สถานการณ์และแนวทางรับมือกับ COVID-19 ของไทย

ดร.วิโรจน์  ณ ระนอง
ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายสาธารณสุขและการเกษตร
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

บทสรุป
โครงการวิจัย “COVID-19 Policy Watch” ซึ่งเป็นโครงการย่อยใน “โครงการประเมินผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในมิติสังคมและเศรษฐกิจ” ที่ TDRI ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กำลังอยู่ระหว่างการเผยแพร่บทความขนาดยาว 5 ตอน ซึ่งบทความนี้จะครอบคลุมเนื้อหาดังต่อไปนี้

  1. จากข้อมูลในปัจจุบัน พออนุมานได้ว่า ภายในประเทศไทยเองแทบไม่มีการติดเชื้อโควิด-19 หลงเหลืออยู่ ตราบที่ไม่มีการนำเชื้อนี้เข้ามาในประเทศเพิ่ม (ไม่ว่าจะโดยคนหรือสินค้า)  และถ้ามีหลงเหลือหรือหลุดรอดเข้ามาบ้าง ก็ยังอยู่ในข่ายที่ระบบรักษาพยาบาลของไทยยังรับได้ไม่ยาก
  2. การที่ไทยอยู่ในภาวะ “ความสำเร็จ” นี้ในปัจจุบัน นอกจากการมีมาตรการและความร่วมมือพอสมควรของประชาชนแล้ว  ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ไทยอยู่ในที่ตั้งที่รายล้อมไปด้วยกลุ่มประเทศที่จวบจนถึงปัจจุบันยังมีความเสี่ยงและการระบาดต่ำ (ถึงแม้ว่าในช่วงต่อไปความเสี่ยงที่ชายแดนบางด้านของไทยอาจจะเพิ่มขึ้นบ้าง)
  3. ในภาวะที่ภายในประเทศแทบจะปลอดเชื้อนั้น เหตุการณ์ที่คนไทย “การ์ดตก(ลง)” เป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้และเป็นพฤติกรรมที่สมเหตุสมผลพอสมควร  ยิ่งไปกว่านั้น ในสภาวการณ์นี้ที่ประเทศไทยยังคงควบคุมการผ่านแดนอย่างเข้มงวดอยู่ด้วยนั้น คนไทยก็ควรได้รับผลพวงหรืออานิสงส์จากภาวะความเสี่ยงต่ำนี้ด้วย  โดยคลายล็อกให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยเฉพาะผ่อนคลายเรื่องระยะห่างในด้านต่างๆ โดยอาศัยหน้ากากเป็นเครื่องมือหลักแทน เพื่อเอื้อการประกอบอาชีพและการใช้ชีวิตให้เข้าใกล้ภาวะปกติให้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจลงได้บ้าง
  4. แต่ “ความสำเร็จ” ของไทยที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นหลักฐานหรือหลักประกันว่าประเทศไทยและประชาชนมีศักยภาพพร้อมที่จะรับมือกับการระบาดครั้งใหม่ที่อาจเกิดในอนาคต  ดังนั้น ถ้าไทยตัดสินใจเลือกใช้นโยบายที่นำไปสู่ภาวะที่มีความเสี่ยงมากขึ้น (เช่น เปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจำนวนมาก) ก็ควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยออกแบบมาตรการป้องกันที่รัดกุมพอ รวมทั้งประชาชนก็จำเป็นต้อง “ตั้งหรือยกการ์ด” ให้สูงขึ้นและคงเส้นคงวาในเรื่องที่สำคัญด้วย
  5. สถานการณ์และมาตรการที่ใช้ในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่รุนแรง และมีโอกาสมากที่เศรษฐกิจจะซบเซาไปอีกนาน  แต่ถ้ารัฐบาลเลือกใช้มาตรการที่ “ลดการ์ด” ลงแล้ว ในกรณีที่มีปัญหา—หรือกระทั่งมีเหตุการณ์หรือข่าวที่ทำให้ตื่นตระหนก—ก็อาจเกิด “วิกฤตความเชื่อมั่น” ที่ส่งผลกระทบที่รุนแรงในวงกว้างได้เช่นกัน เช่น กรณีระยองที่ข่าวความเสี่ยงเพียงเล็กน้อยก็ส่งผลต่อการตัดสินใจยกเลิกการเดินทางของคนไทยจำนวนมาก หรือข่าวการตรวจพบเชื้อรายใหม่ที่ยังไม่ได้รับการยืนยันก็อาจส่งผลต่อตลาดหุ้นอย่างมีนัยสำคัญได้
  6. แต่ถ้าไทยยังไม่สามารถกลับไปพึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวและส่งออกได้มากเท่าเดิม ก็อาจมีความจำเป็นในการขยายเวลาและมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางทั้งในด้านความจำเป็นเฉพาะหน้าและการปรับตัวในการประกอบอาชีพ  ซึ่งถ้าจำเป็นก็อาจต้องพิจารณากู้เพิ่ม/ขยายเพดานเงินกู้ของประเทศ
  7. ในระยะยาว เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องกลับไปสู่การรับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะยังมีความเสี่ยงแม้กระทั่งในอนาคตที่การระบาดของโรคนี้ซาลง และ/หรือ มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพพอสมควรแล้วด้วย  ไทยจึงควรเริ่มยกระดับความสามารถในการรับมือกับโรคระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายศักยภาพในด้านระบาดวิทยาการสอบสวนโรค (outbreak investigation) ให้พร้อมสำหรับรับมือกับการระบาดจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวในวงกว้าง  หรือรับมือกับโรคระบาดใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
  8. การรับมือกับโรคระบาดที่อาจกลายเป็นวิกฤตที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวาง มีความจำเป็นต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ  แต่ในหลายกรณีเป็นงานที่ซับซ้อนที่ต้องออกแบบและทำอย่างรัดกุมในระยะยาวมากกว่าการรับมือในลักษณะที่เป็นกรณีฉุกเฉิน จึงควรสร้างและพัฒนาการรับมืออย่างเป็นระบบที่รัดกุมมากกว่าเน้นการใช้มาตรการ กลไก หรืออำนาจด้านความมั่นคงเป็นเครื่องมือหลักในระยะยาว

ตอนที่ 1  สถานการณ์การ “ปลอดเชื้อ” ของไทยในปัจจุบัน

ณ วันที่ 18 ส.ค. 2563 ประเทศไทยอยู่ในภาวะปลอดการติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศติดต่อกัน 85 วัน (มากกว่า 12 สัปดาห์ หรือ 6 รอบของระยะการกักตัวปกติที่ 14 วัน) และปลอดการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อ ติดต่อกัน 77 วัน หรือ 11 สัปดาห์ (ซึ่งรวมถึงผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับจากต่างประเทศที่ยังตรวจพบและเข้ารับการรักษาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในช่วง 80 วันที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวนรวม 317 คน) ยังผลให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อลดลงจากร้อยละ 1.9 ในเดือนมิถุนายน เหลือร้อยละ 1.72 [1]     

จากข้อมูลนี้ เราน่าจะอนุมานได้ว่า ในประเทศไทยเอง แทบไม่มีการติดเชื้อโควิด-19 หลงเหลืออยู่ หรือถ้ามีก็น้อยมาก เพราะในแต่ละพื้นที่นั้น

  • ถ้ายังมีผู้ติดเชื้อและการแพร่เชื้ออย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อาจไม่แสดงอาการ แต่ถ้ามีจำนวนผู้ติดเชื้อมากพอ ก็ย่อมต้องมีคนจำนวนหนึ่ง (ประมาณ 15-20% หรือระหว่าง 1 ใน 5 ถึง 1 ใน 7) ป่วยและไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาล
  • ถ้ามีแต่ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ (และส่วนใหญ่สวมหน้ากาก) โอกาสแพร่เชื้อก็จะค่อนข้างน้อย และยิ่งเมื่อเวลาผ่านไปนานเท่าใด ก็ยิ่งมีโอกาสมากยิ่งขึ้นที่เชื้อจะหมดไปจากพื้นที่
  • ถ้าไม่มีเชื้อหรือเชื้อหมดไปจากพื้นที่แล้ว  ต่อให้คนในพื้นที่อาจจะไม่ได้ระมัดระวังเท่าที่ควร (หรือ “การ์ดตก”) พื้นที่นั้นก็จะยังคงปลอดเชื้อต่อไป

