tdri logo
tdri logo
โครงการจัดทำระบบตัวชี้วัดอยู่รอด พอเพียง ยั่งยืน
13 เมษายน 2018

เนื้อหา บทคัดย่อ

นับเป็นเวลากว่า 45 ปีหลังการก่อตั้งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ การพัฒนาตามตําราแม่ฟ้าหลวงได้ถูกขยายผลจากพื้นที่ต้นแบบในโครงการพัฒนาดอยตุงฯ จังหวัดเชียงราย ไปสู่พื้นที่อื่นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

การพัฒนาพื้นที่ตามตําราแม่ฟ้าหลวง ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2515 โดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ผู้ทรงก่อตั้ง “มูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทยในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิดการพัฒนาทางเลือกในการดํารงชีวิตที่ยั่งยืน (Sustainable Alternative Livelihood Development) โดยมีพันธกิจสําคัญ คือ การผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการพัฒนา บูรณาการความร่วมมือ การให้คำปรึกษาและการฝึกอบรม พร้อมทั้งส่งเสริมให้การพัฒนาตามตําราแม่ฟ้าหลวง เป็นอีกหนึ่งแนวทางการพัฒนาหลักของประเทศไทย

โดย แนวทางการพัฒนาตามตำราแม่ฟ้าหลวง แบ่งระดับการพัฒนาออกเป็น 3 ขั้น ได้แก่ อยู่รอด พอเพียง และยั่งยืน หรือที่เรียกว่า “3S Model”

อยู่รอด (Survival) – ประชาชนรอดพ้นจากความอดหยากขั้นรุนแรง

พอเพียง (Sufficiency) – การยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ ความพอกินพออยู่

ยั่งยืน (Sustainability) – ความอยู่ดีกินดีนั้นมีความยั่งยืน

ปัจจุบันมีการจัดทำตามหลักวิชาการ และมีการเปรียบเทียบกับแนวทางการพัฒนาสากลมากยิ่งขึ้น อาทิ การกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ เป็นต้น

ทั้งนี้จะประกอบไปด้วย 3 เป้าหมายใหญ่ (Meta Goals) 21 เป้าหมาย (Goals) 48 เป้าประสงค์ (Targets) และ 93 ตัวชี้วัด (Indicators) เป็นการผสมผสานระหว่างตัวชี้วัดเดิมที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงจัดทำไว้ก่อนแล้ว ตัวชี้วัดที่เป็นระดับสากล และตัวชี้วัดที่เพิ่มเติมตามความเหมาะสมเพื่อให้ครอบคลุม เป็นมาตรฐานและยอมรับได้ในระดับสากล และสามารถนำไปใช้เป็นคู่มือหรือแนวทางการดำเนินโครงการเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล

เสนอต่อ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด