ชวนพรรคร่วมคิด พลิกห้องเรียน เปลี่ยนไทยทันโลก

หน่วยงานภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership: TEP) x TDRI
วันที่2018-12-02
สถานที่Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

  • เอกสารประกอบการนำเสนอ

สถานการณ์การศึกษาไทย ในหัวข้อ ‘3 ปัญหาเก่า’ และ ‘2 ความท้าทายใหม่’ โจทย์ที่ระบบการศึกษาไทยต้องเผชิญ” โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ตัวแทนภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) และประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

Download (PDF, 1.62MB)

  • หนังสือ TEP Forum 2018 “ถึงเวลาเปลี่ยนการศึกษาไทย”


White Paper โจทย์ที่ระบบการศึกษาไทยต้องเผชิญ “3 ปัญหาเก่า” และ “2 ความท้าทายใหม่”

เนื้อหาด้านล่างนี้ เป็นเนื้อหาทั้งหมดจากเอกสาร White Paper ที่แจกให้กับผู้เข้าร่วมงาน ชวนพรรคร่วมคิด พลิกห้องเรียน เปลี่ยนไทยทันโลก เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2561 จัดทำโดยภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership: TEP) เพื่อเป็นสื่อกลางในการสนทนาอย่างต่อเนื่องกับพรรคการเมืองไทย โดยใช้การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เป็นจุดเริ่มต้นการสนทนา ทั้งนี้เพื่อให้เกิด “สัญญาประชาคม” ระหว่างพรรคการเมือง ในการกำหนดนโยบายการศึกษาของไทยให้มีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำมีประสิทธิภาพและมีเสถียรภาพพอที่จะทำให้เกิดการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ของคนไทยได้อย่างแท้จริง ทำให้คนไทยสามารถปรับตัวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้

โจทย์ที่ระบบการศึกษาไทยต้องเผชิญ “3 ปัญหาเก่า” และ “2 ความท้าทายใหม่”

ประเทศไทย จำเป็นต้องเตรียมคนรุ่นใหม่ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในศตวรรษที่ 21 โดยการปฏิรูปการศึกษาอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ นับตั้งแต่การออกพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติในปี 2542 มีความพยายามมากมายในการปฏิรูปทั้งที่ริเริ่มจากภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาชน ทว่า “3 ปัญหาเก่า” ที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ก็สะท้อนว่า ความสำเร็จในการปฏิรูปที่ผ่านมายังอยู่ในวงจำกัดมาก

ปัญหาประการแรก คือ คุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนที่ต่ำมาก ทั้งจากการวัดผลในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เช่น ในการทดสอบนานาชาติ PISA 2015 นักเรียนไทยมีผลการสอบในวิชาการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นพื้นฐานถึงร้อยละ 50 ร้อยละ 53 และร้อยละ 47 ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนว่านักเรียนไทยจำนวนมากไม่สามารถอ่านจับใจความและไม่สามารถประยุกต์ความรู้คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหาอย่างง่ายในชีวิตประจำวันได้ นอกจากผลสอบแล้ว นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายมากกว่าร้อยละ 60 ไม่รู้เป้าหมายของตนเอง ไม่รู้ว่าอยากเรียนอะไรหรืออยากทำงานด้านใด [1] และนักเรียนอาชีวะจำนวนมากเรียนจบออกมาเป็นแรงงานที่ไม่มีทักษะตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม [2]

ประการที่สอง คือ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูง ภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัวส่งผล อย่างยิ่งต่อเด็กแต่ละคนว่าเขาจะมีโอกาสเรียนในระดับสูงหรือไม่ และจะมีผลการเรียนอย่างไร จากการวิจัยของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พบว่า เยาวชนอายุ 15-17 ปี ประมาณ 240,000 คน ไม่ได้ศึกษาต่อมัธยมศึกษาตอนปลาย ปวช. หรือ กศน. หลังสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ เนื่องจากปัญหาความยากจน และเด็กอายุ 15 ปีจากครอบครัวที่ฐานะดีที่สุด 20% มีทักษะการอ่านดีกว่าเด็กจากครอบครัวฐานะแย่ที่สุด 20% หรือเทียบเท่ากับ 2.3 ปีการศึกษา นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบทก็เป็นปัญหาใหญ่ โดยพบว่าเด็กกลุ่มในโรงเรียนประจำหมู่บ้านนั้นมีทักษะการอ่านตามหลังนักเรียนในเมืองใหญ่ถึงเกือบ 3 ปีการศึกษา [3]

ประการที่สาม คือ ประสิทธิภาพต่ำ ในด้านงบประมาณ กระทรวงศึกษาธิการได้รับจัดสรรงบประมาณเป็นอันดับหนึ่ง ประมาณ 5.2 แสนล้านบาทในปี 2559 ซึ่งคิดเป็น 2.6 เท่าของงบประมาณเมื่อ 15 ปีก่อน [4] แต่ผลลัพธ์ทางการศึกษายังเป็นปัญหาดังที่กล่าวมาข้างต้น ในด้านเวลาเรียน เด็กไทยใช้เวลาในห้องเรียนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD แต่กลับมีคะแนนสอบเฉลี่ยต่ำกว่าในทุกวิชา

นอกจากต้องแก้ “3 ปัญหาเก่า” แล้ว ระบบการศึกษาไทยต้องเตรียมรับมือกับ “2 ความท้าทายใหม่” จากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรและพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด ซึ่งจะส่งผลต่อชีวิต ความเป็นอยู่ และการทำงานของคนไทยยุคต่อไป

ความท้าทายใหม่ประการแรก คือ สังคมไทยกลายเป็นสังคมสูงวัย เนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลงตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้การพัฒนาเด็กไทยเป็นโจทย์เรื่องคุณภาพมากกว่าปริมาณ นอกจากนี้ งานวิจัยของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลคาดการณ์ว่า ภายในปี พ.ศ. 2578 คนไทยจะมีอายุยืนยาวขึ้น จนมีจำนวนผู้สูงอายุเป็นสัดส่วนถึง 40% ของประชากรทั้งประเทศ แนวโน้มดังกล่าวส่งผลต่อการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจระหว่างประชากรอย่างมาก โดยประชากรวัยแรงงาน 2 คนจะต้องรองรับผู้สูงอายุ 1 คน [5] ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงต้องเร่งสร้างแรงงานทักษะสูงผ่านการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มผลิตผลทางเศรษฐกิจให้ทันกับจำนวนแรงงานที่ลดลง

ความท้าทายใหม่ประการที่สอง คือ การที่โลกเข้าสู่ยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี (Technology Disruption) จากการศึกษาของ TDRI พบว่าประเทศไทยมีแรงงานที่เสี่ยงต่อการถูกทดแทนสูงจากหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ประมาณ 8.3 ล้านคน ครอบคลุมทุกระดับการศึกษา ทั้งนี้ทักษะที่ยากจะถูกทดแทนในอนาคตคือ “ทักษะ 3H” ซึ่งได้แก่ความละเอียดประสาทสัมผัสและมือ (Hand) ความคิดสร้างสรรค์ (Head) และความฉลาดทางสังคม (Heart) แต่ทักษะเหล่านี้ยังไม่ได้รับความสนใจจากภาคนโยบายและไม่ถูกพัฒนาในห้องเรียนไทย [6]

“3 ปัญหาเก่า” และ “2 ความท้าทายใหม่” นี้ คือโจทย์สำคัญในการพัฒนาคนไทย ที่ต้องการความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคสังคม ในการหาคำตอบ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดคือ “การเตรียมคนไทยทุกช่วงวัยให้พร้อมใช้ชีวิตและสามารถสร้างคุณค่าในโลกที่เปลี่ยนแปลง”

การศึกษาปฐมวัย (0 – 5 ปี)

สถานการณ์ : ความจำเป็นดึงพ่อแม่ออกจากลูกเล็ก แม้รัฐช่วยแบ่งเบาภาระ แต่ยังลงทุนไม่มากพอ

1 ใน 3 ของเด็กเล็กในประเทศไทยมีพัฒนาการล่าช้าทั้งด้านร่างกาย สมอง สังคม และจิตใจ [7] สาเหตุหนึ่งเกิดจากขาดการดูแลส่งเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสม เพราะในปัจจุบัน มีเด็กเพียงร้อยละ 62 เท่านั้นที่ได้อยู่กับพ่อแม่ [8] ที่เหลือต้องอยู่กับปู่ย่าตายายหรือญาติ เนื่องจากพ่อแม่จำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานไปทำงานในพื้นที่อื่น และสถานประกอบการที่พ่อแม่เด็กย้ายไปทำงานก็ไม่ได้จัดให้มีสวัสดิการดูแลเด็กเล็ก

แม้ว่ารัฐ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เข้ามามีบทบาทในการดูแลเด็กปฐมวัยโดยการดำเนินการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ให้เด็กมีโอกาสที่เท่าเทียมกันมากขึ้นและแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ แต่ในภาพรวม รัฐก็ยังลงทุนน้อยเกินไป โดยในปี พ.ศ. 2559 งบประมาณรายจ่ายต่อหัวต่อปีในด้านการศึกษาแก่เด็กช่วงอายุ 2-5 ปี ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของรายจ่ายต่อหัวต่อปีของเด็กในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน [9] ส่งผลให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขาดแคลนทรัพยากร จากการสำรวจของกรมอนามัยพบว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกว่าครึ่งยังขาดความพร้อมในการดูแลเด็ก เช่น มีของเล่น และหนังสือนิทานไม่เพียงพอ [10] รวมถึงยังขาดครูพี่เลี้ยงที่มีความสามารถในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กเล็กอีกด้วย

นอกจากปัญหาขาดแคลนทรัพยากร การวางแผนดูแลเด็กปฐมวัยยังทำได้ยากเนื่องจากมีเจ้าภาพหลายรายในการจัดเก็บข้อมูล โดยไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน กล่าวคือ หากนับตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์มารดาจนถึงมีอายุ 6 ปี มีหน่วยงานภาครัฐอย่างน้อย 9 หน่วยงาน จาก 4 กระทรวง จัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กและข้อมูลการบริหารของแต่ละหน่วยงาน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีระบบการส่งผ่านข้อมูลระหว่างหน่วยงาน และข้อมูลเกือบทั้งหมดถูกนำไปใช้ภายในหน่วยงานที่จัดเก็บเท่านั้น [11] ทำให้การวางแผนดูแลเด็กเล็กที่จำเป็นต้องครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา ตลอดจนการสังคมสงเคราะห์แก่กลุ่มด้อยโอกาสไม่สามารถทำได้

“การลงทุนในเด็กปฐมวัยมีความคุ้มค่าสูงสุดเมื่อเปรียบกับช่วงอายุอื่น โดยมีอัตราผลตอบแทนถึง 7-10% ต่อปี เพราะการสร้าง ‘ทุนมนุษย์’ ตั้งแต่แรกเกิด ช่วยลดช่องว่างทางการเรียนรู้เมื่อเด็กโตขึ้น ลดปัญหาสังคม ทำให้มีผลตอบแทนต่อสังคมสูง”
— ศาสตราจารย์ James J. Heckman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล

ทางออก : ลงทุนเพื่อเพิ่มคุณภาพเด็กไทย

ข้อเสนอที่ 1 ลงทุนในพ่อแม่

พ่อแม่มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการด้านร่างกาย สมอง สังคม จิตใจของเด็ก ดังนั้น จึงควรสนับสนุนให้มีการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อสร้างทักษะในการเลี้ยงดูเด็กเล็กแก่พ่อแม่อย่างทั่วถึง เช่น สนับสนุนการจัดตั้ง “โรงเรียนพ่อแม่” ช่วยเหลือพ่อแม่ให้เข้าถึงศูนย์ดูแลเด็กเล็กเอกชนที่มีคุณภาพในราคาย่อมเยา รวมถึงการขยายเวลาลาหลังคลอดที่ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย เพื่อให้ทั้งพ่อและแม่ดูแลลูกเล็กได้ยาวนานขึ้น

ข้อเสนอที่ 2 ลงทุนในครูและสิ่งจำเป็นพื้นฐาน

รัฐบาลควรยกระดับศูนย์เด็กเล็กของรัฐ ด้วยการพัฒนาครูพี่เลี้ยงที่มีคุณภาพสูงให้มีจำนวนที่เพียงพอโดยกำหนดมาตรฐานของครูพี่เลี้ยงและฝึกอบรมให้ได้ตามมาตรฐาน เพิ่มสิ่งจำเป็นพื้นฐาน เช่น หนังสือ ของเล่น สนามเด็กเล่น ที่มีคุณภาพ ปลอดภัยและเหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กในแต่ละอายุ

ทั้งนี้ การลงทุนด้านทรัพยากรและการกำหนดมาตรฐานต่างๆ จะต้องอยู่บนพื้นฐานของการมีข้อมูลสถานการณ์เด็กปฐมวัยที่ถูกต้องและทันสมัย จึงควรสร้างระบบสารสนเทศที่เชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่ดูแลเด็กปฐมวัย ทั้ง 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข (ดูแลเด็กแรกเกิดในสถานพยาบาล) กระทรวงมหาดไทย (ดูแลศูนย์เด็กเล็กในสังกัด อปท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงศึกษาธิการ (ดูแลช่วงรอยต่อปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐาน)

ข้อเสนอที่ 3 ลงทุนในศูนย์พัฒนาเด็กในสถานประกอบการ

แม้ว่าการมีศูนย์พัฒนาเด็กในสถานประกอบการสามารถจูงใจลูกจ้างให้มาทำงาน และช่วยสร้างสถาบันครอบครัวที่อบอุ่นแก่สังคม สถานประกอบการขนาดใหญ่จำนวนไม่น้อยก็ยังไม่มีศูนย์พัฒนาเด็ก รัฐควรกำหนดให้สถานประกอบการขนาดใหญ่จัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโดยให้แรงจูงใจแก่สถานประกอบการและสนับสนุนด้านทรัพยากรบุคคลและองค์ความรู้

การศึกษาขั้นพื้นฐาน

สถานการณ์ : โรงเรียนขาดอิสระ บุคลากรขาดศักยภาพ และขาดประสิทธิภาพในการจัดการเรียนรู้

ปัญหาของการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ใช่ปัญหาขาดแคลนทรัพยากร แต่เป็นปัญหาเรื่องการขาดประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร เด็กประถมและมัธยมของไทยใช้เวลาเรียนในห้องเรียนมากกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แต่เวลาเรียนส่วนใหญ่เป็นการถ่ายทอดความรู้ ซึ่งไม่สามารถพัฒนาทักษะและสมรรถนะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตจริง [12] สาเหตุสำคัญเกิดจากครูส่วนใหญ่มีความสามารถไม่เพียงพอต่อการจัดการเรียนเพื่อสร้างทักษะการคิดขั้นสูงได้ จึงนำไปสู่การสอนตามเนื้อหาในหลักสูตรแกนกลาง โดยเน้นให้สอบประเมินผ่านเท่านั้น นอกจากครูแล้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนส่วนใหญ่ยังขาดทักษะการบริหารจัดการ หรือขาดความถนัดด้านวิชาการ ทำให้ไม่สามารถเป็น “ผู้นำทางการศึกษา” ซึ่งช่วยสนับสนุนครูให้จัดกระบวนการเรียนรู้และจัดสรรภาระงานให้เหมาะสมได้

ภาระงานของครูและผู้บริหารเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญ ครูไทยมีภาระงานที่นอกเหนือจากการเรียนการสอนไม่น้อย จากการสำรวจของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ในปี พ.ศ. 2557 พบว่า ครูใช้เวลา 84 วัน จาก 200 วันที่เปิดภาคเรียนไปกับภาระงานนอกห้องเรียน โดยภาระงาน 3 อันดับแรกที่รบกวนเวลาการสอนของครูคือ การประเมินโรงเรียน การเตรียมนักเรียนสำหรับการแข่งขันทางวิชาการ และการอบรมสัมมนา [13]

เวลาของครูที่หายไปยังเกิดจากการที่ส่วนกลางจัดงบบุคลากร งบดำเนินงาน และงบลงทุน ซึ่งไม่สัมพันธ์โดยตรงกับจำนวนนักเรียน และไม่สอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียน [14] เพราะมักผูกงบประมาณกับเงื่อนไขและเป้าหมายของโครงการที่กำหนดจากส่วนกลาง ทำให้โรงเรียนต้องตอบสนองต่อความต้องการและตัวชี้วัด (KPIs) ของหน่วยงานต่างๆ แทนการจัดการเรียนการสอนที่สามารถพัฒนาทักษะและสมรรถนะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตจริงของนักเรียน

อำนาจการตัดสินใจในหลายเรื่องของโรงเรียนยังขึ้นตรงกับกฎระเบียบและนโยบายจากส่วนกลาง ทำให้การจัดการเรียนการสอนไม่สอดคล้องกับความต้องการหรือความจำเป็นของโรงเรียน [15] เช่น โรงเรียนต้องซื้อหนังสือเรียนในบัญชีที่ สพฐ. กำหนด โดยต้องซื้อใหม่ทุกปีและแจกนักเรียนให้ครบ 100% แม้หนังสือที่ซื้ออาจจะไม่ได้ใช้ก็ตาม และโรงเรียนไม่สามารถใช้งบที่ได้มาเพื่อซื้อหนังสือที่อยู่นอกบัญชีรายชื่อดังกล่าวได้ [16] ในด้านบุคลากร โรงเรียนไม่สามารถคัดเลือกครูตามความต้องการและความจำเป็น เพราะมีหน่วยงานอื่นทำหน้าที่กำหนดเกณฑ์การคัดเลือก แต่งตั้ง โยกย้าย จึงกลายเป็นว่า ครูเลือกพื้นที่ที่อยากไปอยู่ และเขตพื้นที่เป็นผู้จัดสรรครูไปยังโรงเรียน ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาครูขาดแคลนโดยเฉพาะในโรงเรียนห่างไกล

ทางออก : เสริมพลังให้โรงเรียนและบุคลากร

การเรียนการสอนในห้องเรียนยุคใหม่ควรมุ่งสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในอนาคต สามารถรับมือกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีทักษะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกจริง โดยบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์ต่างๆ คำนึงถึงความหลากหลายของเด็ก และสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้การเรียนรู้ในรูปแบบนี้เกิดขึ้นได้ โรงเรียนต้องสามารถบริหารจัดการด้านวิชาการ งบประมาณ และบุคลากรได้เอง เป็นอิสระจากกฎระเบียบที่แข็งตัวและภาระงานที่ไม่ช่วยพัฒนานักเรียน และบุคลากรในทุกระดับต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐจึงควรเสริมพลังครูและโรงเรียนอย่างเร่งด่วนด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการจัดสรรงบประมาณ เพิ่มอำนาจการตัดสินใจให้แก่ผู้ที่อยู่ “หน้างาน” และเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร

ข้อเสนอที่ 1 เปลี่ยนรูปแบบการจัดสรรงบประมาณ

รัฐควรจัดสรรงบประมาณในลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไป (Block Grant) ให้แก่โรงเรียนมากขึ้น โดยเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัว และลดงบประมาณดำเนินงานที่จัดสรรโดยส่วนกลาง เพื่อให้โรงเรียนสามารถใช้จ่ายงบประมาณตามความต้องการที่แท้จริงได้อย่างยืดหยุ่น

ข้อเสนอที่ 2 กระจายอำนาจการตัดสินใจไปสู่ผู้ที่อยู่หน้างาน

รัฐควรพิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบครั้งใหญ่ ตามแนวความคิด Regulatory Guillotine เพื่อลดภาระงานที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของนักเรียน โรงเรียนในฐานะ “หน้างาน” ควรมีอิสระในการตัดสินใจมากขึ้น เช่น มีส่วนร่วมมากขึ้นในการคัดเลือกและบรรจุครูได้เอง และมีอิสระในการเลือกใช้สื่อการเรียนรู้ที่ตรงกับความต้องการของตนโดยใช้เงินอุดหนุนของรัฐ

ความเป็นอิสระของโรงเรียนดังกล่าวนี้จะต้องมาพร้อมกับความโปร่งใสและความรับผิดชอบ (Accountability) ต่อผู้เรียนและชุมชน เช่น โรงเรียนต้องทำบัญชีการใช้จ่ายที่ตรวจสอบได้ และรับฟังความเห็นของชุมชนประกอบการทำหลักสูตรสถานศึกษา เป็นต้น

ในทางปฏิบัติ การกระจายอำนาจการตัดสินใจไปสู่ “หน้างาน” อาจมีได้หลายรูปแบบ เช่น การปรับสถานะของโรงเรียนที่มีความพร้อมให้เป็น “โรงเรียนนิติบุคคล” การโอนโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ไปสังกัดท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการทดลองกระจายอำนาจในรูปแบบใหม่ เช่น การสร้าง “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” เพื่อหารูปแบบการกระจายอำนาจทางการศึกษาที่เหมาะสมกับประเทศไทย

ข้อเสนอที่ 3 เพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรทางการศึกษา

ภาครัฐควรเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรทางการศึกษา ดังนี้

• สนับสนุนทรัพยากรให้โรงเรียนสามารถพัฒนาผู้อำนวยการ ให้เป็น “ผู้นำทางวิชาการ” สามารถสร้างบรรยากาศการทำงานที่เอื้อให้ครูและนักเรียนเกิดการเรียนรู้ วางแผนและบริหารโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้เกิดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) ภายในโรงเรียน

• จัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนสามารถพัฒนาครูได้อย่างอิสระ และกระตุ้นให้โรงเรียนสามารถออกแบบหลักสูตรสำหรับจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในโลกอนาคต เช่น การคิดเชิงวิพากษ์ การทำงานเป็นทีม และการมีความคิดสร้างสรรค์ โดยสนับสนุนให้มีการจัดฝึกอบรมภายในโรงเรียน เพื่อให้ครูไม่ต้องว่างเว้นจากห้องเรียน

• ลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน เพื่อให้ครูมีเวลาในการพัฒนาตนเอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูคนอื่น และเตรียมการสอนนักเรียนได้ดีขึ้น โดยไม่บังคับให้โรงเรียนทำโครงการต่างๆ ที่ไม่ตอบสนองเป้าหมายในการพัฒนาโรงเรียน ตลอดจนสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ลดภาระงานด้านธุรการหรือจัดสรรเจ้าหน้าที่ธุรการให้สอดคล้องกับภาระงานของโรงเรียน

อาชีวศึกษา

สถานการณ์ : ภาครัฐลงทุนไม่เพียงพอ ภาคธุรกิจไม่สานต่อ ก่อช่องว่างอาชีวะ-การทำงาน

แม้ระบบอาชีวศึกษาไทยสามารถผลิตนักศึกษาได้จำนวนมาก โดยมากกว่าตำแหน่งงานที่เปิดอยู่กว่า 3 เท่า [17] แต่ผู้จบการศึกษาจำนวนมากมีทักษะไม่ตรงความต้องการของสถานประกอบการ [18] ซึ่งสะท้อนปัญหาคุณภาพของระบบอาชีวศึกษา อุปสรรคใหญ่ของการจัดการศึกษาอาชีวะได้แก่ การลงทุนในอุปกรณ์ที่ไม่เพียงพอ และการขาดแคลนของครูอาชีวะที่มีคุณภาพ ซึ่งส่งผลให้การเรียนรู้ในวิทยาลัยอาชีวะไม่เชื่อมโยงกับโลกแห่งการทำงานจริง

นักเรียนอาชีวะไทยขาดโอกาสฝึกทักษะด้านเทคนิค เพราะครุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องอยู่ในสภาพ “น้อย เก่าและชำรุด” เมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพสูง จะพบว่า ระบบอาชีวะของไทยลงทุนในเครื่องจักรต่ำ มีอุปกรณ์ที่ล้าสมัย และมีงบเพื่อการซ่อมแซมไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ยังมีงบสำหรับวัสดุที่ใช้ในการฝึกทักษะน้อยกว่าวิทยาลัยอาชีวะในสิงคโปร์ถึง 3 เท่า [19]

ในด้านความพร้อมของบุคลากร วิทยาลัยอาชีวะของไทยมีสัดส่วนครูต่อนักเรียนน้อยกว่าสิงคโปร์เกือบเท่าตัว โดยไทยมีครู 4 คนต่อนักเรียน 100 คน ส่วนสิงคโปร์มีครู 7 คนต่อนักเรียน 100 คน ประเทศไทยยังมีปัญหาด้านคุณภาพของครูอาชีวะ กล่าวคือ ครูอาชีวะที่มีทักษะสูงมีแนวโน้มจะย้ายงานไปยังภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เพราะอัตราเงินเดือนในภาครัฐไม่สามารถแข่งขันกับภาคเอกชนได้ ครูอาชีวะไทยยังขาดประสบการณ์ทำงานในสถานประกอบการโดยตรง ทั้งที่ครูอาชีวะเหล่านี้มีบทบาทในการกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอน หลักสูตรอาชีวะไทยจึงไม่ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ และไม่สามารถสร้างนักเรียนอาชีวะที่มีคุณภาพสูงเพียงพอ

แม้ภาครัฐจะพยายามสร้าง “หลักสูตรอาชีวะทวิภาคี” ซึ่งมุ่งเชื่อมโยงการเรียนอาชีวะกับโลกการทำงานจริง ด้วยการผสมผสานการเรียนทั้งในห้องเรียนและในสถานประกอบการ แต่ก็ยังมีสถานประกอบการเข้าร่วมจำนวนไม่มากนัก ในปี 2560 มีนักเรียนในหลักสูตรอาชีวะทวิภาคีเพียง 14 % ของนักเรียนอาชีวะทั้งหมด [20] ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานประกอบการจำนวนมากไม่อยากเข้าร่วม เนื่องจากต้องรับผิดชอบต้นทุนบางส่วนในการจัดการสอนแบบทวิภาคี โดยไม่มีหลักประกันว่าจะได้ผู้ที่เรียนจบแล้วมาทำงานด้วย

ทางออก : เพิ่มการลงทุน หนุนผู้ประกอบการ สานต่อ “อาชีวะทวิภาคี”

การถ่ายทอดความรู้ ทักษะ และประสบการณ์จากโลกการทำงานจริงมาสู่ห้องเรียนอาชีวศึกษาจะทำให้ผู้จบอาชีวศึกษาสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงาน หรือประกอบอาชีพของตนเองได้อย่างมีความพร้อม ภาครัฐจึงควรสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการยกระดับอาชีวศึกษา และควรเพิ่มทรัพยากรในการจัดอาชีวศึกษาให้เพียงพอ

ข้อเสนอที่ 1 เพิ่มการลงทุนในทรัพยากร

รัฐควรเพิ่มค่าตอบแทน และวางแนวทางการดึงดูดผู้มีศักยภาพและประสบการณ์เข้ามาเป็นครูอาชีวศึกษา พัฒนาและรักษาบุคลากรเหล่านี้ให้คงอยู่ นอกจากนี้ รัฐจะต้องลงทุนเพิ่มในอุปกรณ์สำหรับการฝึกทักษะ จัดสรรงบซ่อมบำรุงและเปลี่ยนอุปกรณ์เหล่านั้นให้ทันสมัยเสมอ

การวิจัยของ TDRI ระบุว่า หากจะยกระดับคุณภาพของอาชีวศึกษาไทยให้ทัดเทียมกับของสิงคโปร์ จะต้องใช้งบประมาณ 44,500 ล้านบาทต่อปี โดยแบ่งเป็นงบบุคลากรปีละ 20,000 ล้านบาท งบค่าซ่อมบำรุงอุปกรณ์ปีละ 5,300 ล้านบาท งบวัสดุฝึกปีละ 8,300 ล้านบาท และงบอื่นๆ ปีละ 7,300 ล้านบาท รวมถึงต้องจัดสรรงบสำหรับการบำรุงรักษาอุปกรณ์อีกปีละประมาณ 6,700 ล้านบาท ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี ทั้งนี้ยังไม่ได้รวมการลงทุนก่อสร้าง [21]

ข้อเสนอที่ 2 สร้างหน่วยงานขยายผลอาชีวะทวิภาคี

รัฐควรสนับสนุนการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อสร้างความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างเอกชนและรัฐ เพื่อบริหารระบบอาชีวะทวิภาคีและลดต้นทุนแก่ผู้ประกอบการในการจัดอาชีวะศึกษาทวิภาคี โดยทำหน้าที่หลัก 3 ประการคือ

1. เป็นศูนย์กลางในการกลั่นกรองและจับคู่ (Clearing House) ในการฝึกงานให้แก่ผู้เรียนและสถานประกอบการที่มีความพร้อม
2. จัดทำชุดมาตรฐานทักษะวิชาชีพเพื่อใช้เป็นกรอบในการกำหนดเนื้อหาการเรียนการสอน
3. ประกันคุณภาพหลักสูตร สถานประกอบการที่ฝึกงาน และการสอบเมื่อจบหลักสูตร

อุดมศึกษาและการศึกษาต่อเนื่อง

สถานการณ์ : หลายหน่วยงาน หลากเป้าหมาย แต่คนไทยยังห่างไกลการเรียนรู้ตลอดชีวิต

การเปลี่ยนแปลงของงานในอนาคตจากเทคโนโลยี จะทำให้วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่แตกต่างจากในอดีตและปัจจุบันอย่างมาก จากการที่เคยเรียนในวัยเด็กและเยาวชน ทำงานเมื่อเรียนจบ และเกษียณเมื่ออายุประมาณ 60 ปี กลายเป็นการที่แต่ละคนจะต้องเปลี่ยนงานหลายครั้งในช่วงชีวิตที่ยาวนานขึ้น ต้องพัฒนาและประกอบสร้างตัวเองใหม่ (reinvent) อยู่ตลอดเวลา คนไทยจึงต้องการ “ตัวช่วย” ที่สนับสนุนการเรียนรู้ต่อเนื่อง

ประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่มีหน้าที่สนับสนุนการเรียนรู้ต่อเนื่อง เช่น มหาวิทยาลัยต่างๆ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อย่างไรก็ตาม เรายังขาดหลักสูตรการฝึกอบรมที่ค่าเรียนไม่แพง แต่มีคุณภาพสูงพอที่จะรองรับกับการทำงานในอนาคตได้

• มหาวิทยาลัยต่างๆ มีจุดแข็งคือคณาจารย์มีวุฒิการศึกษาสูง สามารถจัดหลักสูตรอบรมที่เน้นทักษะขั้นสูง แต่การเรียนการสอนส่วนใหญ่ยังเน้นด้านวิชาการ ซึ่งกำลังล้าสมัยอย่างรวดเร็วมากกว่าการเน้นการนำไปใช้จริง ทำให้อัตราการว่างงานของผู้เรียนจบมหาวิทยาลัยสูงกว่าผู้จบการศึกษาระดับต่ำกว่า หลักสูตรส่วนมากยังเน้นระดับปริญญา ซึ่งใช้เวลาเรียนนาน ค่าใช้จ่ายสูง ผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงได้ และไม่เหมาะกับคนทำงานซึ่งไม่มีเวลามาก

• กศน. ดูแลการศึกษาต่อเนื่องของคนกว่า 2 ล้านคน ด้วยงบประมาณเพียงร้อยละ 2.4 ของงบประมาณรายจ่ายการศึกษาทั้งหมดของประเทศ [22] จึงประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณ นอกจากนี้ ผู้สอนส่วนใหญ่ยังขาดประสบการณ์ในการพัฒนากำลังคนสำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม [23] จึงไม่ค่อยมีหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการแรงงานในภาคเศรษฐกิจสมัยใหม่และมุ่งเน้นการพัฒนาอาชีพในท้องถิ่นหรือชุมชนตามแบบเดิมเป็นหลัก

• กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีหลักสูตรอบรมประมาณ 3,000 หลักสูตร ซึ่งจำนวนมากเป็นหลักสูตรระยะสั้น แต่เน้นทักษะอาชีพพื้นฐานและงานฝีมือแบบเดิม และมีหลักสูตรต่อเนื่องไม่มาก ทำให้ไม่เอื้อต่อการ reinvent ตัวเองของแรงงานที่ต้องการพัฒนาทักษะขั้นสูง [24]

ทางออก : รัฐสนับสนุนให้คนไทย Reinvent ตัวเองทันโลก

ข้อเสนอที่ 1 รัฐสร้างระบบสนับสนุนให้คนไทย Reinvent ตัวเอง

สิงคโปร์เป็นประเทศหนึ่งที่มีระบบอุดมศึกษาที่มีคุณภาพสูงมาก ดังจะเห็นได้จากการที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของสิงคโปร์ติดอันดับดีที่สุดในเอเชีย สิงคโปร์ยังให้ความสำคัญกับการ reinvent ตัวเองของประชาชนอย่างจริงจัง โดยสร้างแพลตฟอร์ม MySkillFuture ที่ให้ประชาชนเข้าไปใส่ข้อมูลประวัติและทักษะที่มี แล้วแนะนำอาชีพที่เหมาะ รวมถึงทักษะที่ควรเพิ่มเติม รัฐบาลสิงคโปร์ได้รับรองหลักสูตรอบรมต่างๆ กว่า 24,000 หลักสูตรทั้งหลักสูตรระยะสั้นและยาว และอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการอบรมบางส่วนให้แก่ประชาชน โดยแจกคูปองอบรมให้คนละ 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ และยังชดเชยค่าเวลาทำงานบางส่วนให้แก่นายจ้างที่มีพนักงานไปอบรม

รัฐบาลไทยสามารถมีบทบาทส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนได้อย่างมาก โดยการสร้างระบบแนะแนวอาชีพ ส่งเสริมให้ผู้ให้บริการอบรมอาชีพต่างๆ แข่งขันกัน โดยการแจกคูปองอบรมให้แก่คนไทยในวัยทำงานในลักษณะเดียวกันกับสิงคโปร์ เพื่อให้คนไทยทุกช่วงวัยสามารถพัฒนาตนเองให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ โดยเฉพาะคนที่มีโอกาสน้อย ให้สามารถเรียนรู้อาชีพใหม่ๆ ที่หลากหลาย

ข้อเสนอที่ 2 มหาวิทยาลัยเน้นหลักสูตรสร้างสมรรถนะ

ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ ควรพัฒนาหลักสูตรที่หลากหลาย สามารถเข้าถึงได้ทั้งการเรียนในสถาบัน และการเรียนแบบออนไลน์ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการการเรียนรู้รายบุคคล โดยเน้นหลักสูตรที่สร้างสมรรถนะ (Competency-based Curriculum) ที่ให้ผู้เรียนมีโอกาสได้พัฒนาทักษะเฉพาะที่ตลาดแรงงานต้องการ และทักษะความผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) เพื่อให้สามารถริเริ่มธุรกิจใหม่ๆ ได้

ภาคนโยบาย กับการขับเคลื่อนการศึกษาไทย

สถานการณ์ปัญหาของนโยบายการศึกษาไทย

ขาดเสถียรภาพ

การดำเนินนโยบายด้านการศึกษาที่ผ่านมาของประเทศไทยมีปัญหาสำคัญคือ การขาดเสถียรภาพอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนรัฐบาลและรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการบ่อยครั้ง โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษามาแล้วกว่า 21 คน ซึ่งทำให้นโยบายเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา (ในช่วงเวลาเดียวกัน สิงคโปร์มีเพียง 6 คน)

ขาดคุณภาพ

จากระยะเวลาดำรงตำแหน่งเฉลี่ยต่ำกว่า 1 ปี รัฐมนตรีส่วนใหญ่จึงมักจะเลือกใช้นโยบายที่หวังผลระยะสั้น (quick win) โดยดำเนินโครงการต่างๆ มากกว่าจะปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง การใช้นโยบายหวังผลระยะสั้นเช่นนี้อาจมีประโยชน์ทางการเมือง แต่ไม่เพียงพอให้ประเทศบรรลุเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาได้ เพราะการพัฒนาคนเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล
นอกจากนี้ บ่อยครั้งที่รัฐบาลกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ โดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลทางวิชาการ และขาดการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อประเมินผลว่านโยบายใดได้ผลในการยกระดับการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งทำให้นโยบายใช้ไม่ได้ผลจริง และความล้มเหลวในอดีต ไม่นำไปสู่บทเรียนสำหรับอนาคต และความสำเร็จไม่นำไปสู่การขยายผล

ขาดส่วนร่วม

ที่สำคัญ กระบวนการกำหนดนโยบายส่วนใหญ่ที่ผ่านมายังเป็นการสั่งการแบบบนลงล่าง (top-down) โดยปราศจากการปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้อง และมักกำหนดแนวทางปฏิบัติตายตัวแบบเดียวกันทุกพื้นที่ ก่อให้เกิดอุปสรรคในการนำไปปฏิบัติจริง เพราะผู้กำหนดนโยบายขาดความเข้าใจบริบทในแต่ละพื้นที่ ในขณะที่ผู้ปฏิบัติก็ไม่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของและไม่เข้าใจหลักการของนโยบาย

สามองค์ประกอบในการสร้างนโยบายพัฒนาคนที่ใช้ได้จริง

เพิ่มคุณภาพของนโยบาย

นโยบายการศึกษาที่ดีคือ นโยบายที่เมื่อนำไปปฏิบัติจริงแล้ว จะส่งผลเชิงบวกต่อผู้เรียน ทั้งในทางตรง เช่น เพิ่มการเรียนรู้สู่การที่ผู้เรียนได้ลงมือทำและมีกระบวนการคิดต่อสิ่งที่ได้ทำ (Active Learning) และในทางอ้อม เช่น จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูผ่านชุมชนการเรียนรู้ (Professional Learning Community) นโยบายการศึกษาที่ดีเหล่านี้มักเป็นผลจากการวิจัยและการทดลองปฏิบัติจริงจากในประเทศไทยและต่างประเทศ

นอกจากการกำหนดนโยบายโดยอิงหลักฐานจากการวิจัยและการปฏิบัติจริงแล้ว การกำหนดนโยบายยังควรยึดหลักการของการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) ดังต่อไปนี้

  • สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทดลองนโยบายและสร้างนวัตกรรม เช่น การสร้าง “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” เพื่อศึกษาแนวทางการจัดการศึกษาที่ได้ผล จากการปรับกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติที่เอื้ออำนวยให้โรงเรียนทำงานคล่องตัวขึ้น สามารถทดลองแนวทางใหม่ๆ ได้
  • เตรียมความพร้อมของผู้ปฏิบัติ ทั้งในด้านความรู้ ทักษะและทัศนคติ เช่น หากต้องการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ก็ต้องเตรียมความพร้อมให้ครูเข้าใจแนวคิดและฝึกฝนทักษะการสอนรูปแบบนี้จนเชี่ยวชาญก่อนประกาศใช้
  • รับฟังเสียงสะท้อนกลับ เก็บข้อมูล ควบคู่ไปกับการวิจัย เพื่อประเมินผลนโยบายอย่างเป็นระบบ รวมถึงนำเสียงสะท้อนกลับและผลการประเมินที่ได้มาปรับปรุงนโยบาย ก่อนขยายผลในวงกว้าง

เปลี่ยนวัฒนธรรมการกำหนดนโยบายจาก “บนสู่ล่าง” เป็น “ร่วมมือ”
(from “top-down” culture to collaborative policy making)

การเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ กระบวนการคิด ซึ่งนำไปสู่กระบวนการทำงานใหม่ของทุกคนในภาคการศึกษา ตั้งแต่ผู้กำหนดนโยบาย บุคลากรทางการศึกษา รวมไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง และนักเรียนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

การรับฟังความคิดเห็นและเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียร่วมกำหนดนโยบาย จะทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จของการนำนโยบายไปใช้

ตัวอย่างเครื่องมือสร้างส่วนร่วมที่สามารถนำไปใช้ในกระบวนการพัฒนานโยบาย ได้แก่
• การสัมภาษณ์กลุ่มเจาะจง (Focus Group) เพื่อเข้าใจความต้องการของกลุ่มคนต่างๆ
• การปรึกษาสาธารณะ (Public Consultation) เพื่อรับฟังความเห็นต่อร่างนโยบาย
• ห้องปฏิบัติการทางสังคม (Social Lab) เพื่อนำไปสู่การตั้งเป้าหมายและวางแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายต่างๆ

กระจายอำนาจการตัดสินใจไปที่หน้างาน

ประเทศไทยมีบริบททางภูมิสังคมหลากหลาย การนำนโยบายที่กำหนดขึ้นไปปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จจึงต้องคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายของแต่ละพื้นที่ การกระจายอำนาจการตัดสินใจไปให้ผู้ที่อยู่ใกล้ปัญหา หรือ “หน้างาน” เช่น เขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียน จะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาการศึกษาได้อย่างรวดเร็วและเบ็ดเสร็จในพื้นที่ ลดความล่าช้าและลดภาระงานของทุกฝ่าย และเปลี่ยนบทบาทของหน่วยงานส่วนกลางจากการควบคุม ไปสู่การสนับสนุนผู้ที่อยู่หน้างาน

การกระจายอำนาจการตัดสินใจในด้านการศึกษา สามารถดำเนินการในด้านต่างๆ ดังนี้
• ด้านวิชาการ โดยให้อิสระแก่โรงเรียนเพิ่มขึ้นในการเลือกซื้อสื่อการเรียนรู้ โดยใช้งบประมาณของรัฐ การลดการใช้ตัวชี้วัดที่ละเอียดเกินไป
• ด้านงบประมาณ โดยจัดสรรเงินงบประมาณส่วนใหญ่ให้แก่โรงเรียนในรูปแบบเงินอุดหนุนทั่วไป (Block Grant) ที่สามารถใช้จ่ายได้อย่างคล่องตัว
• ด้านบุคลากร โดยให้โรงเรียนหรือเขตพื้นที่การศึกษาสามารถสรรหาครูมาทดแทนตำแหน่งที่ขาดแคลนได้เอง

สร้างเสถียรภาพทางนโยบาย

การพัฒนาการศึกษาต้องอาศัยการทำงานในระยะยาว ไม่อาจเห็นผลได้ในระยะเวลาสั้น ทุกภาคส่วนที่ต้องการพัฒนาการศึกษาอย่างแท้จริงจึงควรช่วยกันสร้างนโยบายที่ดีร่วมกัน และสร้างเสถียรภาพทางนโยบาย เพื่อให้การพัฒนาการศึกษาไทยประสบความสำเร็จ

สร้างเสถียรภาพในภาคนโยบาย
ระบบการศึกษาของไทยมีความซับซ้อนสูงมาก ขาดความเป็นเอกภาพ ต้องใช้เวลานานในการทำความเข้าใจและต้องใช้ความมุ่งมั่นอย่างมากในการขับเคลื่อนหน่วยงานต่างๆ ให้ทำงานสอดคล้องกัน ด้วยเหตุนี้ พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลควรพิจารณาเลือกรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการจากผู้ที่มีความเข้าใจระบบการศึกษา มีภาวะผู้นำสูงและได้รับความยอมรับจากฝ่ายต่างๆ และให้โอกาสปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่องยาวนานเพียงพอ การคัดเลือกรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการจึงควรพิจารณาจากคุณลักษณะดังกล่าวมากกว่าจากเหตุผลทางการเมือง และหากมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีหรือรัฐบาล การตัดสินใจจะยุติหรือดำเนินนโยบายใดต่อโดยรัฐมนตรีหรือรัฐบาลใหม่ ควรพิจารณาผลลัพธ์จากการประเมินนโยบายอย่างรอบคอบ มากกว่าจากการพิจารณาว่าใครเป็นผู้ริเริ่มนโยบายนั้น

สร้างเสถียรภาพโดยภาคสังคม
นอกจากภาครัฐแล้ว ภาคสังคม ซึ่งรวมถึงธุรกิจ มูลนิธิและหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรต่างๆ ตลอดจน เครือข่ายโรงเรียน และเครือข่ายพ่อแม่ ก็มีบทบาทในพัฒนาการศึกษาไทยมาโดยตลอด ภาคสังคมเหล่านี้สามารถเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้บรรลุผลสำเร็จได้ แม้ในสภาพการเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย โดยการทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