ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
การส่งเสริมและการสร้างแบรนด์สินค้า เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ได้ยินกันมานานแล้ว แต่ที่น่าสนใจคือ การสร้างและผลักดัน แบรนด์ระดับประเทศ หรือ “แบรนด์แห่งชาติ” (Nation Branding) ให้เกิดขึ้นอย่างเป็น รูปธรรม
จากการศึกษาการจัดทำยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางการค้า เพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่ดีของรัฐในการส่งเสริมการส่งออก ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดทำให้กับสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ พบว่า การสร้างชื่อสินค้าให้ติดตลาดเป็นการสร้างข้อได้เปรียบในการทำการค้า แต่การสร้างตราสินค้าหรือ แบรนด์ (brand) ให้เป็นที่รู้จักเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง จึงมีเพียงแต่บริษัทขนาดใหญ่ที่จะสามารถสร้างแบรนด์เพื่อทำตลาดในตลาดโลกได้เท่านั้น ดังนั้นเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าการส่งออกแก่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการทุกระดับ ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทสนับสนุนการสร้างแบรนด์สินค้าประเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือเปิดทางให้ภาคธุรกิจไทยออกไปโตต่างประเทศได้
ตัวอย่าง 2 ประเทศที่ทีดีอาร์ไอศึกษา แสดงให้ถึงการให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์การสร้างแบรนด์ประเทศ (Nation Branding) หรือแบรนด์แห่งชาติ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการท่องเที่ยว และเป็นเครื่องมือในการรับประกันคุณภาพสินค้าของประเทศ เช่น ประเทศนิวซีแลนด์รณรงค์ให้มีการใช้ “แบรนด์นิวซีแลนด์ (Brand New Zealand)” ตั้งแต่ปี 2542 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิง ธรรมชาติ พร้อมสโลแกนที่ว่า “100% Pure New Zealand” ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นธรรมชาติแบบ clean and green ของนิวซีแลนด์
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากสโลแกน “100% Pure New Zealand” ได้ถูกขยายผลไปสู่ ความพยายามในการสร้างแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์อื่นที่มาจากธรรมชาติ เช่น แบรนด์ “Fonterra” เป็นแบรนด์ที่ใช้กับอุตสาหกรรมสินค้าเพื่อการบริโภค แบรนด์ “Beef & Lamb” เป็นแบรนด์ที่ใช้เฉพาะกับผลิตภัณฑ์ที่มาจากฟาร์ม เป็นต้น แต่ข้อพึงระวังของการสร้างแบรนด์แห่งชาติ ดังกล่าว คือ การสร้างมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อรับประกันคุณภาพของสินค้า ไม่ใช่เป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อ
จากความสำเร็จในการสร้างแบรนด์แห่งชาติดังกล่าวทำให้ประเทศนิวซีแลนด์ติดอันดับ 1 ใน 10 ของแบรนด์แห่งชาติด้านการท่องเที่ยว และติดอันดับ 1 ใน 20 ด้านผลิตภัณฑ์จาก 100 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจัดอันดับโดย บริษัท Brand Finance ซึ่งเป็นบริษัทประเมินมูลค่าแบรนด์ระดับโลก
ในขณะที่ประเทศตุรกีได้ให้ความ สำคัญกับการพัฒนาแบรนด์ประเทศเพื่อการส่งออกสินค้าโดยเฉพาะ รัฐบาลตุรกีได้ริเริ่มโครงการสร้างแบรนด์ “Turquality” ในปี 2548 เพื่อพัฒนาและส่งเสริมแบรนด์ประเทศ ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ภายใต้วิสัยทัศน์ ในการดำเนินงาน “Turquality, Bringing Turkey’s Best to the World” รัฐบาลตุรกีได้เริ่มส่งเสริมการสร้างแบรนด์ประเทศจากอุตสาหกรรมสิ่งทอเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมมากที่สุด มีบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมมากกว่า 80 บริษัท ซึ่งนโยบายการสร้างแบรนด์ “Turquality” ดังกล่าวไม่ได้เน้นเฉพาะแค่การสร้างแบรนด์ประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาในทุกด้าน ของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงคุณภาพการผลิต การกำหนดแผนธุรกิจเชิงกลยุทธ์ ตลอดจน การพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้เติบโตไปข้างหน้า ทำให้แบรนด์ “Turquality” ได้รับการ ยอมรับจากทั่วโลกด้านผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และในปี 2559 บริษัท Brand Finance ซึ่งเป็นบริษัทประเมินมูลค่าแบรนด์ระดับโลก ได้จัดอันดับแบรนด์ “Turquality” ให้อยู่อันดับที่ 19 จากทั้งหมด 100 ประเทศทั่วโลก
หากมองในมุมของประเทศไทย การสร้างแบรนด์ประเทศไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ภาครัฐเองได้พยายามสร้างแบรนด์ประเทศไทยมาไม่น้อย เช่น “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ (Amazing Thailand)”ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ใช้ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ของประเทศไทย “เครื่องหมายมือพนม”เป็นแบรนด์ที่ใช้รับรองข้าวหอมมะลิของ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อใช้รับรองว่าผลิตภัณฑ์นี้เป็นข้าวที่ได้มาตรฐาน ผลิตและบรรจุในประเทศไทยและได้รับการ ยอมรับทั่วโลก
อีกทั้งยังเคยพยายามสร้างแบรนด์ “Thailand’s Brand ” สำหรับสินค้าทั่วไป แต่ยังไม่ปรากฏผลความสำเร็จชัดเจนเท่าใดนักและยังไม่พบว่ามีการประเมินผลความสำเร็จ โดยเฉพาะกับผู้ซื้อและผู้บริโภคชาวต่างชาติ ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐควรเดินหน้าต่อ ในปี 2560 ที่กำลังจะถึงนี้ คือ การเร่งพัฒนา และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่แบรนด์แห่งชาติ ให้มีความโดดเด่นควบคู่ไปกับการสร้างขีด ความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการพัฒนามาตรฐานสำหรับสินค้าและบริการให้เป็นที่ยอมรับของสากลเพื่อรองรับการสร้างแบรนด์ประเทศไทยให้ติดตลาดและให้เป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ
โดยอาจเริ่มที่สินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปโดยเฉพาะสินค้าประเภทผักและผลไม้ ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมให้เกษตรกร และ SMEs ที่ผลิตสินค้าได้ตามมาตรฐานสามารถใช้แบรนด์ประเทศไทยทำการค้าในตลาดโลกได้ นอกจากสินค้าเกษตรและอาหารแล้ว ประเทศไทยยังมีความพร้อมด้านธุรกิจบริการ สุขภาพและสปา ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่รัฐ อาจเข้ามาส่งเสริมให้มีการสร้างแบรนด์แห่งชาติ หากทำได้เช่นนี้ ภาคธุรกิจทั้งรายเล็กและรายใหญ่ต่างก็จะมีศักยภาพนำประเทศก้าวสู่การเป็น “ชาติการค้า” ได้เช่นเดียวกัน
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 29 ธันวาคม 2559 ในชื่อ สร้าง ‘แบรนด์แห่งชาติ’ กลยุทธ์ทางการค้าที่ไทยต้องไปต่อ