คำกล่าวปาฐถา ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล “การศึกษาพื้นฐาน รากฐานการอยู่รอดในโลกใหม่” สัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอประจำปี 2564

เรียน ท่านกรรมการสภาทีดีอาร์ไอ ท่านประธานทีดีอาร์ไอ คณะผู้บริหาร และทีมงาน ท่านสื่อมวลชน และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมขอขอบคุณคณะผู้จัดงานสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอประจำปี 2564 เป็นอย่างยิ่งที่ให้เกียรติเชิญผมมากล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “การศึกษาพื้นฐาน รากฐานการอยู่รอดในโลกใหม่” ในการประชุมครั้งนี้ โดยผมจะขอถือโอกาสกล่าวในนามของประธานคณะกรรมการสถาบันTDRI และในนามประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ร่วมกัน 

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็น TDRI และ กสศ. ขับเคลื่อนภารกิจการปฏิรูปการศึกษาต่อเนื่องจากงานที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา หรือ กอปศ. ได้เริ่มต้นไว้ในหลายส่วน โดยเฉพาะภารกิจเรื่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หรือ Education Sandbox และ ภารกิจเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษา ผมจึงอยากจะขอใช้โอกาสที่ผมได้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในส่วนของการจัดตั้งองค์กร และการเป็นประธานคณะกรรมการบริหารของทั้งสององค์กรนี้ นำเสนอความสำคัญของการศึกษาพื้นฐาน ทั้งในมิติของความเสมอภาค และความสำคัญของการสร้างสรรค์นวัตกรรมการศึกษาที่จะเป็นรากฐานของการอยู่รอดในโลกใหม่

ความก้าวหน้าของภารกิจพื้นฐานที่สำคัญของประเทศทั้ง 2 เรื่องนี้ นอกจากจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการอยู่รอดในโลกใหม่ของเด็กเยาวชนไทยแล้ว ยังจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศที่มั่นคงและยั่งยืนในโลกยุคหลัง COVID-19

ท่านผู้มีเกียรติครับ 

หากพูดถึง จินตนาการแห่งโลกใหม่ กับการพัฒนาประเทศ” ผมอยากชวนพวกเรามองย้อนกลับไปเมื่อราว 30 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประชาคมโลก และคนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคเอกชน และภาครัฐ มี “จินตนาการร่วมกันว่า” ด้วยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษจากนโยบายการเปิดเสรีทางการค้า และการเงิน ประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่การเป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ แห่งเอเชีย ตามประเทศเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง ก่อนที่วิกฤตเศรษฐกิจจะหยุดจินตนาการดังกล่าวเอาไว้เมื่อปี2540

อย่างไรก็ดี เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมไทยเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะที่มีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วง 5-10 ปีถัดมา ระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาแรงงานอย่างเข้มข้นของไทยต้องประสบกับความท้าทายที่สำคัญจากการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าจ้างที่ต่ำกว่า รวมถึงการที่ประชากรวัยแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศไทยที่ยังคงเป็นแรงงานทักษะขั้นต่ำซึ่งมีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยเพียง 7-8 ปีเท่านั้น กำลังถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิตสินค้าและบริการจากกระแสการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ส่งผลให้รายได้ที่แท้จริงของกำลังแรงงานไทยแทบทุกระดับการศึกษามีแนวโน้มลดลงจากระดับก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 อย่างต่อเนื่อง[1]  

ดังแสดงภาพที่ 1 ทำให้แม้เวลาจะผ่านมาแล้วกว่า 2 ทศวรรษประเทศไทยก็ยังคงติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางอยู่เช่นเดิม

นอกจากนั้น หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยก็มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากรายงานของธนาคารโลก[2] เมื่อปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าอัตราการเติบโตของรายได้ในกลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุดร้อยละ 40 ของประเทศ หรือ Bottom 40 มีแนวโน้มถดถอยลงในช่วงปี 2558-2561 แม้รายได้เฉลี่ยของประชากรทั้งประเทศจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 

แตกต่างจากพัฒนาการที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วงก่อนหน้านั้น และพัฒนาการที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างฟิลิปปินส์ซึ่งอัตราการเจริญเติบโตของรายได้เฉลี่ยของประชากรทั้งประเทศ และของประชากรที่ยากจนที่สุดร้อยละ 40 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นควบคู่กันอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีระหว่างปี 2549-2558 ดังแสดง ภาพที่ 2

ครับ แม้จะมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากที่เป็นปัจจัยของปัญหาการเจริญเติบโต และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยในหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลขององค์การ UNESCO เมื่อปี 2558 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีเด็กเยาวชนที่มาจากครอบครัวฐานะยากจนที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศเพียงร้อยละ 8 เท่านั้นที่สามารถฝ่าฟันอุปสรรคจนเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ ต่ำกว่าเด็กที่มาจากครัวเรือนร่ำรวยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศกว่า 6 เท่า ดังแสดง ภาพที่ 3 

เป็นที่น่าสังเกตว่าจากการวิเคราะห์ข้อมูลของ UNESCO พบว่า ในกลุ่มประเทศรายได้สูงนั้น โอกาสในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาของเด็กจากครัวเรือนยากจนที่สุดและเด็กจากครัวเรือนที่ร่ำรวยที่สุดนั้นใกล้เคียงกันมากที่ร้อยละ 44 และ 62 ตามลำดับ ของไทย 8 กับ 48 ความเสมอภาคทางการศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน

ภาพที่ 1

ภาพที่ 2

ภาพที่ 3

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ผมขอนำผลการวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ที่ได้ศึกษาข้อมูลการศึกษาของประชากรไทยย้อนหลังไปมากกว่า 60 ปี จากฐานข้อมูล Global Database on Intergenerational Mobility (GDIM) ของธนาคารโลกซึ่งพบว่า ในเวลาเพียง 1 Generation คนไทยได้รับการศึกษามากขึ้นอย่างมาก จากเดิมที่ประชากรรุ่นพ่อแม่ที่เกิดในช่วง พ.ศ.2500 (Generation X) มีประชากรมากกว่าร้อยละ 40 ที่ไม่ได้รับการศึกษาเลย ในขณะที่ประชากรรุ่นลูกของคนกลุ่มนี้ (Generation Y) ซึ่งเกิดในช่วง พ.ศ. 2520 สัดส่วนของประชากรที่ไม่ได้รับการศึกษาเลยลดลงเหลือเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น ความก้าวหน้าในการลดสัดส่วนประชากรที่ไม่ได้รับการศึกษาลงมากกว่า 20 เท่าภายในระยะเวลา 1 ชั่วคนนี้ต้องให้เครดิตแก่หน่วยงานด้านการศึกษาทุกสังกัดที่ร่วมกันส่งเสริมความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ GDIM ยังพบหลักฐานที่น่าสนใจของปรากฎการณ์ “การสืบทอดทุนมนุษย์ข้ามรุ่น” (Intergenerational Privilege) ในประเทศไทย กล่าวคือ หากพ่อแม่มีการศึกษาสูงสุดระดับมหาวิทยาลัย รุ่นลูกจะมีโอกาสสูงมากถึงร้อยละ 48 ที่จะสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาเช่นกัน ในขณะที่หากพ่อแม่มีการศึกษาสูงสุดระดับต่ำกว่าประถมศึกษาแล้ว โอกาสที่รุ่นลูกจะมีการศึกษาสูงสุดในระดับอุดมศึกษาจะมีเหลือเพียงร้อยละ 16 เท่านั้น และมีโอกาสมากถึงร้อยละ 49 ที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา และร้อยละ 34 ที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นข้อค้นพบที่สอดคล้องกับรายงานขององค์การ UNESCO และข้อมูลจากการสอบ TCAS ในปีการศึกษา 2564 ที่ผ่านมาซึ่งมีนักเรียนจากครอบครัวยากจนและยากจนพิเศษ หรือ Bottom 20 ที่สามารถสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้เพียงร้อยละ 10-12 เท่านั้น

ท่านผู้มีเกียรติครับ 

หากพวกเราลองจินตนาการกันดูว่าลูกหลานของครัวเรือนยากจนและยากจนพิเศษมากกว่าร้อยละ 90 ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา หรือ ประถมศึกษาเหล่านี้ มีโอกาสที่จะติดอยู่ในกับดักความยากจน หรือ หลุดพ้นออกจากกับดักนี้มากกว่ากันครับ? สภาพการทำงาน ความมั่นคงในสุขภาพ และครอบครัวเช่นใดที่รุ่นเขาและรุ่นลูกของเขาจะต้องเผชิญ? 

หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ มีโอกาสสูงมากที่ความยากจนจากรุ่นพ่อแม่ของเขาจะถูกส่งต่อไปยังรุ่นเขาและรุ่นลูกของเขาต่อไป ซึ่งเราเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า ปัญหาความยากจนข้ามชั่วคน หรือ Intergenerational Poverty ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน

การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยจึงเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถ “หยุด” ปัญหาความยากจนข้ามชั่วคน ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพกำลังคนให้สามารถอยู่รอดในการแข่งขันของโลกยุคใหม่ได้อย่างยั่งยืน แม้ว่า COVID-19 จะส่งผลให้สถานการณ์การหลุดออกนอกระบบของนักเรียนรุนแรงขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย หนึ่งในหมุดหมายการพัฒนาประเทศที่สำคัญสำหรับประเทศไทยในยุคหลัง COVID-19 คือ การรักษาเด็กเยาวชนทุกคนให้สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นอย่างน้อย และมีโอกาสที่เสมอภาคในการพัฒนาทุนมนุษย์ตามศักยภาพและความถนัดของเขาเป็นรายบุคคลเพื่อให้ทรัพยากรมนุษย์รุ่นใหม่เหล่านี้มีทักษะแรงงานที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในยุคโลกใหม่ 

มาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐและภาคเอกชนจะลงทุนในอนาคตอันใกล้นี้ควรคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายและโจทย์การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นี้ ซึ่งนอกจากจะช่วยพัฒนารากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศในระยะยาวแล้ว ยังถือเป็นมาตรการที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าที่หลายคนคิด

จากผลการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า การดึงเด็กกลุ่มที่หลุดจากระบบการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานกลับมาได้ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้ในระยะยาว และเป็นการลงทุนของภาครัฐที่คุ้มค่าในระดับเดียวกันกับโครงการลงทุนภาครัฐขนาดใหญ่ 

โดยจากการประเมินผลตอบแทนส่วนบุคคล หรือ Estimated Private Benefit ที่เพิ่มขึ้นจากการขจัดปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษา หรือการรักษาให้เด็กเยาวชนให้สามารถคงอยู่ในระบบการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน (มัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า) ทุกคน มีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมแล้วประมาณ 20,000-110,000 ล้านบาทต่อปี ตลอดช่วงอายุการทำงานของพวกเขา วงเงินดังกล่าวเมื่อคิดเป็นอัตราผลตอบแทนของการลงทุนหรือ IRR แล้ว  จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 9.3 ซึ่งสูงกว่าต้นทุนทางการเงินของรัฐที่อยู่ราวร้อยละ 2.7 และอยู่ในระดับสูงเทียบเคียงกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้า หรือการลงทุนในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ของรัฐบาล ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะพิจารณาโครงการที่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในระดับ
ร้อยละ 9-12

นอกจากนั้นผลตอบแทนดังกล่าวยังไม่นับรวมผลตอบแทนทางสังคม หรือ Social Return on Investment  ในเชิงมหภาคของการศึกษาที่เพิ่มขึ้น เช่น อัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษาที่ลดลง จะส่งผลให้คุณภาพแรงงานและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งสุขภาพประชากรจะแข็งแรงมากขึ้น ทำให้ความเสมอภาคทางสังคมและคุณภาพชีวิตดีขึ้นตามลำดับ ดังนั้นการลงทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงไม่เพียงแต่เป็นการลงทุนที่มีความคุ้มทุนทางการเงินแล้ว แต่การแก้ไขปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาทุนมนุษย์ยังมีนัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในโลกยุคหลัง COVID-19

ท่านผู้มีเกียรติครับ

เพื่อให้การดำเนินการตามเป้าหมายดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ผมขอนำเสนอมาตรการสำคัญ 5 ประการดังต่อไปนี้

ประการที่ 1 
การสร้างเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อสนับสนุนการสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ผ่านการบูรณาการด้านระบบข้อมูลสารสนเทศรายบุคคล เครือข่ายการทำงานเชิงพื้นที่ รวมทั้งการกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดการพัฒนารายช่วงวัยตั้งแต่ระดับปฐมวัย จนถึงวัยแรงงาน เพื่อให้เด็กเยาวชนทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยอยู่กับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ทั้ง Bottom 40 และ Bottom 20 ได้รับโอกาสที่เสมอภาคในการศึกษาและการพัฒนาจนสามารถออกจากกับดักความยากจนได้ในGeneration นี้

ประการที่ 2

การยกระดับขีดความสามารถ และทรัพยากรของโรงเรียนที่มีประชากรนักเรียนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และด้อยโอกาส ให้สามารถมีระบบการเฝ้าระวัง และการส่งต่อกลุ่มเป้าหมายที่มีความด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจสังคม และสุขภาพ ให้แก่หน่วยงานที่มีภารกิจโดยตรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการปรับปรุงระบบการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษา และอัตรากำลังครูตามหลักอุปสงค์ และหลักความเสมอภาค เพื่อให้โรงเรียนมีทรัพยากรและกำลังคนที่เพียงพอทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเสมอภาคแก่นักเรียนทุกคน

ประการที่ 3

ส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ (Culture of Evidence) การดำเนินการตามมาตรการทั้ง 2 ประการข้างต้นด้วยการวิจัยทดสอบนวัตกรรมในพื้นที่จริง และมีการติดตามประเมินผลเพื่อใช้ประกอบการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและการขยายผลการดำเนินงานสู่ระดับชาติ ถือเป็นกลยุทธ์การทำงานที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง การปฏิรูปที่มุ่งเน้นเฉพาะอยู่ที่เป้าหมายหรือเจตนาที่ดีของผู้นำการปฏิรูปเท่านั้น ยากที่จะได้รับการสนับสนุนในวงกว้างอย่างยั่งยืนจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เราจำเป็นที่จะต้องสามารถสื่อสารให้ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน ไปจนถึงเด็กเยาวชนที่เกี่ยวข้องให้สามารถเข้าใจ และยอมรับด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างแท้จริงว่า การปฏิรูปดังกล่าวสอดคล้องต่อความต้องการ และบริบทในพื้นที่ของพวกเขาอย่างแท้จริง ผมมีความยินดีที่ทางกระทรวงศึกษาธิการ TDRI และหน่วยงานภาคีได้ดำเนินงานภายใต้ พรบ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หรือ Education Sandbox ซึ่งถือเป็นกลไกเชิงนโยบายที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการศึกษาที่จะเป็นรากฐานของการอยู่รอดในโลกใหม่ที่มีประสิทธิภาพ และการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในระดับพื้นที่และระดับชาติ

ประการที่ 4

การส่งเสริมทางเลือกในการศึกษาทางเลือก หรือ Alternative Education และการพัฒนาทักษะแรงงานที่สอดคล้องกับเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมยุคใหม่ให้กับเยาวชนวัยหลังการศึกษาภาคบังคับเพื่อให้เขามีทางเลือกที่เสมอภาคในการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพ และพรสวรรค์ของเขาควบคู่ไปกับการหารายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวอย่างยืดหยุ่น

และประการที่ 5

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ข้อเสนอมาตรการทั้ง 4 ประการข้างต้นนี้ หาใช่ภารกิจของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือ ภาคส่วนใด ภาคส่วนหนึ่งเท่านั้น 

หากประสบการณ์ และข้อมูลวิชาการที่พวกเราได้สั่งสมมาหลายทศวรรษบนเส้นทางสู่การพัฒนาประเทศจะให้จินตนาการหรือโมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลัง COVID-19 ที่สำคัญได้บ้างนั้น ผมอยากชวนให้ทุกท่านร่วมกันจินตนาการถึงโมเดลการพัฒนาที่เด็กเยาวชน และคนไทยทุกคนมีโอกาสที่เสมอภาคกันในการได้รับโอกาสในการศึกษา และการพัฒนาพรสวรรค์ของพวกเขาให้สามารถเติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศท่ามกลางความท้าทายในวันข้างหน้า จากพลังความร่วมมือของพวกเราคนไทยทุกคน 

ดังวลีที่ว่า All for Education เพื่อ Education for All ที่ผ่านมาเราสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าไประหว่างเส้นทางแห่งการพัฒนานี้เป็นจำนวนมาก ทำให้พวกเรายังไม่ได้มีโอกาสเห็นศักยภาพของเด็กเยาวชนและครัวเรือนเหล่านี้ในการพัฒนาประเทศอย่างเต็มที่

ข้อมูลวิชาการและผลการวิจัยได้ชี้ให้เห็นทิศทางการพัฒนาประเทศหลัง COVID-19 ที่ค่อนข้างชัดเจนว่า หากประเทศไทยจะสามารถก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางสู่การเป็นประเทศรายได้สูงตามเป้าหมายภายใน 20 ปีนั้น เราคนไทยทุกคนจำเป็นต้องไปถึงเป้าหมายแห่งการพัฒนาที่สำคัญนี้ด้วยกัน เด็กเยาวชนไทยทุกคนต้องสามารถก้าวออกจากกับดักความยากจนของครัวเรือนตนเองได้ด้วยการศึกษาและการพัฒนาพรสวรรค์ของตนอย่างเสมอภาค วันที่ความยากจนข้ามชั่วคนถูกขจัดออกไปจากสังคมไทยได้สำเร็จ จะเป็นวันที่ประเทศไทยสามารถก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้สำเร็จเช่นเดียวกัน

สุดท้ายนี้ผมขอแสดงความชื่นชม TDRI และ กสศ. ที่ให้ความสำคัญกับโจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อเสถียรภาพ และความมั่นคงของเศรษฐกิจ และของประเทศ ผมเองในสมัยที่พึ่งเริ่มงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อราว 40 ปีก่อน ก็ได้มีโอกาสจับงานที่เกี่ยวกับเรื่องความเหลื่อมล้ำและปัญหาความยากจนของคนไทย 

แม้เวลาผ่านไปสถานการณ์ของประเทศในเรื่องนี้จะมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้นบ้าง แต่ก็ยังคงมีโจทย์สำคัญหลายเรื่องที่ประเทศไทยควรเร่งจัดการอย่างเป็นระบบก่อนที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ขอเป็นกำลังใจให้ทีมงานที่อุทิศแรงกาย แรงใจให้แก่ภารกิจที่สำคัญของประเทศนี้ทุกคนครับ

ขอบพระคุณท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ


[1] ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ และ ฐิติมา ชูเชิด (2556)

[2] Taking the pulse of poverty and inequality in Thailand, Word Bank (2020)