tdri logo
tdri logo
1 ธันวาคม 2016
Read in Minutes

Views

การเปลี่ยนแปลงในตลาด สินค้าเกษตรและอาหารของจีน (1)

กัมพล ปั้นตะกั่ว

ปัจจุบันประเทศจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นเป้าหมายสำคัญของการลงทุนจากนักลงทุนในสาขาต่างๆ ทั่วโลก ด้วยจำนวนประชากรอันมหาศาลประกอบกับการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่าง รวดเร็ว ประชาชนจีนหลายราย ก้าวข้ามความยากจนกลายเป็นชนชั้นกลางของสังคม และ มีแนวโน้มว่าในอนาคตข้างหน้า ผู้บริโภคกลุ่มนี้ จะมีกำลังซื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและกลายเป็น กำลังหลักในการกระตุ้น เศรษฐกิจจีน ตลอดจน มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มการพัฒนาของตลาดในประเทศ ยิ่งประเทศจีนมีประชากรมากเท่าไร การบริโภคสินค้าเกษตรและอาหารต่างๆย่อมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้นตลาดสินค้า เกษตรและอาหารในประเทศจีนจึงเป็นตลาดที่นักลงทุนหรือผู้ประกอบกิจการด้านเกษตรและอาหารต่างมุ่งหมายจะเข้าไปทำกำไร อย่างไร ก็ดีการเข้าสู่ตลาดจีนจำเป็นต้องรู้และเข้าใจลักษณะตลาดสินค้าเกษตรและอาหารของจีน ในปัจจุบันให้ดี

ในปัจจุบันตลาดสินค้าเกษตรและอาหาร ของประเทศจีนไม่ได้มีรูปแบบตลาดดั้งเดิม แต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่มีช่องทาง การจัดจำหน่ายที่หลากหลาย ทั้งที่เป็น ดิสเคาท์สโตร์ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูปเปอร์มาร์เก็ต จากกลุ่มทุนตะวันตก เช่น วอลมาร์ท คาร์ฟู เทสโก้ กลุ่มทุนจากจีนเอง เช่น อาร์ทีมาร์ท และกลุ่มทุนจากประเทศไทย เช่น โลตัส หรือ แม้กระทั่งร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นจากญี่ปุ่น เป็นต้น จากข้อมูลพบว่าการเติบโตของ ธุรกิจค้าปลีกในประเทศจีนขยายตัวต่อเนื่อง ทุกปี ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปยังเมือง กวางโจว มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีนเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของตลาดสินค้าเกษตรภายใต้ โครงการจัดทำยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางการค้า แผนงานจัดทำ ยุทธศาสตร์ชาติ การค้าและยุทธศาสตร์การรวมกลุ่มภาคีธุรกิจ พบว่าตลาดสินค้าเกษตรและอาหารในกวางโจว มีการแข่งขันสูงมากภายหลังจากที่ภาษีนำเข้า ลดต่ำลงจากข้อตกลง WTO

ในเมืองใหญ่อย่างกวางโจว ตลาดสดแบบดั้งเดิมยังได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย สินค้าโดยทั่วไปจะเป็นสินค้าที่ผลิตในเมืองจีน เนื่องจากชาวจีนให้ความสำคัญกับอาหารที่มีความสดใหม่เน้นอาหารจำพวกพืชผัก แผงเนื้อสัตว์ไม่ใหญ่มากนัก แผงอาหารทะเลมีขนาดใหญ่และมีสินค้าหลากหลายมาก สำหรับแผงผลไม้ในตลาดสดแบบดั้งเดิมพบว่ามีการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศจำนวนมากทั้งผลไม้ในเขตร้อนจากฟิลิปปินส์และไทย รวมทั้งผลไม้ในเขตหนาวจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ลักษณะการจัดแผงของตลาดสดดั้งเดิมในจีนใกล้เคียงกับตลาดสดที่เราเห็นอย่างชินตาในประเทศไทย ทั้งรูปแบบการจัดวาง และผัง การออกแบบตลาด สำหรับเนื้อสัตว์โดยเฉพาะ สัตว์เล็กนิยมจำหน่ายสัตว์แบบมีชีวิต ภายนอก ตลาดยังมีรถบรรทุกขนาดเล็กจำหน่ายไก่สด มีชีวิต ที่จะเชือดเมื่อมีลูกค้าเข้ามาสั่ง อย่างไรก็ดี ในตลาดสดเริ่มมีบางร้านที่จัดจำหน่ายสินค้า มูลค่าสูงที่มีการแพ็คกิ้งสำเร็จรูป จำพวกผัก หรือเนื้อสัตว์แบบเป็นชิ้นส่วน

ในส่วนของตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตนั้นมีความหลากหลายของสินค้าสูงมาก โดยเฉพาะ สินค้ากลุ่มธัญพืช จำพวกถั่วเมล็ดแห้ง เครื่องเทศ โดยมีการจัดหาสินค้านำเข้าจาก ทั่วโลกมาจำหน่าย ในแผนกของสดมีสัตว์น้ำ ทั้งที่ยังมีชีวิต แช่เย็นและแช่แข็งจากหลายแหล่งทั่วโลกวางจำหน่าย เช่นลอปสเตอร์ จากบอสตัน กุ้งจากเมืองไทย ปลามูลค่าสูง ที่แล่สำเร็จรูปแช่แข็ง ส่วนหนึ่งในแผนกมีการจำหน่ายปลามีชีวิตทั้งปลาท้องถิ่นและปลานำเข้า แผนกของแห้งมีการจัดวางธัญพืชที่ หลากหลายชนิด รวมถึงแผนกผลไม้ที่นำเข้า จากต่างประเทศแต่สังเกตได้ว่าการจัดวางผลไม้ ในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต จะวางให้หลากหลาย ชนิด แต่ละชนิดมีปริมาณไม่มากนัก

ผู้บริหารตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตเล่าให้ฟังว่า การทำตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตในประเทศจีนจัดว่ามีความท้าทายสูง เนื่องจากวัฒนธรรมในการซื้ออาหารมีความแตกต่างจากโลกตะวันตก แต่ก็มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง จากการขยายตัวของเมืองฝั่งตะวันออก ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชนชั้นกลางที่มี อายุไม่สูง แต่อย่างไรก็ดีกลุ่มตลาดไฮเปอร์ มาร์เก็ตได้จัดให้มีการส่งเสริมการขายในกลุ่มที่ลูกค้าสูงอายุมากขึ้น ขณะที่ในตลาดซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้านั้นบรรยากาศค่อนข้างเงียบชั้นวางมีของสดขายไม่มากนัก มักเป็นสินค้าจำพวกผลไม้สินค้าโดยส่วนใหญ่เป็นอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแห้งที่นำเข้าจากต่างประเทศ ในแผนกขนมมีการจัดชั้นแยกตามแหล่งนำเข้า ถือเป็นโซนการขายสินค้าที่สำคัญของตลาดซูเปอร์มาร์เก็ต จากสภาพตลาดดังกล่าวเห็นได้ว่าตลาดของจีนมีการแข่งขันภายใต้ความหลากหลายและเปิดกว้าง ซึ่งโครงสร้างการค้าในรูปแบบนี้ เป็นโครงสร้างที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภคทั่วไปมากขึ้น เนื่องจากเดิมประเทศจีนเกิดภาวะที่ผู้ประกอบการในประเทศละเลยหรือ จงใจปลอมปนอาหาร จนกระทั่งกระทบความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง ทางออกของรัฐบาลจีนจึงต้องเปิดให้เกิดการแข่งขันในตลาดอาหารให้ประชาชน มีทางเลือก ในขณะเดียวกันก็เป็นการกดดันให้ผู้ผลิตในประเทศปรับตัวเอง

ในคราวต่อไปจะผู้เขียนจะเล่าถึงตลาดค้าส่งอาหารทะเล ตลาดผลไม้ และร้านอาหารไทยในประเทศจีน ที่ผู้เขียนได้ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ประกอบการพร้อมกับ กลยุทธ์ที่ประเทศต่างๆ เข้าไปทำตลาดในประเทศจีนที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการกำหนดกลยุทธ์ทางการค้าของไทย ในสภาพ ที่ตลาดจีนกำลังเปลี่ยนแปลงและภาคธุรกิจสินค้าเกษตรและอาหารไทยต้องปรับตัวตามให้ทัน

 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ วาระทีดีอาร์ไอ: การเปลี่ยนแปลงในตลาด สินค้าเกษตรและอาหารของจีน (1) เมื่อ 1 ธันวาคม 2559

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด