ข้อเสนอเพื่อการควบคุมวิกฤตโควิดระลอก 3 ในไทย

ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตโควิดระบาดระลอกที่สามตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนปีนี้จนปัจจุบัน และคาดว่าอาจต้องใช้เวลาที่ยืดยาวกว่าการควบคุมในสองระลอกที่ผ่านมา สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ในหลายๆด้านเป็นการดำเนินการที่เหมาะสม (แม้จะมีบางเรื่องที่ยังมีจุดอ่อน และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางก็ตาม) โดยเฉพาะการที่รัฐบาลหลีกเลี่ยงมาตรการปิดเมือง ปิดกิจการ/กิจกรรมแบบปูพรมทั้งประเทศเหมือนรอบแรก เพราะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

แต่ครั้งนี้ รัฐบาลเลือกใช้มาตรการที่มีความจำเพาะตามพื้นที่และลักษณะการระบาด อย่างไรก็ตามในการประชุมระดมความคิดเห็นระหว่างกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกันและระบาดวิทยาที่มีประสบการณ์ปฏิบัติงานทั้งในเขตเมืองและชนบท เพื่อหาแนวทางควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อให้ลดลงสู่ระดับที่ระบบสาธารณสุขสามารถบริหารจัดการได้ โดยไม่ส่งผลเสียหายรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน และสามารถดำเนินกิจกรรมด้านสังคมได้ตามสภาวะใกล้เคียงกับปกติ เช่น การเปิดสถาบันการศึกษา ฯลฯ

เราต่างมีความเห็นร่วมกันว่ายังมีมาตรการสำคัญอีกบางด้านที่หากรัฐบาลสามารถดำเนินการเพิ่มเติม จะทำให้ประเทศเราสามารถแก้ไขวิกฤตในครั้งนี้ได้ดีขึ้น เป็นการปูฐานสู่การป้องกันการระบาดในระลอกใหม่ๆ และสามารถเปิดประเทศไทยได้

บทความฉบับนี้ขอหยิบยกข้อเสนอสำคัญ 4 เรื่องเพื่อการพิจารณาของสาธารณะ ดังนี้

1. มาตรการเร่งด่วนเพื่อจำกัดวงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเน้นการแก้ไขสถานการณ์ระบาดที่เข้าสู่ครอบครัวและชุมชนอย่างเต็มตัวใน กทม. และปริมณฑล  

มีข้อเสนอ 4 ประการ ดังนี้

1.1 นวัตกรรมเสาะหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในเขตเมือง โดยเร่งดำเนินการจัดตั้งทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเสริมเพิ่มเติมอย่างน้อย 200 ทีม

เนื่องจากการระบาดรอบนี้เป็นเชื้อโควิดสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 ที่แพร่ระบาดได้รวดเร็วและรุนแรงต่อชีวิตมากกว่าเดิม เราจึงเห็นการระบาดที่ต่อเนื่องแม้จะปิดสถานบันเทิงหมดแล้ว เพราะเมื่อมีผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยหนึ่งคนจะทำให้สมาชิกส่วนใหญ่หรือทุกคนในครอบครัวและเพื่อนร่วมงานติดเชื้อไปด้วย ในขณะนี้การระบาดกว่าร้อยละ 80-90 จึงเกิดจากการแพร่เชื้อจากผู้ติดเชื้อไปยังสมาชิกในครอบครัว ญาติมิตร และผู้ร่วมงาน สภาพการณ์ดังกล่าวเป็นการกระจายของเชื้อโรคในวงกว้าง (wide community spreading) ทำให้ทีมสอบสวนโรคที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะรับมือ

รัฐบาลจึงต้องมี “นวัตกรรมเสาะหาตัวผู้ติดเชื้อเชิงรุก (active case finding innovations)” โดยเร่งดำเนินการจัดตั้งทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเสริมเพิ่มเติมอย่างน้อย 200 ทีม เพื่อเอกซเรย์ชุมชนและควบคุมการแพร่เชื้อด้วยหลักการการสอบสวนโรค การตรวจเชื้อ และการกักแยกโรค (TTI หรือ Trace, Test, Isolation) และมีระบบที่ชักชวนให้ผู้มีอาการหรือสงสัยตนเองให้มาตรวจได้สะดวกรวดเร็ว เพิ่มจุดการตรวจในชุมชนแออัดต่างๆ และพื้นที่เสี่ยง โดยให้ประชาชนได้รับข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับจุดบริการการตรวจเหล่านั้น

เหตุผลที่ต้องมีทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเพิ่มเติมก็เพราะการติดตามผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อในเขตเมืองมีความยุ่งยากมากกว่าในชนบท ในเขตเมืองไม่มีระบบสาธารณสุขมูลฐาน (primary health care) ดังที่มีอยู่ในชนบท และชุมชนเมืองหลายแห่งมีลักษณะความเป็นอยู่แบบชุมชนแออัด ทำให้ชุมชนเมืองมีโอกาสสูงที่จะเกิดการระบาดระลอกใหม่ ดังที่เกิดแล้วในอำเภอเมืองสมุทรสาครในระลอกสองและในชุมชนคลองเตยของ กทม. ในระลอกสาม

ขณะที่พื้นที่ชนบทมีระบบสาธารณสุขมูลฐานที่เข้มแข็งและมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นับล้านคนที่เป็นกำลังสำคัญ ทำให้ไทยสามารถควบคุมการระบาดของโรคต่างๆ ในอดีต รวมทั้งการระบาดของโควิดในรอบแรกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลจากแพทย์ชนบทยืนยันว่า ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดและลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชนบทได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ก็เนื่องจากความสามารถในจัดการเรื่อง TTI ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่เกิดจากระบบสาธารณสุขมูลฐานและ อสม.

แต่ในทางตรงข้าม การที่ลักษณะที่อยู่อาศัยของคนเมืองแตกต่างจากชนบท ไม่ว่าจะเป็นชุมชนแออัด คอนโดมิเนียม ตลาดสด สถานบันเทิง ล้วนส่งผลให้การควบคุมการระบาดของโควิด-19 ทำได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตามตรวจสอบผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่กระจัดกระจายอยู่ในวงกว้างทั่วทั้งกรุงเทพฯ ความเสี่ยงที่ตามมาคือผู้ติดเชื้อจำนวนมากไม่แสดงอาการ จึงเป็นพาหะของโควิด-19 ยิ่งกว่านั้นคนหนุ่มสาวในเมืองมีแนวโน้มการเดินทางและเคลื่อนย้ายสูง ทุกครั้งที่คนเหล่านี้เดินทางกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด หรือไปเที่ยวก็จะเป็นพาหะพาเชื้อไวรัสไปให้กับสมาชิกครอบครัวและญาติพี่น้องในต่างจังหวัดเหมือนกับการระบาดของไวรัสที่เกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา

ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นจะต้องมี “นวัตกรรมเสาะหาตัวผู้ติดเชื้อเชิงรุก” เพื่อตัดโอกาสที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่

ประสบการณ์การทำงานด้านการเสาะหาตัวผู้ติดเชื้อเชิงรุกของแพทย์ชนบทในหลายจังหวัด อาทิ จังหวัดสงขลา จังหวัดน่าน และจังหวัดสมุทรสาคร ชี้ให้เห็นว่า ทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คือการระดมสรรพกำลังบุคลาการทางการแพทย์จากจังหวัดหรืออำเภอที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนน้อยหรือไม่มีการระบาดของโควิด-19 มาช่วยทำงานด้านการเสาะหาตัวผู้ติดเชื้อเชิงรุกในกรุงเทพฯ หรือเมืองที่มีการระบาดใหญ่

โดยการแบ่งบุคลากรเหล่านี้ออกเป็นกลุ่มอย่างน้อย 200 กลุ่ม เพื่อสอบสวนผู้ติดเชื้อและประวัติการติดต่อสัมผัสกับผู้ใกล้ชิด จากนั้นจึงแยกย้ายกันติดตามตัวผู้มีประวัติใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อมาตรวจสอบ กักตัว รวมทั้งฉีดวัคซีน นอกจากนั้นรัฐจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่การสอบสวนโรคอย่างทันการณ์เมื่อสถานการณ์การระบาดเปลี่ยนแปลงไป

หากรัฐบาลสามารถเร่งดำเนินการดังที่เสนอ นอกจากเราจะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้ภายในเวลาหนึ่งถึงสองเดือนแล้ว ยังจะเป็นการป้องกันมิให้เกิดการระบาดละลอกใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1.2 มาตรการแยกผู้ป่วยผู้ติดเชื้อออกจากครอบครัว เป็นมาตรการที่จำเป็นและต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพราะประสบการณ์ในต่างประเทศพบว่าการกักแยกโรคที่บ้าน (home isolation) จะมีความเสี่ยงสูงให้เกิดการติดเชื้อต่อผู้สูงอายุและเด็กในครอบครัว ดังนั้น การจัดสรรพื้นที่กักแยกโรคจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน ทั้งการตั้งโรงพยาบาลสนาม และ hospitel ทั้งในที่ดินของรัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งรัดการตั้งโรงพยาบาลสนามและ hospitel ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อในเขตกรุงเทพฯ ที่กำลังเป็นวิกฤติขนาดใหญ่ เพราะในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดสองประการ คือ โรงพยาบาลต่างๆ จะจำกัดการตรวจโควิดเพราะมีภาระต้องหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อ และหน่วยราชการอื่นที่ไม่ใช่ กทม. ไม่สามาถตั้งโรงพยาบาลสนามได้ (ยกเว้นการตั้ง hospitel) รัฐบาลจึงควรเร่งใช้อำนาจการบริหารและกฎหมายแก้ไขข้อจำกัดดังกล่าวโดยด่วน

เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ติดเชื้อที่มีความต้องการและข้อจำกัดส่วนตัวที่แตกต่างกัน รัฐควรมีระบบแยกตัวผู้ติดเชื้อที่สอดคล้องกับความต้องการของคนกลุ่มต่างๆ รวมถึงการพัฒนาระบบการติดตามผู้มีความเสี่ยงที่เหมาะสม

มาตรการแยกผู้ป่วยออกจากครอบครัวนี้ นอกจากจะช่วยลดอัตราการระบาดของไวรัสที่จะสร้างปัญหาการขาดแคลนเตียงสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 รุนแรงแล้ว ยังจะลดความจำเป็นในการปิดเมือง/ปิดกิจการที่รังแต่จะก่อความเสียหายร้ายแรงทั้งต่อเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพจิตของประชาชน และเพิ่มประสิทธิผลของนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ต้องการปิดเมือง/ปิดกิจการแบบ “เหวี่ยงแห”

อย่างไรก็ตามในบางกรณีที่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการและมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลรักษาสุขอนามัยของตนเองและครอบครัว มีที่พักเพียงพอที่จะอยู่บ้านแบบแยกตัวได้เด็ดขาดก็สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับติดตามอย่างใกล้ชิดของทีมเฝ้าระวังสอบสวน ทางเลือกนี้ควรเป็นทางเลือกสุดท้าย

1.3 รัฐควรมีการจัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติมสำหรับระบบการสอบสวนโรค การตรวจเชื้อ และการกักแยกโรคเพื่อเร่งค้นหาผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการที่อยู่ในชุมชนให้สุดความสามารถ มีการตรวจเชิงรุกในพื้นที่หรือชุมชนที่มีความเสี่ยง

การจัดตั้งทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเสริมเพิ่มเติมอย่างน้อย 200 ทีม จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากทั้งด้านบุคลากร งบประมาณ และอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคจะต้องระดมบุคลากรทางการแพทย์-สาธารณสุขจากจังหวัดและอำเภอต่างๆ ที่มีความเสี่ยงต่ำ รวมทั้งข้าราชการที่มีความรู้ด้านสาธารณสุข การสื่อสาร จิตวิทยาจากกระทรวงและกรมกองต่างๆ และหากไม่เพียงพอ อาจต้องระดมอาสาสมัครที่เป็นนักศึกษาแพทย์ พยาบาล สาธาณสุข การสื่อสารและจิตวิทยา รวมทั้งบุคคลที่เคยทำงานด้านนี้แต่เกษียณแล้ว นอกจากนี้การทำงานของทีมระวังสอบสวนโรคจะต้องมีการประสานงานและสื่อสารกับฝ่ายต่างๆ อย่างรวดเร็ว อาทิ การจัดหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนัก ฯลฯ ดังนั้นจึงต้องใช้ทรัพยากรเพิ่มเป็นจำนวนมาก

1.4 การช่วยเหลือผู้ถูกกักตัวและครอบครัว เพื่อเป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อนทางการเงินให้กับผู้ติดเชื้อที่เป็นลูกจ้างรายวัน แรงงานนอกระบบ และคนฐานราก รัฐควรจ่ายเงินทดแทนขั้นต่ำอย่างน้อยสิบสี่วันตามจำนวนวันที่กักตัวหรือแยกรักษาตัว รวมทั้งการมีมาตรการช่วยให้บุคคลและสมาชิกของครอบครัวเหล่านั้นมีงานทำ มาตรการเร่งด่วนนี้จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนฐานรากที่เสี่ยงติดเชื้อ เต็มใจเข้ามารับการตรวจและกักตัวทันที เราคาดว่าหากสามารถดำเนินการได้ เราจะสามารถลดการแพร่ระบาดให้ลงมาสู่ระดับที่ควบคุมได้ เช่นมีการติดเชื้อรายใหม่ไม่เกินสามร้อยรายต่อวันใน กทม. และปริมณฑลในเวลาประมาณหนึ่งเดือนข้างหน้า

2. มาตรการจัดหาและการกระจายวัคซีนโควิด-19 ในระยะปานกลางและระยะยาว

การตั้งเป้าหมายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ได้ประมาณร้อยละ 70 ของประชากรไทยทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ (มิถุนายน-ธันวาคม) หมายถึงต้องมีการฉีดวัคซีนให้ได้ประมาณ 4.3 แสนโดสต่อวัน เราจึงต้องมีระบบบริหารจัดการที่ดีและกระจายตัวอย่างทั่วถึง เช่น การให้บริการฉีดวัคซีนนอกสถานพยาบาลในเขตเมืองใหญ่ การให้บริการฉีดวัคซีนที่ รพ.สต. ในเขตชนบท การใช้หน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ด้วยความร่วมมือของธุรกิจเอกชน มหาวิทยาลัย (ซึ่งกระจายอยู่ในเมืองใหญ่) บุคลากรครู และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (ซึ่งกระจายทั่วประเทศลงไปถึงระดับตำบล) รวมทั้งการใช้หน่วยรักษาพยาบาลของรัฐวิสาหกิจและกองทัพ การจัดระบบ tele-medicine เพื่อเฝ้าระวังกรณีผู้มีปัญหาผลข้างเคียง การจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก และการบริหารระบบ cold chain เพื่อรองรับการฉีดวัคซีนในแต่ละท้องที่ให้ทั่วถึง และการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ

นอกจากการปฏิบัติตามแผนการฉีดวัคซีนโควิดในปัจจุบันแล้ว รัฐควรมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนแผนการได้ตามสถานการณ์การระบาดและข้อมูลวิชาการที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่น การเพิ่มเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้ถึงร้อยละ 80 ของ “คนที่อาศัยในประเทศไทย” (ที่อาจมากกว่า 70 ล้านคน) ภายในสิ้นปีนี้ พิจารณาปรับการกระจายวัคซีนไปยังพื้นที่ซึ่งมีการระบาดเพิ่มเติมในอนาคต หรือพิจารณาเพิ่มชนิดและจำนวนวัคซีนหากมีข้อมูลพบว่าวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้อยู่มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคในประชากรไทยต่ำกว่าที่คาดหวังไว้ หรือพิจารณาการงดการใช้วัคซีนบางชนิดหรือปรับเปลี่ยนข้อบ่งชี้สำหรับวัคซีนบางชนิดให้แก่ประชาชนหากมีรายงานผลข้างเคียงร้ายแรงของวัคซีนที่มีการใช้ในประเทศไทยในอนาคต

นอกจากการบริหารจัดการระบบการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในปีนี้แล้ว รัฐควรริเริ่มวางแผนจัดหาวัคซีนเข็มที่ 3 สำหรับประชากรไทยไว้ล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความล่าช้าและเพิ่มความสามารถในการต่อรองของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนสำหรับการฉีดกระตุ้น (booster dose) เมื่อประชาชนที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ในปีนี้เริ่มมีระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนรอบแรกลดลงในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า หรือวัคซีนสำหรับการฉีดกระตุ้นหากมีเชื้อกลายพันธุ์เข้ามาระบาดในประเทศจนอาจทำให้ระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนรอบแรกไม่เพียงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงได้

3.  มาตรการการกำกับควบคุมการประกอบธุรกิจบางประเภทในระยะปานกลางและระยะยาว

แม้ว่าเราจะประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการระบาดในระลอกสามได้ แต่ต้องเผื่อใจว่าเราอาจต้องเจอการระบาดในระลอกที่สี่หรือห้า อันเนื่องมาจากความจริงที่ว่าเราไม่สามารถจะควบคุมให้การติดเชื้อเป็นศูนย์เหมือนระลอกแรก จะมีการะบาดเป็นคลัสเตอร์ต่างๆ และหากเจอกับเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีการติดง่ายและรุนแรง เราก็อาจเจอวิกฤตอีก จึงควรเร่งควบคุมต้นตอของการแพร่เชื้อแบบ Superspreading ดังที่เกิดขึ้นจริงมาแล้วดังนี้

3.1. การกำกับควบคุมสถานบันเทิง ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เนื่องจากเจ้าหน้าที่และข้าราชการหลายหน่วยงานใช้อิทธิพลหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจที่ไม่ถูกกฎหมาย รัฐจำเป็นต้องทบทวนมาตรการจัดการและควบคุมการดำเนินงานของสถานบันเทิง โดยเฉพาะสถานบันเทิงขนาดใหญ่ที่เกิดจากอิทธิพลของผู้มีอำนาจและเป็นต้นตอใหญ่ของการระบาด ตัวอย่างนโยบายและการควบคุมแบบใหม่ อาทิ มาตรการการแบ่งโซนธุรกิจสถานบันเทิง รวมทั้ง การควบคุมจำกัดการเติบโตและการขยายตัวของสถานบันเทิงเข้าไปในที่อยู่อาศัยหรือย่านธุรกิจบางย่าน การควบคุมมิให้เกิดสถานบันเทิงขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งรายได้นอกระบบของเจ้าหน้าที่รัฐบางคน

3.2. การแก้ไขจุดอ่อนของระบบการกำกับดูแลตลาดสด ตลาดสดเป็นกิจการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตสำหรับคนฐานราก ไม่สามารถปิดได้ แต่ตลาดสดหลายแห่งเป็นแหล่งแพร่เชื้อโควิดดังที่พบที่ตลาดในสมุทรสาคร ปทุมธานี กทม. เพราะตลาดสดส่วนใหญ่ที่เป็นโครงสร้างอาคารยังขาดระบบสุขาภิบาลที่ถูกสุขลักษณะ โครงสร้างตลาดแออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวกกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคต่างๆ ยิ่งกว่านั้น อาหารและผลิตภัณฑ์การเกษตรที่ซื้อขายกันในตลาดยังไม่ปลอดภัย มีสารเคมีและจุลินทรีย์ปนเปื้อนกลายเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนที่เป็นคนฐานรากของประเทศ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องร่วมมือกับ กทม. และเทศบาลกำหนดมาตรการช่วยเหลือทางการเงินและการออกแบบตลาดให้เจ้าของตลาดและผู้ค้ารายย่อยในตลาดสดเหล่านี้ปรับปรุงโครงสร้างตลาด และจัดระบบสุขาภิบาลให้มีการระบายอากาศที่ดี การมีสุขลักษณะ ลดความแออัด และการสุ่มตรวจลูกจ้าง พ่อค้า แม่ค้าจะช่วยป้องกันได้ ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดควรกำกับการปรับปรุงให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

4. การพัฒนาระบบการบริหารจัดการแบบบูรณาการ มีข้อเสนอแนะ5 ประการดังนี้

4.1 การกำหนดนโยบายการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องชัดเจนแก่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชน รวมทั้งการออกเกณฑ์การดำเนินงานจากส่วนกลางที่มีหลักคิดชัดเจน แต่ให้กระจายอำนาจการตัดสินใจไปยังหน่วยงานส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นให้สามารถตัดสินใจดำเนินการได้ตามความแตกต่างของพื้นที่ ทั้งนี้ การตัดสินใจและการดำเนินงานต้องได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลาง ทั้งทรัพยากรและอำนาจทางกฎหมาย

4.2 การบูรณาการการทำงานของฝ่ายปฏิบัติการระหว่างหน่วยงานภาครัฐในแต่ละพื้นที่ ขณะนี้ภาระการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขและการรักษาพยาบาลตกเป็นภาระหนักของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงหรือกรม กองอื่นๆ ต้องมีบทบาทเชิงรุก และร่วมรับผิดชอบมากขึ้น ทั้งในระดับนโยบาย การปฏิบัติในส่วนกลางและในแต่ละจังหวัด รวมทั้งการแก้ปัญหาข้อจำกัดด้านกฎหมาย อาทิ ปัจจุบันการตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ กทม. เป็นอำนาจหน้าที่ของ กทม. เพียงหน่วยงานเดียว

4.3  การแก้ไขปัญหาข้อมูลคลาดเคลื่อนหรือไม่สมบูรณ์ เช่น การพัฒนาข้อมูลจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีความถูกต้องและทันเวลา หรือการรายงานข้อมูลผู้ติดเชื้อรายวันที่มีรายละเอียดเหมาะสมสำหรับการวิเคราะห์ปัญหา หากพิจารณาเพียงข้อมูลผู้ติดเชื้อรายวันแต่ขาดข้อมูลจริงของวันที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อ อาจทำให้ทีมวิชาการไม่สามารถวิเคราะห์แนวโน้มการระบาดเพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องให้แก่ผู้กำหนดนโนบาย หรือไม่สามารถนำข้อมูลมาพัฒนาแบบจำลองพยากรณ์จำนวนผู้มีโอกาสติดเชื้อในอนาคตเพื่อสนับสนุนการวางแผนจัดการทรัพยากรล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำเท่าที่ควร

การพัฒนาแบบจำลองสถานการณ์ด้วยข้อมูลที่ถูกต้องจะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยและวางแผนบุคลากรด้านการรักษาพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิผล ลดอัตราการเสียชีวิต และอัตราการติดเชื้อใหม่ได้ ตลอดจนการคาดคะเนระยะเวลาที่จะสามารถผ่อนปรนให้มีการเปิดกิจการประเภทต่างๆ

4.4 การปรับปรุงโครงสร้างคณะกรรมการบริหารจัดการโควิด-19 คล้ายกับกรณีของประเทศสิงคโปร์ โดยให้มีกรรมการที่เป็นตัวแทนทั้งหน่วยงานด้านสาธารณสุข ความมั่นคง เศรษฐกิจ สื่อสาร พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ และมีองค์ประกอบผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติม

การประชุมพิจารณาโดยกรรมการจากหน่วยงานที่หลากหลายและผู้ทรงคุณวุฒิหลายด้านจะทำให้ได้ทางเลือกเชิงนโยบายที่เหมาะสม

 4.5 การต่อยอดมาตรการเยียวยา ผลกระทบที่สำคัญของการปิดเมือง ปิดกิจการ คือประชาชนตกงาน หนี้สินครัวเรือนสูงขึ้น ธุรกิจขนาดเล็กไม่สามารถดำรงอยู่ได้ และจะมีผลให้เกิดความเครียด สิ้นหวัง ท้อแท้ และฆ่าตัวตายที่มากกว่าเดิมกว่าปีละห้าร้อยคน มาตรการเยียวยาต่างๆ ที่รัฐออกมามีความจำเป็นในระยะแรกเพื่อแก้ปัญหาฉุกเฉิน แต่ในระยะต่อไปควรมีความจำเพาะกับกลุ่มที่ประสบปัญหาสูงสุดให้มากขึ้น  และเพิ่มมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาวคู่ขนานกันไป แม้จะต้องกู้ยืมเงินมาเพิ่มเติมจนทำให้อัตราหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงเกินร้อยละ 60 แต่ถ้าใช้เงินกู้อย่างมีประสิทธิผล ก็จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะนอกจากจะรักษาชีวิตคนไทย ยังสามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและยั่งยืน

เงื่อนไขคือ รัฐต้องมีโครงการลงทุนที่สามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมให้สอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการของประชาชนและธุรกิจในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งควรเริ่มเปลี่ยนรูปแบบการให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มประชาชนและธุรกิจที่ถูกผลกระทบรุนแรงแทนการอุดหนุนแบบเหวี่ยงแห เช่น การช่วยเหลือผู้ตกงานที่กลับบ้านไม่ได้และต้องอยู่ในเมืองโดยไม่มีงานทำ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ตกงานนำเชื้อจากเมืองใหญ่ไปสู่บ้านเกิด เป็นต้น

การตัดสินใจแบบนี้ย่อมต้องมีการพัฒนาและใช้ฐานข้อมูลที่แม่นยำ การใช้มาตรการควบคุมการระบาดแบบบูรณาการข้ามศาสตร์โดยคำนึงถึงผลกระทบและการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจและสังคม และที่สำคัญที่สุด คือการตัดสินใจลงทุนในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจขนานใหญ่จะต้องเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนและนักธุรกิจในพื้นที่มีส่วนร่วมกับภาครัฐในการตัดสินใจ ไม่ใช่ปล่อยให้หน่วยราชการเป็นผู้ดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว

คณะผู้จัดทำ 

ด้านสาธารณสุขและการแพทย์ 

นพ. คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ผศ.ดร.นพ. บวรศม ลีระพันธ์ นพ. พงศ์เทพ วงศ์วัขระไพบูลย์ นพ. ประสิทฺธิไชย มั่งจิตร นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ นพ. สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

ด้านวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

รศ. ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร ดร.สมชัย จิตสุชน ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นายกัมพล ปั้นตะกั่ว น.ส.ชวัลรัตน์ บูรณะกิจ น.ส.อุไรรัตน์ จันทรศิริ