ยงยุทธ แฉล้มวงษ์
นับตั้งแต่ประเทศไทยขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ (สำหรับแรงงานแรกเข้า) เมื่อเดือนเมษายน 2555 จำนวน 7 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล 5 จังหวัด และจังหวัดภูเก็ตเป็น 300 บาท และขึ้นจังหวัดที่เหลือเป็น 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ทำให้ทุกจังหวัดมีค่าจ้างเท่ากันต่อเนื่องมาอีก 2 ปี คือ ปี 2557-2558 โดยไม่มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อเปิดโอกาสให้สถานประกอบการมีการปรับตัวกับค่าจ้าง ซึ่งผลปรากฏว่า ในภาพรวมยังมีแรงงานทั่วประเทศไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 2.11 ล้านคน หรือ 14.8% โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีคนทำงานไม่เกิน 50 คน ((1-9 คน (33.6%) 10-49 (12%)) แสดงให้เห็นว่า สถานประกอบการขนาดเล็กยังไม่สามารถปรับตัวจ่ายค่าจ้างเต็ม 300 บาทได้เป็นจำนวนมาก
ตารางที่ 1 ร้อยละของแรงงานยังไม่ได้ค่าจ้าง 300 บาท ปี 2558
ขนาดสถานประกอบการ (คน) | % แรงงานไม่ได้รับต่ำกว่า 300 บาท (ล้านราย) | |
1-9 | 33.6 | (1.55) |
10-49 | 12.0 | (0.38) |
50-199 | 3.7 | (0.08) |
200+ขึ้นไป | 1.9 | (0.07) |
อื่นๆ | 11.7 | (0.01) |
รวมเฉลี่ย | 14.8 | (2.11) |
ที่มา: คำนวณจากการสำรวจการมีงานทำไตรมาส 3, 2558
ถ้าพิจารณาเป็นรายภาคจะเห็นว่า ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถานประกอบการขนาดเล็ก 1- 50 คน ยังปรับตัวได้ไม่ค่อยดีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมากระจายอยู่ทุกภาคถ้าพิจารณาลึกลงไปถึงจังหวัดที่ยังไม่สามารถปรับตัวได้ดีในการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ 10 ลำดับแรก ได้แก่
1) นราธิวาส (67%) 2) แม่ฮ่องสอน (58%) 3) ปัตตานี (55%) 4) ยะลา (55%) 5) ตรัง (52%) 6) ตาก (48%) 7) สตูล (48%) 8) กำแพงเพชร (47%) 9) แพร่ (46%) และ 10) ระนอง (4.3%) เป็นต้น
จริงอยู่แม้ว่าจะมีความพยายามจากตัวแทนฝ่ายสหภาพแรงงานนอกระบบเรียกร้องตั้งแต่ต้นปลายปี 2558 เพื่อขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน แต่คณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติก็ยังขอเวลาตรวจสอบข้อมูลจากคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว พบว่า จังหวัดที่มีความพร้อมที่จะเห็นด้วยที่จะให้ขึ้นค่าจ้างมีมากขึ้นเป็นหลัก 10 จังหวัด (ไม่ทราบจำนวนชัดเจน)
ถ้าพิจารณาถึงเหตุผลที่สมควรปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ คงเป็นเหตุผลด้านค่าครองชีพ ถ้าพิจารณาจากดัชนีค่าครองชีพจะขึ้นทุกปี แต่จะขึ้นไม่เท่ากัน ขอเน้นว่าไม่เท่ากันในแต่ละจังหวัด เช่น ทั่วประเทศ CPI เพิ่ม 6% นนทบุรีเพิ่ม 9% กระบี่ 4% เป็นต้นซึ่งผลก็คือ จะทำให้ค่าเงิน 300 บาทที่เคยได้รับ เมื่อถ่วงน้ำหนักด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้อำนาจซื้อของแรงงานลดลงทุกปี
แต่ก็มีปัจจัยที่ไม่สนับสนุนการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีหลายปัจจัย เช่น ดัชนีความสามารถในการจ่ายของนายจ้างยังไม่ดี โดยเฉพาะตัวเลขการส่งออก ทำท่าว่าจะติดลบหรือเป็นบวกเล็กน้อยมาหลายปีรวมทั้งปีนี้ ตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจยังไม่ค่อยดี ยังอยู่ในภาวะฟื้นตัวช้า และควันหลงจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศก็ยังไม่หมดไป เป็นต้น
ดังนั้น ข้อเสนอส่วนตัวของผู้เขียนคือ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจการส่งออกจะยังไม่ดี ถ้าจะรอให้พร้อมแรงงานที่ต้องพึ่งการขึ้นค่าแรงโดยอาศัยค่าจ้างขั้นต่ำเป็นฐานในการขึ้นค่าแรงอาจจะจนลงไปอีก จึงเสนอว่า ขอให้รัฐบาล (คณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติ) พิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำโดยอัตโนมัติตามสภาวะของค่าเฉลี่ยดัชนีค่าครองชีพในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาให้กับแรงงานทุกจังหวัดโดยอัตโนมัติ (ของขวัญปีใหม่) เนื่องจาก CPI แต่ละจังหวัดไม่เท่ากันค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับจะไม่เท่ากันในแต่ละจังหวัด
ทั้งนี้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำนี้ไม่ใช่การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใหม่แต่เป็นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้ขึ้นไปแล้วเพื่อให้แรงงานมีอำนาจซื้อเท่าเดิมเท่านั้นซึ่งไม่ต้องพึ่งคณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติมากนักเพียงแต่ช่วยพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำตาม CPI ก็น่าจะพอ ส่วนจะขึ้นค่าจ้างเพิ่มเติมจากค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับค่าครองชีพแล้ว (การขึ้นค่าจ้างประจำปี) เป็นเรื่องของผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่จะพิจารณากันต่อไปเองโดยคณะกรรมการค่าจ้างฯคงไม่ต้องไปยุ่งด้วยและจะให้ดียิ่งขึ้นไปอีกนายจ้างก็ควรขึ้นค่าจ้างตามความสามารถหรือสมรรถนะของแรงงานมากกว่าเป็น competency-base pay ก็จะทำให้ทั้งแรงงานและนายจ้างมีความพึงพอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย