ภาครัฐ มีบทบาทอย่างมากในการจัดบริการทางสังคมด้านต่าง ๆ ให้แก่ประชาชน เช่น การศึกษา การส่งเสริมสุขภาพ เป็นต้น อย่างไรก็ดี การให้บริการทางสังคมของภาครัฐที่ผ่านมาเป็นไปในลักษณะแบบเหมาเข่ง (one size fits all) เช่น การจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการด้านสังคม และมาตรการทางภาษีเพื่อช่วยเหลือมูลนิธิ เพื่อการกุศลสาธารณะ เป็นต้น เนื่องจากภาครัฐมีทรัพยากรทั้งในรูปแบบของงบประมาณ บุคลากร และเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ อยู่อย่างจำกัด ทำให้บริการทางสังคมที่ผ่านมาของภาครัฐไม่สามารถตอบสนองต่อประชากรกลุ่มเฉพาะ เช่น คนพิการ เด็กด้อยโอกาส หรือผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS ซึ่งมีความต้องการบริการทางสังคมที่เฉพาะเจาะจง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคส่วนอื่นๆ ซึ่งเป็นสมาชิกของสังคมจะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการทางสังคม
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายประเทศได้มีการพัฒนาการให้บริการทางสังคมรูปแบบใหม่ที่ชื่อว่า ความร่วมมือที่เน้นผลลัพธ์เพื่อสังคม (Social Impact Partnership Model – SIP) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการออกแบบดำเนินการ และให้ทุนสนับสนุนโครงการที่เน้นเชิงป้องกัน (preventive) และให้ความช่วยเหลือแต่แรกเริ่ม (early intervention) เพื่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมทางบวกที่เป็นรูปธรรมและลดค่าใช้จ่ายงบประมาณรัฐในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น
โดย SIP model จะประกอบไปด้วย
- ผู้จ่ายเงิน (Payor) ส่วนใหญ่จะเป็นภาครัฐ ซึ่งจะทำหน้าที่การให้บริการทางสังคม โดยเลือกโครงการที่ต้องการใช้ SIP model และกำหนดเป้าหมายของโครงการให้ชัดเจน
- องค์กรที่ให้บริการทางสังคม (Social service provider) เช่น มูลนิธิหรือองค์กรสาธารณกุศล ทำหน้าที่ดำเนินงานตามเป้าหมายของโครงการให้ประสบความสำเร็จ มีประสิทธิภาพและสามารถวัดผลได้
- องค์กรตัวกลาง (Intermediary) จะทำหน้าที่ประสานงาน กำกับติดตามโครงการ บริหารและจัดสรรเงินทุนให้องค์กรที่ให้บริการทางสังคม
- ผู้ให้เงินลงทุน (Investor) คือ นักลงทุนภาคเอกชนหรือประชาชนทั่วไปที่สนใจ ซึ่งจะมาร่วมลงทุนในโครงการ เมื่อโครงการประสบความสำเร็จตามเป้าหมายจะได้รับเงินต้นคืน หรือถ้าสำเร็จเกินเป้าหมายของโครงการอาจจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน
ในปัจจุบันมีองค์กรภาคประชาสังคมที่ได้ตระหนักถึงความจำเป็นกับการตอบสนองต่อประชากรกลุ่มเฉพาะ เช่น มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ มูลนิธิพัฒนาศักยภาพคนพิการ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อ และองค์กรที่ทำงานด้าน HIV/AIDS ต่างๆ
อ่านเพิ่มเติมได้ใน กลไกในการประเมินผลกระทบทางสังคม (Social Impact Evaluation Mechanism) ระยะที่ 1 ซึ่งได้รับการอนุญาตจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการเผยแพร่งานวิจัย