ดังนั้น ยิ่งไม่พบการติดเชื้อภายในประเทศนานขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ปลอดเชื้อโควิด-19 

ถึงแม้ว่าการที่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ ทำให้ยากที่จะสรุปได้อย่างมั่นใจว่าเชื้อได้หมดไปจากประเทศไทยแล้วหรือไม่  แต่เรามีกรณีของเมืองอู่ฮั่นของจีน ซึ่งมีหลายด้านที่น่าจะเปรียบเทียบกับไทยได้อย่างมั่นใจพอสมควร   

อู่ฮั่นเป็นเมืองใหญ่ของจีนที่เป็นจุดเริ่มที่พบการติดเชื้อจำนวนมาก (ตั้งแต่ ธ.ค. 2562 จนถึง 2 ส.ค. 2563 พบผู้ติดเชื้อรวม 50,340 ราย หรือเกือบ 450 รายต่อประชากร 1 แสนคน พอๆ กับประเทศที่ระบาดมากอย่างอังกฤษ และสูงกว่าอิตาลี)[2]  ทำให้ต้องใช้มาตรการปิดเมืองอย่างเข้มงวดตั้งแต่ 23 ม.ค. – 7 เม.ย. รวม 76 วัน (ประมาณ 2.5 เดือน หรือ 5.4 รอบของระยะกักตัว 14 วัน) และในช่วง 16 วันสุดท้ายที่ยังปิดเมืองนั้น พบผู้ติดเชื้อ 3 รายสุดท้ายเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 31 มี.ค. และ 3 เม.ย.

อู่ฮั่นเปิดเมืองเมื่อวันที่ 8 เม.ย.[3] หลังจากที่เปิดเมืองมาได้ 32-33 วัน (37-38 วันหลังพบผู้ติดเชื้อรายสุดท้ายในรอบเก่า) ในวันที่ 9 และ 10 พค. ก็พบผู้ติดเชื้อ 1 และ 5 รายจากอาคารเดียวกัน[4]

หลังจากนั้นเพียง 3 วัน  อู่ฮั่นก็ระดมตรวจเชื้อคนทั้งเมืองตั้งแต่ 14 พ.ค. – 1 มิ.ย. ตรวจได้ 9.89 ล้านคน[5] ซึ่งในช่วงนั้นก็ผู้ติดเชื้อที่มีอาการคนสุดท้ายในวันที่ 18 พ.ค. และพบผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ 300 คน (เทียบเป็นอัตราประมาณ 3 ต่อประชากร 1 แสนคน)[6]  อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจหน้ากาก แปรงสีฟัน โทรศัพท์ กลอน/ล็อกประตู และปุ่มลิฟต์ที่คนเหล่านี้ใช้ ก็ไม่พบเชื้อแต่อย่างใด  และผลการตรวจผู้สัมผัสใกล้ชิดคนเหล่านั้นรวม 1,174 คน ก็ไม่พบการติดเชื้อในผู้ใกล้ชิดเหล่านั้นเลย  การที่เพาะเชื้อไม่ขึ้นบ่งชี้ว่าสารพันธุกรรมที่ตรวจพบโดยวิธี PCR ในคนเหล่านั้นน่าจะเป็นซากเชื้อ (ที่ไม่สามารถแพร่เชื้อได้แล้ว)

อีกทั้งการตรวจ 2,314 ตัวอย่างจากน้ำประปา ท่อระบายน้ำ แท็กซี่ บัส รถและสถานีใต้ดิน ห้างสรรพสินค้า ภัตตาคาร และที่จอดรถ ทั่วอู่ฮั่น ก็ไม่พบเชื้อเช่นกัน 

และที่สำคัญคือ หลังจากนั้นอีกสามเดือนเต็ม (92 วันหลังจากพบผู้ป่วยรายล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พ.ค. จนถึงปัจจุบันคือ 18 สค.) ก็ยังไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อเพิ่มในเมืองอู่ฮั่น 

จะเห็นได้ว่า ในกรณีอู่ฮั่น ซึ่งเคยมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากนั้น ต่อเมื่อได้มีการคลายล็อก/เปิดเมืองเป็นเวลานาน 32-33 วัน (37-38 วันหลังพบผู้ติดเชื้อรอบเก่ารายสุดท้าย) ถึงได้พบผู้ติดเชื้อใหม่ที่มีอาการจากอาคารเดียวกัน 6 ราย และพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนในวันที่ 18 พ.ค. (41 วันหลังคลายล็อก) ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในช่วง 6 สัปดาห์หลังเปิดเมือง (หรือ 3 รอบของระยะกักตัวปกติ)  สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการรวม 300 คนนั้น เมื่อตรวจไม่พบว่ามีการแพร่เชื้อ ก็ไม่ได้ถูกบันทึกเข้าไปในสถิติผู้ติดเชื้อ (ตามนิยามที่จีนใช้ก่อนวันที่ 4 เม.ย.) และก็น่าเชื่อว่าคนเหล่านั้นไม่ได้มีความสามารถในการแพร่เชื้อจริง เนื่องจากหลังจากนั้น ก็ยังไม่พบผู้ติดเชื้อในอู่ฮั่นเลยจนถึงปัจจุบัน (92 วันหลังจากพบผู้ป่วยรายล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พ.ค.)  ในขณะที่จีนก็มีรายงานการติดเชื้อเพิ่มในที่อื่นจนถึงปัจจุบัน  ถึงแม้จะมีจำนวนไม่มากนักก็ตาม

ถ้าเปรียบเทียบกับไทย  ประเทศไทยมียอดสะสมของผู้ติดเชื้อรวม 3,381 คน (ประมาณ 5 คนต่อประชากร 1 แสนคน)  ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 2,444 คน (หรือประมาณ 3.66 คนต่อประชากร 1 แสนคน)  และผู้ป่วยที่พบในประเทศทั้งหมดเข้ารับการรักษาตั้งแต่ก่อน 26 พค. 2563  ผู้ป่วยที่เหลือ 125 คน ที่ยังรักษาอยู่เมื่อ 18 ส.ค. น่าจะเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศหลังจากนั้นทั้งหมด และนอกจากผู้ที่เสียชีวิต 58 คนแล้ว ที่เหลือก็รักษาจนหายเกือบทั้งหมดแล้ว (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1  สรุปยอดสะสมของการติดเชื้อและการรักษา COVID-19 ของไทย ณ 18 ส.ค. 2563

การที่ไทยมีจำนวนวันที่ไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศอย่างน้อย 85 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลามากกว่าสองเท่าของที่อู่ฮั่นพบผู้ติดเชื้อรายใหม่หลังเปิดเมืองครั้งแรก  ก็น่าจะพออนุมานได้ว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในภาวะปลอดการติดเชื้อโควิด-19 และถึงแม้ว่าจะมีข่าวการกลายพันธุ์ของไวรัสในหลายประเทศที่ทำให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ที่มีความสามารถในการแพร่เชื้อมากหรือง่ายกว่าเชื้อที่อู่ฮั่น ทำให้จีน (กรุงปักกิ่ง) ขยายเวลาการกักตัวเป็น 28 วัน จากกรณีตลาด Xinfadi  แต่ไวรัสที่พบในไทยก่อนหน้านี้ไม่น่าเป็นไวรัสพันธุ์ใหม่นี้ และไทยก็ปลอดการติดเชื้อภายในประเทศมานานกว่า 3 รอบของ 28 วันแล้วด้วย

ในวันที่ 19 สิงหาคม รพ. รามาธิบดี รายงานว่าตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อในปริมาณน้อยในหญิงไทย 2 รายที่เคยผ่านการกักตัวในสถานกักตัวของรัฐ แล้วมาขอตรวจเชื้อเพื่อเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งในวันต่อมา (20 สค.) ระบุว่า กรณีแรกเป็นซากเชื้อ และกรณีที่สองตรวจใหม่อีกสองครั้งแล้วไม่พบเชื้อแต่พบภูมิคุ้มกันที่ชี้ว่าน่าจะเคยมีการติดเชื้อมาก่อน

อย่างไรก็ตาม ในสองกรณีนี้ เป็นกรณีผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศที่ผ่านการกักตัวในสถานกักตัวของรัฐ ซึ่งเมื่ออกไปแล้วยังไม่พบว่ามีการแพร่เชื้อ และน่าจะอยู่ในข่ายที่มีโอกาสแพร่เชื้อต่ำ 

ดังนั้น ในกรณีของประเทศไทยนั้น น่าจะสรุปได้ว่าความเสี่ยงหลักของไทยในปัจจุบันอยู่ที่การติดเชื้อจากคนที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ  ซึ่งถ้าไทยยังคงดำเนินมาตรการคุมเข้มการเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศอย่างที่เป็นอยู่  ถึงแม้จะยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีผู้ติดเชื้อหลงเหลืออยู่หรือหลุดรอดเข้ามาบ้าง (รวมทั้งกรณีที่อาจมีข้อผิดพลาดในกลุ่มที่ผ่านการกักตัว 14 วัน หรืออาจจะมีเชื้อเข้ามาโดยทางอื่นเช่นสินค้านำเข้า)  แต่ถึงจะมีพลาดบ้าง ภายใต้มาตรการควบคุมการเข้าประเทศที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จำนวนที่พลาดจะมีไม่มาก  ซึ่งในกรณีเช่นนั้น ระบบบริการรักษาพยาบาลของไทยในขณะนี้น่าจะมีศักยภาพเหลือเฟือที่จะรับมือได้โดยไม่กลายเป็นการระบาดใหญ่

……

ติดตาม ตอนที่สอง  ความสำเร็จของไทยที่ผ่านมา เกิดจากอะไรบ้าง? และ ตอนที่สาม  โอกาสและปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถของไทยในการรักษาความสำเร็จในระยะยาว (เร็วๆ นี้)


[1] บทความนี้จงใจที่ยังไม่นับรวมหลังวันที่ 18 ถึงแม้ว่ามีโอกาสมากที่สองกรณีที่ตรวจเชื้อที่ รพ. รามาธิบดีในวันที่ 19 สิงหาคม จะเป็นซากเชื้อจากการติดเชื้อในอดีต

[2] แต่ยังต่ำกว่าหลายประเทศ เช่น สหรัฐ บราซิล สวีเดน สเปน และรัสเซีย  อย่างไรก็ตาม นิยามผู้ติดเชื้อของจีนในช่วงแรกที่ไม่รวมผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ อาจมีผลทำให้เกิดการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยกว่าที่ควร จีนเปลี่ยนนิยามนี้เมื่อวันที่ 4 เม.ย.

[3] โดยหลังเปิดเมืองก็ยังมีการกักตัวผู้ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อรายเก่า

[4] “Wuhan Reports First New Coronavirus Cases Since Lockdown Lifted.” Time BY BLOOMBERG. MAY 11, 2020 12:28 PM EDT ซึ่งข่าวนี้ระบุด้วยว่าทั้งหมดเป็นผู้ที่ถูกกักตัวอยู่แล้ว แต่ข่าวอื่นๆ ระบุเพียงว่า 6 คนมาจากอาคารที่พักเดียวกัน

[5] ตัวเลขประชากรที่เป็นทางการของอู่ฮั่นคือ 11.2 ล้านคน

[6] จำนวนนี้อาจรวมกรณีที่เป็นผลบวกลวง (false positive) เช่นที่ไทยเคยพบที่ยะลาด้วย  แต่ในทางกลับกัน ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีผลลบลวง (false negative) ในกลุ่มคนที่เหลือเกือบ 10 ล้านคนด้วยเช่นกัน แต่ถึงวันนี้ (92 วัน ณ 18 สค.) ที่ยังไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อเพิ่มในเมืองอู่ฮั่น ก็น่าเชื่อได้ว่าผลลบลวงก็คงแทบไม่มีเช่นกัน