การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) ทำให้ประเทศไทยต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การมีระบบการดูแลระยะยาว (Long-term care) และระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือแบบประคับประคอง (Palliative care)
เพราะที่ผ่านมา รัฐยังไม่มีการเตรียมพร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ชัดเจนและครอบคลุมอย่างทั่วถึง (inclusive) โดยเฉพาะ การขาดกลไกทางการเงินการคลังในการสนับสนุน ระบบการดูแลระยะยาว (Long-term care) และระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Palliative care) ซึ่งทั้งสองระบบจะช่วยให้ระบบการจัดการใช้เตียงในสถานพยาบาลมีประสิทธิภาพได้มากขึ้น และสามารถรักษาชีวิตคนได้อีกจำนวนมาก รวมทั้งลดภาระต่างๆ ในการดูแลผู้สูงอายุให้แก่ทั้งตัวผู้สูงอายุเองและครอบครัว
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จึงได้ร่วมศึกษา financing การดูแลผู้ป่วยระยะยาวและผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อประเมินความต้องการการดูแลผู้ป่วย (ผู้สูงอายุและไม่สูงอายุ) กับความต้องการบุคลากรระยะยาว (Long Term Care need) ของประเทศไทย พร้อมกันนี้ยังศึกษาบทบาทของรัฐ เอกชนในการจัดรูปแบบการดูแลระยะยาว รวมทั้งการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น ที่รวมไปถึงวิธีการทางการเงินการคลัง และการกำกับภาคเอกชนในการให้บริการดังกล่าว
เนื่องจาก การเตรียมความพร้อมโดยการวางระบบการดูแลผู้สูงอายุที่ดี ภายใต้การประสานร่วมมือกันของทุกภาคส่วน นอกจากจะทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพ ความพร้อมรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว ยังช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีพในบั่นปลายของชีวิตได้อย่างมีความสุข และมีคุณภาพ
เทปบันทึกงานสัมมนา
เอกสารประกอบการสัมมนา พร้อมรับสังคมสูงวัย: วางระบบดูแลผู้ป่วยระยะยาว กับ ทางเลือกระยะท้ายของชีวิต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง