โครงการประเทศไทยในอนาคต Future Thailand: มิติที่ 6 เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก เกษตรกรรมและการบริการ

โครงการประเทศไทยในอนาคต Future Thailand มิติที่ 6 เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก เกษตรกรรม และการบริการ นำเสนอภาพฉากทัศน์ในอนาคตของไทยในกรอบ 20 ปีข้างหน้า โดยแบ่งอนาคตออกเป็น 4 ช่วงเวลา ณ ปี ค.ศ. 2025, 2030, 2035 และ 2040 ตามลำดับ โดยพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทางด้านสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมือง และคุณค่า ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการสร้างฉากทัศน์เศรษฐกิจของไทย ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่ฉากทัศน์ทางด้านเศรษฐกิจและฉากทัศน์ทางด้านการคลัง

ฉากทัศน์ทางด้านเศรษฐกิจ มีความเป็นไปได้อยู่ 4 ฉากทัศน์ ได้แก่

  1. เศรษฐกิจเทียมเกวียน เป็นระบบเศรษฐกิจที่เหมือนกับถูกเทียมเกวียนมากดเอาไว้ทำให้ไม่สามารถพัฒนาต่อได้ไกล ภาครัฐล้มเหลวในการส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจ
  2. เศรษฐกิจคัดสรร ระบบเศรษฐกิจมีการแข่งขันในระดับสูง เป็นกลไกการคัดเลือกตามธรรมชาติ (natural selection) ที่ธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ต่างแข่งขันกันในการลงทุน การเลือกซื้อวัตถุดิบ การแย่งทรัพยากรบุคคล การพัฒนาเทคโนโลยี ภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ที่เท่าเทียมกัน โดยที่ภาครัฐไม่ได้เข้ามาส่งเสริม ทำแค่เพียงสนับสนุนการแข่งขันเท่านั้น
  3. เศรษฐกิจเฉพาะกลุ่ม สะท้อนถึงภาครัฐที่มุ่งเน้นการส่งเสริมเป็นหลัก แต่ไม่เปิดกว้างให้เกิดการแข่งขันอย่างเหมาะสม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจึงเอนเอียงไปที่ธุรกิจที่ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจรัฐ หรือที่เรียกว่า ธุรกิจเฉพาะกลุ่ม
  4. เศรษฐกิจคุณภาพ สะท้อนถึงภาครัฐที่ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุน ทำให้เกิดความชัดเจนในทิศทางการพัฒนาที่สำคัญ และการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นที่นำไปสู่การเอื้ออำนวยให้เกิดการแข่งขัน การสนับสนุนการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานทางด้านกำลังคน การพัฒนาการศึกษาทำให้เกิดการพัฒนาแบบครบวงจร เกิดประโยชน์ทางเศรษฉากทัศน์ฐกิจอย่างทั่วถึง ฉากทัศน์นี้เป็นฉากทัศน์ที่พึงประสงค์ที่อยากให้เป็นทิศทางในอนาคตของเศรษฐกิจไทย

ฉากทัศน์ทางด้านการคลัง มีความเป็นไปได้อยู่ 4 ฉากทัศน์ ได้แก่

  1. ฉากทัศน์ด้านการคลังที่หนึ่ง รายจ่ายด้านการลงทุนของภาครัฐไม่สามารถผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ และภาครัฐก็ไม่สามารถพัฒนาศักยภาพการหารายได้ได้เช่นเดียวกัน เป็นฉากทัศน์ที่ล้มเหลวของภาครัฐที่ไม่สามารถรักษาเสถียรภาพทางการคลังไว้ได้
  2. ฉากทัศน์ด้านการคลังที่สอง รายจ่ายด้านการลงทุนของภาครัฐสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้แต่ภาครัฐไม่สามารถพัฒนาศักยภาพการหารายได้ได้ ฉากทัศน์นี้แตกต่างจากฉากทัศน์แรกตรงที่ภาครัฐไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขหรือพัฒนาศักยภาพการหารายได้ได้ดีกว่าในปัจจุบัน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม รายจ่ายการลงทุนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทำให้เศรษฐกิจเติบโตและแนวโน้มรายได้การคลังเพิ่มขึ้นอย่างอัตโนมัติทำให้การคลังยังพอมีเสถียรภาพไปได้ในระดับที่ดีมาก
  3. ฉากทัศน์ด้านการคลังที่สาม รายจ่ายด้านการลงทุนของภาครัฐไม่สามารถผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ แต่ภาครัฐสามารถพัฒนาศักยภาพการหารายได้ได้ โดยสามารถขยายฐานภาษี ปรับปรุงภาษีเงินได้และภาษีการบริโภค และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บได้สำเร็จ
  4. ฉากทัศน์ด้านการคลังที่สี่ รายจ่ายด้านการลงทุนของภาครัฐสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้และภาครัฐสามารถพัฒนาศักยภาพการหารายได้ได้เช่นกัน กล่าวคือ เป็นฉากทัศน์ที่รายจ่ายด้านการลงทุนของภาครัฐมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากพอที่จะผลักดันให้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตได้สำเร็จ ฉากทัศน์นี้จึงเป็นฉากทัศน์ที่การคลังไทยมีเสถียรภาพมากที่สุด

ทั้งสองฉากทัศน์มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศและมีความสัมพันธ์ระหว่างกันทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเศรษฐกิจที่ขยายตัวหรือหดตัวจะทำให้รายได้ของภาครัฐที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง ในขณะที่การบริหารจัดการด้านการคลังจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคง เพราะฉะนั้น ภาครัฐควรจะให้ความสำคัญในการผลักดันไปสู่ฉากทัศน์ที่มีประสิทธิภาพและเกิดผลประโยชน์กับประเทศมากที่สุด

อ่านเพิ่มเติมได้ใน รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการประเทศไทยในอนาคต Future Thailand: มิติที่ 6 เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก เกษตรกรรมและการบริการ ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรมจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

Download