คุมกำเนิดห้างค้าปลีกใหม่ในอินโดนีเซีย

ศศิพงศ์ สุมา

ไม่นานมานี้ หลายท่านคงได้ทราบข่าวการเบรกกฎหมายควบคุมค้าปลีกของกระทรวงพาณิชย์ ที่มีสาระสำคัญว่า ประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นต้องออกกฎหมายค้าปลีกเพื่อมาควบคุมร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่ เนื่องจากการเติบโตของธุรกิจไม่ได้เกิดจากการผูกขาด แต่เกิดจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

โดยสาระสำคัญดังกล่าวมีที่มาจาก ผลการศึกษาวิจัยของทีดีอาร์ไอในโครงการ ศึกษาธุรกิจค้าปลีกค้าส่งที่เหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งพบว่าแนวโน้มการออกกฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อ “ควบคุมห้าง ค้าปลีกสมัยใหม่” มิให้ขยายตัว เพื่อ “คุ้มครองห้างค้าปลีกดั้งเดิม” โดยเฉพาะร้านโชห่วย และเป็นไปได้ว่า “ห้างค้าปลีกสมัยใหม่” ที่ผู้เสนอ กฎหมายของไทยต้องการจะควบคุม

จากข้อมูลของ Euromonitor ปี 2559 รายได้ธุรกิจ “ร้านสะดวกซื้อ” มีมูลค่า 3,548 ล้านบาท โดยอัตราการเติบโตเฉลี่ยของรายได้ ตั้งแต่ปี 2554-2559 สูงถึงร้อยละ 10.2 และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี เท่ากับ 7.3% ในอีก 5 ปีข้างหน้า

คำถามคือ เราควรออกกฎหมายยับยั้งการขยายตัวของร้านค้าปลีกสมัยใหม่หรือไม่ และผลกระทบจะเป็นอย่างไรต่อผู้บริโภคและเศรษฐกิจของประเทศ ผู้เขียนจึงขอนำกรณีของประเทศอินโดนีเซียมาฉายภาพตัวอย่าง ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อแนวคิดการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกในไทย อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการกำกับควบคุมร้านสะดวกซื้อเข้มงวดมาก

ข้อมูลของ Euromonitor ปี 2559 ระบุว่า ธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมมีส่วนแบ่งในตลาดค้าปลีกโดยรวมถึงร้อยละ 80 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ การศึกษาพบว่าเป็นเพราะรสนิยมคนอินโดนีเซียที่ไว้ใจร้านค้าแบบดั้งเดิมว่ามีสินค้าที่สดกว่าร้านค้าสมัยใหม่ แต่แม้รสนิยมของผู้ซื้อจะเป็นไปในทางที่เป็นประโยชน์ ต่อร้านค้าดั้งเดิมแล้ว รัฐบาลก็ยังคงนโยบายและมาตรการจำกัดการขยายตัวของธุรกิจห้างค้าปลีกสมัยใหม่อย่างต่อเนื่อง

เช่น การจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างชาติ การจำกัดพื้นที่ที่สามารถประกอบกิจการได้ การกำหนดเงื่อนไขการขยายสาขา และเงื่อนไขเกี่ยวกับสินค้าที่วางจำหน่าย ทำให้ตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ในอินโดนีเซียไม่สามารถขยายตัวอย่างที่ควรจะเป็น อย่างกรณีการให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจค้าปลีกมีเงื่อนไขว่า ผู้ประกอบการจะต้องมีสาขาในจาการ์ตาให้ครบ 250 สาขา จึงจะ ขออนุญาตประกอบกิจการค้าปลีกได้ ส่งผลให้ ผู้ประกอบการใหม่ไม่สามารถเปิดสาขาใน ภูมิภาคได้ เช่น เซเว่นอีเลฟเว่นและแฟมิลี่มาร์ท ต้องใช้ใบอนุญาตร้านอาหารที่ได้รับจากกระทรวงการท่องเที่ยวแทนใบอนุญาตค้าปลีก

เซเว่นฯ ในอินโดนีเซียก่อนที่จะปิดตัวลง มีรูปแบบร้านค้าต่างจากประเทศอื่นๆ คือมีร้านอาหาร มีที่นั่งรับประทานอาหาร นอกจากนี้แล้วยังมีกฎระเบียบว่า 80% ของหน่วยในการจัดเก็บสินค้า (Stock Keeping Unit) ต้องเป็นสินค้าท้องถิ่น ทำให้ ความหลากหลายของสินค้ามีจำกัด และล่าสุด ที่ทำให้ธุรกิจตัดสินใจปิดตัวลงมาจากกฎระเบียบที่ห้ามจำหน่ายสินค้าที่มีแอลกอฮอลล์ เนื่องจากเซเว่นฯ มีรายได้ประมาณ 15% จากการจำหน่ายเบียร์ ซึ่งยังไม่รวมถึงรายได้ จากสินค้าที่อาจกินคู่กับเบียร์

แม้กฎระเบียบที่เข้มงวดเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ เซเว่นฯ ในอินโดนีเซียปิดตัวลงในเดือน มิ.ย.ปีที่ผ่านมา แต่ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อของอินโดนีเซียไม่พัฒนาเท่าที่ควร

กฎกติกาต่างๆ ทำให้ธุรกิจห้างค้าปลีก ตกอยู่ในมือของห้างค้าปลีกขนาดเล็ก 2 ราย ได้แก่ Indomart และ Alfamart  ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันสูงถึงร้อยละ 89.7 ของ ตลาดร้านค้าปลีกขนาดเล็ก (minimart) และ ร้านสะดวกซื้อ (convenient store) โดยแต่ละ รายมีจำนวนสาขามากถึง 1.4 หมื่นและ 1.1 หมื่นสาขาตามลำดับ ในขณะที่ เซเว่นฯ ที่ปิดตัว ไปมีเพียง 160 สาขาหลังจากเปิดบริการมา 8 ปี และร้านแฟมิลี่มาร์ท จากญี่ปุ่นมีเพียง 80 สาขา การสกัดกั้นห้างสะดวกซื้อจากต่างประเทศยิ่งตอกย้ำความยิ่งใหญ่ของร้านค้ารายเดิม ทั้ง 2 รายนี้

ในช่วงก่อนปี 2552 ร้านสะดวกซื้อในอินโดนีเซียให้บริการขายสินค้าธรรมดา แต่การเข้ามาของเซเว่นฯ ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อวงการร้านสะดวกซื้อเป็นอย่างมาก เช่น เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง และมีร้านอาหาร มีที่นั่งเล่น นั่งรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นรูปแบบที่แตกต่างจากเซเว่นฯ ในประเทศอื่นๆ  ที่สำคัญยังเป็นผู้นำในเรื่อง Digital Payments Ecosystem ที่สุดท้ายแล้วคู่แข่งรายใหญ่ ทั้ง 2 รายก็ได้นำรูปแบบบริการดังกล่าวไปปรับใช้ แต่เมื่อคู่แข่งรายเล็กได้ล้มหายตายจากไปแล้ว ยักษ์ใหญ่รายเดิมยังจะมีแรงกดดันให้ปรับปรุงรูปแบบหรือคุณภาพในการให้บริการอยู่หรือ?

กรณีของอินโดนีเซียแสดงให้เห็นว่ารสนิยมของผู้บริโภคในประเทศเป็นตัวกำหนดชะตากรรมของห้างค้าปลีก ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติใดหรือรูปแบบใด ถ้าผู้ประกอบการไม่สามารถเสนอบริการที่ดีและต่างจากร้านค้าปลีกอื่นๆ ได้ ดังเช่นในกรณีของเซเว่นฯ ก็ต้องปิดตัวไป

แต่ที่สำคัญคือ กฎระเบียบของรัฐควร เป็นกลาง ไม่ควรตัดแข้งตัดขาร้านค้าปลีก ประเภทใดประเภทหนึ่ง เพราะอาจเป็น การส่งเสริมร้านค้าอีกประเภทโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ และหากกฎมุ่งคุมกำเนิด ห้างค้าปลีกที่ต้องการจะเปิดใหม่ กฎดังกล่าว ก็จะลงโทษเฉพาะผู้เล่นรายใหม่ที่ยังไม่มีสาขาที่กระจายไปทั่วประเทศ

เช่นกรณี Alfamart หรือ Indomart ในอินโดนีเซียที่มีกว่าหมื่นสาขาก่อนที่จะมีมาตรการคุมกำเนิดห้างค้าปลีกสมัยใหม่ เช่นเดียวกับกรณีของไทย ถ้ามีรายใหญ่อยู่ในตลาดแล้ว การออกกฎหมายมาเพื่อคุมกำเนิด ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ แม้มีเจตนาที่ดี แต่อาจ เป็นการ “เตะหมูเข้าปากหมา” ก็ได้


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรก ใน วาระทีดีอาร์ไอ เมื่อ 16 สิงหาคม 2561