เล่นไปอย่าให้ใครโกง

มาร่วมกันค้นหาคำตอบการคอร์รัปชันจากบอร์ดเกม The Trust

“มีคนบอกว่า การต่อต้านคอร์รัปชันเป็นปัญหา คลาสสิก ไม่สามารถแก้ได้ เราเชื่อว่าแก้ได้ แต่ต้องหาแนวร่วม และคงดีกว่าหาคนหน้าเดิมๆ มาคุยกัน เพื่อแก้ปัญหานี้” ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในวันเปิดตัวบอร์ดเกมเพื่อสังคม

ส่วนแนวทางใหม่ที่ อาจารย์สมเกียรติพยายามทำ น่าจะเป็นอีกแรงในการกระตุ้นให้เห็นว่า เราต้องช่วยกันตรวจสอบการคอร์รัปชัน “ในอดีตเชื่อกันไปแล้วว่า นักการเมืองคอร์รัปชันได้ แต่ขอให้มีโครงการออกมา เท่าที่ปรากฏไม่มีการคอร์รัปชันใด ไม่ก่อให้เกิดต้นทุนประชาชน”

แม้คนค่อนประเทศจะเชื่อเช่นนั้น แต่ก็มีคนคิดต่าง… “เพราะประเทศไทยมีการตรวจสอบที่อ่อนแอมาก ทำให้เกิดการคอร์รัปชันสูง” แดนนี่-โสรวาร ศิริพงศ์ปรีดา นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้พัฒนาเกม The Trust ร่วมกับ ต้า-ภาสกร ยูถะสุนทร์ และ คิว-จิรายุ กานต์ปริยสุนทร ในนามบริษัท บลูสเปล จำกัด กล่าว

เมื่อมีการประกวดบอร์ดเกมในเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน พวกเขาได้พัฒนาเกม The Trust เล่นไป อย่าให้ใครโกง ร่วมประกวดจนได้รางวัลชนะเลิศจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และสำนักงานสนับสนุนกองทุนวิจัย (สกว.)

พีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์ ผู้จัดการด้านงานสร้างสรรค์และสื่อสารสาธารณะ ทีดีอาร์ไอ บอกว่า ที่ผ่านมา งานของทีดีอาร์ไอไม่เคยมีคนสนใจแชร์และไลค์มากมายขนาดนี้ มียอดตัวเลขคนเข้ามาดูหลักแสน เพราะเราจัดกิจกรรมท้าทายความคิด ประกวดบอร์ดเกม หันมาทำกิจกรรมใหม่ๆ เชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้การคอร์รัปชันผ่านบอร์ดเกม ทำให้เป็นเรื่องสนุกและได้ความรู้ “เป็นการต่อต้านคอร์รัปชันโดยใช้สื่อใหม่ คุยกับคนรุ่นใหม่” “เราตั้งชื่อการ์ดเกมล้อเลียนโครงการภาครัฐ อาทิ รับจำนำข้าวเกรียบ, เรือดำน้ำอัดลม, อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำตา ฯลฯ โครงการที่มีเรื่องอื้อฉาว เราไม่ใช้ชื่อจริง เพราะบางโครงการยังไม่ตัดสิน ซึ่งเราก็คิดว่า เด็กรุ่นใหม่จะได้เรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยผ่านเกม เราไปทดลองให้เด็กๆ เล่นเกมนี้หลายรุ่นแล้ว” ภาสกร หนึ่งในผู้พัฒนาเกม The Trust เล่า

หากใครที่ไม่เคยเล่นบอร์ดเกม ก็คงคิดว่าเล่นยาก และเมื่อเกมวางอยู่ตรงหน้า แดนนี่ อธิบายว่า นี่เป็น Party Board Game เล่นง่าย ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที เกมแบบนี้เหมาะกับการพกพาไปเล่นตามที่ต่างๆ

“บางคนไม่รู้ว่าบอร์ดเกมคืออะไร ก็บอกว่า เกมเศรษฐี จริงๆ แล้วเกมเศรษฐีเป็นตัวอย่างที่แย่มาก การเล่นขึ้นอยู่กับดวง จริงๆ แล้วบอร์ดเกมมีหลายแบบ บอร์ดเกมวางแผนกลยุทธ์ก็มี ไม่ใช่การเสี่ยงโชค แต่ใช้ความคิด เกมที่พวกเราคิดขึ้นเป็นปาร์ตี้เกม เวลาเจอเพื่อน แทนที่จะแฮงเอ้าท์กินเหล้า เราก็แฮงเอ้าท์เล่นบอร์ดเกม เล่นไป คุยไป” ระหว่างที่ลองเล่นบอร์ดเกมร่วมกันสี่คน ภาสกร และโสรวาร จะค่อยๆ อธิบายวิธีการเล่นโดยใช้เวลาเกือบชั่วโมง แต่ละคนจะได้อุปกรณ์การเล่น ฉากเล็กๆ เงิน ลูกเต๋า ฯลฯ เมื่อเกมจบ หากใครได้เงินมากที่สุด ก็คือ ผู้ชนะ

“บอร์ดเกมนี้ เราจำลองการจัดซื้อจัดจ้างผ่านการประมูลโครงการ ผู้เล่นจะเล่นได้สองบทบาท คือ โกหกหรือไม่โกหก ถ้าไม่เชื่อใจกันก็ลงการ์ดทนายความฟ้องร้องตรวจสอบได้ และทุกอย่างมีต้นทุน ถ้าฟ้องผิดตัว หากเขาพูดความจริง ก็ต้องเสียเงินให้รัฐ แต่ถ้าจับได้ว่าทุจริต คนที่จับได้ก็ได้เงิน ส่วนใหญ่เกมจะสูสีกัน แต่จะได้เงินมากหรือน้อยอยู่ที่ผู้เล่น” ความสนุกในการเล่นเกมจะอยู่ที่การคาดเดาว่า คนที่เล่นเกมด้วย…โกง หรือเปล่า แต่ละคนจึงต้องมีศิลปะการสื่อสาร มีจิตวิทยา ทำให้ผู้เล่นคนอื่นตายใจ

ดังนั้น ผู้ชนะที่ได้เงินมากที่สุด อาจเป็นคนที่ไม่ถูกจับได้ว่าโกง หรือคนที่โกงได้เนียน หรืออาจเป็นคนไม่โกง แต่ใช้วิธีการตรวจสอบจับโกหกคนอื่นได้

“ฟ้องถูกได้เงิน ฟ้องผิดเสียเงิน ทุจริตไม่มีคนตรวจสอบก็ได้เงิน เล่นแต่ละรอบไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ยังมีตัวช่วยพวกการ์ดนายกรัฐมนตรี การ์ดเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้เล่นแต่ละคนเป็นได้ทั้งผู้ประมูลและผู้ตรวจสอบ เป็นการเล่นกับการโกหกของคน เป็นเรื่องจิตวิทยาอย่างหนึ่ง” โสรวาร เล่า ระหว่างทอดลูกเต๋า และบอกว่า ยังมีตัวช่วย ก็คือ พรรคพวก รวมถึงการจ่ายใต้โต๊ะ

ระหว่างเกมกำลังเข้มข้น ภาสกร เล่าต่อว่า การเล่นทุกครั้ง ถ้าไม่มีการฟ้องร้อง มันคือการเปิดช่องว่างให้คนโกงลอยนวล “ถ้าการประมูลงานทุกครั้งมีการตรวจสอบ ก็จะไม่มีใครโกง” ภาสกร เล่า และแดนนี่เสริมว่า “ผมพยายามเปรียบเทียบเกมกับโลกของความเป็นจริง เกมจำลองสถานการณ์จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ฟังก์ชันหลักที่ทำให้เราชนะการคิดเกมก็คือ ผู้ประมูล และการตรวจสอบ ถ้าเราเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นจริงมาใส่ในเกม ไม่สนุกหรอก เกมจะสอนคนได้ ต้องชี้ให้คนเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้น”
เกมจะสนุก แค่ไหนอยู่ที่ผู้เล่น ซึ่งการเรียนรู้การคอร์รัปชันผ่านบอร์ดเกมลักษณะนี้ เป็นอีกมิติในการสร้างองค์ความรู้

“เชคสเปียร์บอกว่า โลกนี้คือละคร เราอยากบอกว่าโลกนี้คือเกม เราจะเล่นเกมกันให้สนุก” ดร.สมเกียรติ กล่าว

เขาเชื่อว่า การทำงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ให้สังคม จำเป็นต้องคิดมุมใหม่ “เราพยายามสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เรากำลังทำเรื่องเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม ทดลองให้นักเรียนทำข้อสอบและตรวจสอบว่า การสร้างสิ่งแวดล้อมแบบไหน ทำให้คนซื่อสัตย์ และแบบไหนทำให้คนไม่ซื่อสัตย์ เมื่อไม่นานนี้งานวิจัยบางเรื่อง รัฐได้นำไปใช้ ทำให้เกิดกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ และเครื่องมือนโยบายใหม่ๆ การทบทวนกฎระเบียบโครงการ เพื่อลดโอกาสคอร์รัปชัน และลดต้นทุนการทำธุรกิจต่างๆ” แม้จะผลักดันให้เกิดความโปร่งใสในเชิงนโยบายได้บ้าง แต่สิ่งที่ ดร.สมเกียรติ เป็นห่วงมากที่สุด ก็คือ อยากให้ประชาชนเข้าใจเรื่องการคอร์รัปชันมากขึ้น การคอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องคนดี หรือคนไม่ดี

“ถ้าประชาชนไม่เข้าใจเรื่องการคอร์รัปชัน ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิผล เราสรุปสมการคอร์รัปชันไว้ว่า ระบบที่ดีต้องมีสามอย่างคือ การผูกขาดน้อยที่สุด, มีความโปร่งใสสูง และมีอำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐน้อยที่สุด”


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อ 12 กันยายน 2560 ในกรุงเทพธุรกิจ โดย เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ และ อนันต์ จันทรสูตร์