โครงการวิจัย การเตรียมความพร้อมทักษะชาวนาไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0 (Preparing Skills of Rice Farmers in the Era of Thailand 4.0)

เทคโนโลยี มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาภาคเกษตรของไทย เริ่มจากเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ข้าว การใช้เครื่องจักรกลเพื่อลดและทดแทนแรงงาน และล่าสุดคือ เทคโนโลยีดิจิทัล แม้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว แต่การใช้และการยอมรับการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวยังไม่แพร่หลายนัก สาเหตุน่าจะมาจากการยึดติดกับวิธีการแบบดั้งเดิมของชาวนาส่วนใหญ่ที่เป็นผู้สูงอายุและการประหยัดต่อขนาดที่ไม่คุ้มทุนสำหรับชาวนารายย่อย ขณะที่นโยบายของรัฐ ที่หวังว่าจะเป็นเครื่องมือในการยกระดับรายได้ของชาวนากลับไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดและเป็นภาระทางการคลังอีกด้วย

เพราะฉะนั้น สำหรับ แนวทางการพัฒนาทักษะของชาวนา ในปัจจุบันนั้น ควรพัฒนาทั้งทักษะหลัก (Hard Skill) ได้แก่ ทักษะด้านดิจิทัล ทักษะด้านการใช้เครื่องจักรกล ทักษะด้านการตลาด การเงิน การทำบัญชี และ ทักษะเสริม (Soft Skills) ได้แก่ การปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ การจัดการความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในกระบวนการผลิตทางการเกษตร และการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ส่วนแนวทางการส่งเสริมพัฒนาทักษะชาวนาไทยสามารถทำได้โดยการอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐ ในการจัดอบรมส่งเสริมความรู้และทักษะแก่เกษตกร หรือภาคเอกชนในการถ่ายทอดทักษะและการใช้เทคโนโลยีสู่ชาวนาผ่านการขาย ให้บริการเช่า/ยืมเครื่องจักรกลสมัยใหม่ รวมถึงมาตรการส่งเสริมเกษตรกรด้วยลักษณะจากล่างขึ้นบน (Bottom Up Approach) โดยเริ่มจากปัญหาและความต้องการของเกษตรกรซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น จากนั้นให้สถาบันการศึกษาในท้องที่ดังกล่าวเป็นตัวขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา ผลจากการดำเนินการนี้จะเป็นแนวปฏิบัติให้เกิดการช่วยเหลือและพัฒนาเกษตรกรเหล่านั้นได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

Download