tdri logo
tdri logo
23 กุมภาพันธ์ 2017
Read in Minutes

Views

‘พลังงานทดแทน’ ดันให้เดินหน้า หรือดึงให้ถอยหลัง

วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ศาลปกครอง มีคำพิพากษาให้บริษัททำธุรกิจโรงไฟฟ้ากังหันลม เทพสถิต วินด์ฟาร์ม ยุติโครงการติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือพื้นที่ของ ส.ป.ก. ทั้งที่บริษัทได้รับอนุญาตให้ทำสัญญาเช่าที่ดิน และเริ่มดำเนินการพัฒนาโครงการไปแล้ว

สาเหตุที่เกิดปัญหาลักษณะนี้เนื่องจาก นโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทน ที่กระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานผลักดันให้โรงไฟฟ้าพลังงานลมสามารถเช่าพื้นที่ในเขต ส.ป.ก.ได้ โดยที่ยังไม่ได้แก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกฎหมายการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งกำหนดให้พื้นที่ของ ส.ป.ก. ใช้เพื่อทำเกษตรกรรมหรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรโดยตรงเท่านั้น

อีกทั้งไม่ได้มีการตีความที่ชัดเจนว่ากิจกรรมที่สร้างประโยชน์แก่เกษตรกรโดยตรงนั้นรวมการจ่ายค่าเช่าที่ให้กับเกษตรกร หรือไม่ ศาลปกครองจึงตีความตามกฎหมายและตัดสินให้ยุติโครงการ

แม้ว่าในขณะนี้กระทรวงพลังงานและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะหารือกัน เพื่อหาทางออกและแนวทางการชดเชยความเสียหายให้กับผู้ประกอบการที่ประสบปัญหานี้ แต่การชดเชยความเสียหาย ไม่ว่า จะเป็นการชดเชยด้วยตัวเงิน หรือการปรับแก้สัญญาเช่าที่ ส.ป.ก. ให้เป็นไปตามกฎหมายในภายหลังนั้น คงไม่สามารถ ชดเชยความสูญเสียโดยรวมที่เกิดขึ้นได้ เพราะเหตุการณ์นี้ได้ทำให้ผู้ประกอบกิจการพลังงานทดแทนรายอื่นๆ รวมถึงสถาบัน การเงิน เกิดความไม่มั่นใจและเผชิญกับความไม่แน่นอน ว่าโครงการที่ได้รับอนุมัติไปแล้วจะถูกยกเลิกขึ้นมาในอนาคต และ อาจส่งผลให้ผู้ลงทุนรายใหม่หลายราย ตัดสินใจไม่ลงทุนตั้งแต่แรก

เหตุการณ์ในครั้งนี้ สะท้อนอุปสรรค สำคัญต่อการพัฒนาพลังงานทดแทน ของประเทศ 2 ประการ คือ กฎระเบียบ ที่มีจำนวนมาก และความไม่แน่นอนของสถานการณ์การลงทุน

ประการแรก ขั้นตอนการขออนุญาตผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน มีกฎระเบียบที่ซับซ้อนยุ่งยากและมีหน่วยงานรัฐเกี่ยวข้องจำนวนมาก เช่น การขออนุญาตติดตั้ง ระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคา กรณีบ้านอยู่อาศัย ซึ่งเป็นกรณีที่ซับซ้อนน้อย ที่สุด ต้องให้วิศวกรโยธารับรองว่าโครงสร้างอาคารเป็นไปตามกฎกระทรวงหรือไม่

ในกรณีที่ไม่เป็นไปตามกฎ ก็ต้องขอ ใบอนุญาตดัดแปลงอาคาร (อ.1) จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนดำเนินการติดตั้งแผง เมื่อดำเนินการติดตั้งแผงโซลาร์เสร็จเรียบร้อย แล้ว ต้องได้รับการตรวจสอบระบบแผงโซลาร์ การเชื่อมต่อ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้เป็นไป ตามข้อกำหนดการเชื่อมต่อโครงข่ายของ การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (grid code) ประกอบกับทำหนังสือแจ้งยกเว้นการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับ ใบอนุญาต ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.)


สรุป กว่าจะดำเนินการขอใบอนุญาตต่างๆ และรับการตรวจสอบจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจนครบ ก็ใช้เวลาหลายเดือนหรือ หลายปี และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพิ่มขึ้น อีกมาก หรือแม้ จะผ่านการตรวจสอบและได้ ใบอนุญาตครบแล้ว ก็อาจประสบปัญหาเดียวกับ เทพสถิต วินด์ฟาร์ม ที่ถูกตัดสินให้ต้อง ยุติโครงการในภายหลัง เพราะศาลปกครองวินิจฉัยว่าไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบบางอย่าง

ประการที่สอง สถานการณ์การลงทุนในประเทศไทยมีความไม่แน่นอนสูงโดยเห็นได้ชัดจากนโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทนของประเทศไทยที่ขาดความต่อเนื่อง โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ที่ผ่านมา มีการเปิดรับซื้อเป็นช่วงๆ แล้วก็ปิดไป ไม่แน่นอนว่าจะรับซื้ออีกเมื่อใด ด้วยราคาเท่าไหร่ ในรูปแบบใด ตัวอย่างล่าสุดคือโครงการนำร่อง ติดตั้งโซลาร์รูฟเสรี 100 เมกะวัตต์ เฟสแรก ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 และกำหนดว่าจะไม่รับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตได้ ส่วนเกิน ต่อมาเมื่อต้นปี 2560 มีข่าว การพิจารณาโครงการนำร่องเฟส 2 ที่จะ กลับมาให้มีการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราที่ต่ำกว่า 2 บาท รูปแบบนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปมานี้ก่อให้เกิดความสับสนแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าและนักลงทุนเป็นอย่างมาก ซึ่งนำไปสู่ การชะลอการลงทุน หรือแม้กระทั่ง การหันไปลงทุนในเทคโนโลยีอื่นแทน

ปัญหาความไม่แน่นอนอีกรูปแบบหนึ่ง คือกรณีการตีความกฎระเบียบต่างๆ ที่มีผล บังคับใช้ย้อนหลังได้แม้ว่าโครงการได้รับ การอนุมัติไปแล้ว ปัญหานี้เห็นได้ชัดจากกรณี เทพสถิต วินด์ฟาร์ม ซึ่งส่งผลให้ผู้ลงทุน รายอื่นๆ และผู้ที่คิดจะลงทุนในอนาคต เกิดความวิตกว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นกับตน จนตัดสินใจไม่ลงทุนในพลังงานทดแทนเลย ก็เป็นได้

ในปัจจุบันรัฐยังคงใช้วิธีการรับซื้อพลังงานทดแทนเป็นมาตรการสำคัญในการ ส่งเสริมพลังงานทดแทนในประเทศไทย ซึ่งการอุดหนุนผ่านทางการรับซื้อนี้จะสร้างภาระให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในช่วงเวลาปัจจุบันที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงาน แสงอาทิตย์และพลังงานลม ลดลงอย่างรวดเร็วจนเกือบเท่าราคาไฟฟ้าขายปลีกแล้ว รัฐบาล อาจต้องย้อนกลับมาทบทวนว่าอุปสรรคด้าน ราคาของเทคโนโลยี หรืออุปสรรคด้านกฎระเบียบ และนโยบายกันแน่ ที่กำลังฉุดรั้งการลงทุนในพลังงานทดแทนของประเทศไทยไว้

หากรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงพลังงาน สามารถเริ่มต้นหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนและปรับลดระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการประกอบกิจการพลังงานทดแทนลง พร้อมทั้งกำหนดนโยบาย การสนับสนุนพลังงานทดแทนในระยะยาว ที่ชัดเจน ก็จะช่วยลดต้นทุนโดยรวมในการ ประกอบกิจการพลังงานทดแทน และเพิ่ม ความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนได้

ซึ่งการลดต้นทุนและสร้างความเชื่อมั่นนี้ อาจเพียงพอแล้วที่จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุน ในพลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้น โดยที่รัฐ และผู้ใช้ไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องควักกระเป๋าเพื่ออุดหนุนพลังงานทดแทนมากมาย อย่างที่ผ่านมา


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ในกรุงเทพธุรกิจ: คอลัมน์: วาระทีดีอาร์ไอ: ‘พลังงานทดแทน’ดันให้เดินหน้า หรือดึงให้ถอยหลัง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด