ทำไมต้องรับ นักท่องเที่ยวจีนโดย’ไม่กักตัว’

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร
          อุไรรัตน์ จันทรศิริ
        

แม้ไทยจะเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสก่อโรคโควิด-19 แต่ความสำเร็จนี้ก็แลก มาด้วยต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูงมหาศาล ผลกระทบร้ายแรงที่สุดคือ คนจำนวนหลายล้านคนตกงาน ธุรกิจนับแสนแห่งคงต้องปิดกิจการในไม่ช้า

คนที่เดือดร้อนเหล่านี้มีจำนวนเท่าไร และทำอาชีพอะไร

สถิติแรงงานในระบบประกันสังคมเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ว่างงานสูงถึง 1.4 ล้านคน จากแรงงานในระบบทั้งหมดกว่า 11 ล้านคน ขณะที่ผลสำรวจผลกระทบในการประกอบอาชีพจากโควิดโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ จากแรงงานทั่วประเทศราว 38 ล้านคน พบผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 20 ล้านคน โดยต้องออกจากงาน 2 แสนคน และมีแรงงานที่หยุดทำงานชั่วคราวหรือถูกลดชั่วโมงทำงานมากกว่า 4 ล้านคน โดยกลุ่มที่ ได้รับผลกระทบมากสุดคือแรงงานภาค บริการ

สอดคล้องกับรายงานภาวะเศรษฐกิจของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม  ชี้ว่าอุตสาหกรรมที่มีรายได้ลดลงมากที่สุดในไตรมาส 2 ปี 2563 (เมื่อเทียบกับ ช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน) คือ โรงแรม และที่พัก บันเทิง ขนส่งและโลจิสติกส์ และจากการวิเคราะห์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยาต่อฐานะการเงินของบริษัทราว 5 แสนแห่งใน 60 สาขาอุตสาหกรรม พบว่าอุตสาหกรรมไทยเกือบครึ่งถูกผลกระทบอย่างหนักและไม่สามารถฟื้นตัวกลับสู่ระดับเดิมในปี 2562 ได้ภายใน 2 ปีข้างหน้า เช่น โรงแรม ร้านอาหาร  กิจการบันเทิง การขนส่งทางอากาศ ซึ่งล้วนเกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว

คนที่เดือดร้อนปรับตัวอย่างไร

กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดเป็นผู้ที่มีการศึกษาไม่สูง เป็นคนชั้นกลางระดับล่าง วิกฤติโควิดกำลังทำให้คนเหล่านี้มีสถานะเปราะบาง ชักหน้าไม่ถึงหลัง รวมถึงการ กู้เงินมาใช้จ่าย ทว่าปัญหาคือครัวเรือนไทยมีหนี้สินคงค้างอยู่ก่อนแล้วเป็นจำนวนมาก

จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่าก่อน วิกฤติโควิด-19 คนไทยเกือบหนึ่งในสาม มีหนี้ และมูลหนี้คงค้างสูงถึง 1.2 แสนบาท ต่อคน หลังเกิดโควิด ผู้กู้กว่า 2 ล้านคน (หรือ 9.1% ของผู้กู้ที่อยู่ในระบบเครดิตบูโร) จะมี ปัญหาการชำระหนี้หากไม่มีมาตรการ ช่วยเหลือใดๆ

ผลที่ตามมาคือในไม่ช้าครัวเรือนจำนวนมากจะสูญเสียหลักทรัพย์ค้ำประกัน ครัวเรือน เกษตรอาจสูญเสียที่ดินทำกิน ไทยจะเริ่มสูญเสียความมั่นคงด้านอาหาร กลายเป็นวิกฤตการณ์ใหญ่ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เราจะหลีกเลี่ยงวิกฤติดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการเปิดเมืองเพราะ

1.ข้อกังวลต่อการระบาดระลอกสอง ประกอบกับการแสดงความเห็นของบุคคลบางกลุ่ม การแถลงข่าวของ ศบค.ที่ตอกย้ำเรื่องการติดเชื้อไวรัสของคนเดินทางกลับจากต่างประเทศ รวมถึงความพยายามรักษาตัวเลขผู้ติดเชื้อให้เป็น “ศูนย์” (แม้จะไม่มีเจตนาในการสร้างความกลัวก็ตาม)

2.ประชาชนไม่ไว้วางใจรัฐว่าจะดำเนินมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด จากกรณีทหารอียิปต์และทูตจากต่างประเทศที่ไม่ถูก กักตัว

เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งน่าจะเป็นประเด็นทางการเมือง คนมีฐานะและคน ชั้นกลางในเมืองที่ไม่ตกงานกับข้าราชการส่วนใหญ่คงไม่เข้าใจความเดือดร้อนของ คนตกงาน ซึ่งเป็นกลุ่มคนชั้นกลางระดับล่างหรือคนจนจากชนบทที่ไม่มีเสียงทางการเมือง จึงไม่น่าแปลกใจที่นโยบายของรัฐจะไม่ได้สะท้อนเสียงของคนกลุ่มนี้ และดูเหมือนว่า นโยบายต่างๆ กลับตอบสนองความต้องการของคนเมืองที่ไม่เดือดร้อน เป็นหลัก

