้องเน้นเพิ่มมูลค่า โดยทำความเข้าใจลูกค้า แนวทางหลัก คือ การวางตำแหน่ง (position) ในตลาดและการผลิตให้สอดคล้องกับจุดแข็งของกิจการและประเทศ สำหรับผู้ประกอบการและสินค้าที่มีหลายกลุ่ม ควรจำแนกประเภทให้ชัดเจน เนื่องจากมีความต้องการแนวทางในการส่งเสริมที่แตกต่างกัน ประกอบด้วยผู้ประกอบการกลุ่ม OEM ที่ใช้แรงงานทักษะต่ำ ผู้ประกอบการกลุ่ม OEM ที่ใช้แรงงานทักษะสูง และผู้ประกอบการกลุ่ม ODM/OBM”
ดร. สมเกียรติ กล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการ OEM รูปแบบธุรกิจมุ่งเน้นต้นทุนการผลิตที่ต่ำ คุณภาพสินค้าสูง และการส่งมอบที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพ ต้องการปัจจัยสนับสนุน เช่น เครื่องจักรที่ทันสมัย ค่าจ้างแรงงานต่ำ สิทธิพิเศษทางการค้าจากประเทศที่ส่งออก ความสามารถในการบริหารจัดการ โดยผู้ประกอบการที่ยังคงใช้แรงงานทักษะต่ำและเป็นกลุ่มที่ผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มต่ำ หากขายตลาดในประเทศ สามารถคงฐานการผลิตในประเทศต่อไปอาจตั้งโรงงานในเขตเศรษฐกิจที่ชายแดนเพื่อขอรับส่งเสริมการลงทุน
“ส่วนกลุ่มที่ผลิตส่งออกไปยังสหรัฐฯ หรือยุโรป ควรย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี นอกจากนี้ ผู้ปั่นด้ายหรือผลิตสิ่งทอเพื่อส่งออกไปยังเวียดนาม ควรย้ายฐานการผลิตไปที่เวียดนาม เนื่องจากกฎ Yarn Forward ของ TPP โดยผู้ผลิตในกลุ่มนี้จะต้องเผชิญความท้าทายจากค่าจ้างแรงงานในประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วแต่ประสิทธิภาพแรงงานยังต่ำ”
สำหรับผู้ประกอบการ OEM ที่ใช้แรงงานทักษะสูง เช่น อุตสาหกรรมอัญมณี เครื่องประดับ ตั้งฐานผลิตในประเทศต่อไป เนื่องจากมีแรงงานที่สามารถทำงานหัตถกรรม (craft) ที่ประณีต โดยกลุ่มที่ผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มสูงนี้ ยังสามารถคงฐานผลิตในประเทศได้ และแรงงานไทยที่มีฝีมือประณีตเป็นที่ยอมรับ มีผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
ผู้ประกอบการ ODM และ OBM รูปแบบธุรกิจเน้นผลิตสินค้าที่มีดีไซน์การออกแบบและคุณภาพที่เป็นเอกลักษณ์ โดดเด่นแตกต่างจากตลาด ผู้ประกอบการต้องการปัจจัยสนับสนุนความสามารถในด้านการออกแบบ การตลาด การสร้างแบรนด์ และภาพลักษณ์ของประเทศ
สำหรับผู้ประกอบการ ODM ยังคงกิจกรรมการออกแบบในประเทศได้ เนื่องจากต้องใช้แรงงานทักษะสูง โดยว่าจ้างให้โรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน ผลิตตามแบบที่ออกแบบ ผู้ประกอบการ OBM ยังคงสามารถมีกิจกรรมการออกแบบในประเทศ แต่ต้องลงทุนทำการตลาดและกระจายสินค้าในประเทศเป้าหมาย รวมถึงการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e – commerce) เพื่อมุ่งเป้าหมายเข้าถึงลูกค้าในต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยความสำเร็จไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ ODM และ OBM นอกจากการพัฒนามูลค่าเพิ่ม ความสามารถ ในการออกแบบ จำเป็นต้องมีเงินทุนที่มากพอ มีความสามารถในการจับทิศทางผลิตภัณฑ์ แนวโน้มความต้องการในตลาด ประสิทธิภาพการผลิตและช่องทางกระจายสินค้าที่ดีพอด้วย
“ประเทศไทยยังขาดบุคลากรด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้านการตลาดและการผลักดันขับเคลื่อนสร้างแบรนด์สินค้า โดยภาพลักษณ์ของประเทศที่ยังไม่เข้มแข็งเพียงพอที่จะสนับสนุนการพัฒนาให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างแบรนด์ แม้สินค้าไทยจะเป็นที่ได้รับความนิยมและยอมรับเรื่องของคุณภาพ ซึ่งในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยก็ยังไม่พร้อมกับการผลิต Technical textile ที่ยังต้องการการวิจัยและพัฒนาอีกมาก”
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในอีคอนนิวส์ เมื่อ 12 กันยายน 2559 ในชื่อ: ยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแฟชั่นสู่ตลาดอาเซียน