ข้อเสนอต่อการเปิดเมือง

แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวในหมู่คนไทย แต่จำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยยังต่ำมากเมื่อเทียบกับจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ฉะนั้นรัฐควรดำเนินนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพในการควบคุมการแพร่ระบาด โดยเฉพาะจีน ซึ่งสามารถควบคุมการระบาดได้ดีที่สุด

อีกมุมหนึ่งการเปิดรับนักท่องเที่ยวจีน น่าจะมีจำนวนมากพอที่จะช่วยธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องได้จำนวนมาก และอาจช่วยได้มากกว่านโยบายไทยเที่ยวไทย แต่ไม่ต้องใช้เงินภาษีมาจ้างให้คนเที่ยว เมื่อธุรกิจมีลูกค้า รัฐบาลก็ไม่ต้อง เสียเงินกับมาตรการพักชำระหนี้ ปรับโครงสร้าง หนี้ หรือแม้กระทั่งมาตรการช่วยเพิ่มทุนให้ธุรกิจ ยิ่งกว่านั้นผลสำคัญคือเกิดการจ้างงานจำนวนนับล้านคนในภาคท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะแรงงาน ที่มีการศึกษาไม่สูงซึ่งมีปัญหาการปรับตัวมากที่สุด ฉะนั้นในด้านเศรษฐกิจ นโยบายนี้จึงเป็น นโยบายแบบ “ได้กับได้” (win-win)

อย่างไรก็ดี รัฐบาลต้องรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม กับผลกระทบด้านสาธารณสุข และควรใช้มาตรการอย่างน้อย 4 ข้อ

1.การตรวจเชื้อคัดกรองนักท่องเที่ยวทั้งก่อนเข้าและเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย พร้อมทั้งตรวจซ้ำหลังเข้ามาอยู่เกิน 5-6 วัน  โดยเสนอให้กักตัวระยะสั้นระหว่างรอผลตรวจเท่านั้น สิ่งที่รัฐบาลกับภาคประชาสังคม ต้องตกลงกันคือระดับความเสี่ยงที่สังคมยอมรับได้แต่คงไม่ใช่ศูนย์ และค่าใช้จ่ายในการตรวจรวมทั้งค่ารักษาพยาบาลต้องเป็นของนักท่องเที่ยว

2.การลงทุนในเทคโนโลยีและระบบติดตามนักท่องเที่ยว ที่สามารถติดตามผู้ที่ติดต่อหรือสัมผัสกับนักท่องเที่ยวได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุม หากพบว่ามีการระบาดจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

3.การลงทุนในระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะจำนวนเตียงคนป่วย ห้องไอซียู โรงพยาบาล ศูนย์บริการตรวจวัดเชื้อ โควิด-19 ฯลฯ เพื่อให้มีอุปกรณ์และเครื่องมือเพียงพอพร้อมรับสถานการณ์ที่เลวร้ายได้ โดยอาศัยงบประมาณจากวงเงินกู้ที่รัฐจัดสรรให้ 4.5 หมื่นล้านบาท แต่ที่ผ่านมาฝ่ายสาธารณสุขใช้ไปเพียง 1.6 พันล้านบาท  ถือว่าเป็นการใช้งบประมาณที่น้อยแต่มีประสิทธิผลสูง

4.การสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องความจำเป็นที่ต้องเปิดเมือง พร้อมกับแนวทางป้องกันความเสี่ยงการแพร่ระบาด ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ รวมถึงการขอความร่วมมือด้านต่างๆ จากประชาชน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดี รัฐควรศึกษาความคุ้มค่าและประเมินความเสี่ยงของการเปิดเมืองและมาตรการข้างต้น โดยทีมศึกษาควรประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขา เช่น นักระบาดวิทยา แพทย์ พยาบาล นักเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจท่องเที่ยว และบริการทั้งเล็ก/ใหญ่ ตลอดจนแรงงานในภาคบริการ

นอกจากข้อเสนอการเปิดเมืองเพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวและการจ้างงานแล้ว ยังมี ข้อเสนอต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่จะช่วยแรงงานจำนวนหลายล้านคนและธุรกิจทั้งเล็กใหญ่นับแสนกิจการ ติดตามได้ ในฉบับถัดไป


บทความภายใต้โครงการ “Assessing Ongoing Policy Measures/Responses to COVID-19 in Thailand” สนับสนุนโดย Feed the Future Innovation Lab for Food Security Policy Research, Capacity, and Influence (PRCI)

หมายเหตุเผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจเมื่อ 22 ตุลาคม 2563