tdri logo
tdri logo
8 พฤศจิกายน 2021
Read in Minutes

Views

บทสัมภาษณ์ วีรพงษ์ รามางกูร

บทสัมภาษณ์ ดร. วีรพงษ์ รามางกูร ในชื่อหนังสือ: “30 ปี ทีดีอาร์ไอ  30 ปี การพัฒนาเศรษฐกิจไทย”

พิมพ์ครั้งแรก: พฤศจิกายน 2557

อาจารย์ประเมินความสำเร็จและความล้มเหลวของกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาอย่างไร                       

ผมคิดว่าประเทศไทยก็ได้รับความสำเร็จในการพัฒนาประเทศมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่สองเมื่อปี 2522 ช่วงเวลานั้นมันเกิดวิกฤตขึ้นทั่วโลก ซึ่งเราก็หนีไม่พ้น  วิกฤตที่รุนแรงคือในช่วงปี 2525-2528 และครึ่งหลังของปี 2529 แต่หลังจากนั้นเศรษฐกิจของเราก็เฟื่องฟูอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับการเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งประกอบด้วยเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ตอนนั้นเราก็คิดว่าเราจะเป็นเสือตัวที่ห้า

การเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจก็ดำเนินมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียเมื่อปี 2534 เมื่ออิรักบุกคูเวต ก็ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เราก็แก้ไขปัญหานั้นได้ โดยผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น และรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ตอบสนองสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งเข้าใจสถานการณ์ต่างๆได้เป็นอย่างดี

ปี 2527 ซึ่งมีการตั้งทีดีอาร์ไอเป็นปีที่เศรษฐกิจของเราซบเซาถึงที่สุด ก่อนที่จะฟื้นตัวในปี 2529  ผลงานในยุคแรกๆ ที่ทำให้คนรู้จักทีดีอาร์ไอ ก็คือการนำเทคนิคทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการพยากรณ์ภาวะเศรษฐกิจมหภาค  การที่เราจัดสัมมนาทุกปี ก็ทำให้สามารถเสนอการพยากรณ์หรือการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจ พร้อมๆ กับสามารถเสนอแนะนโยบายทางด้านมหภาคในเรื่องของการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งที่เป็นนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง

เมื่อมีรัฐประหารในปี 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ก็ตั้งคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี งานต่างๆ ที่ทีดีอาร์ไอทำไว้ในช่วงนั้นก็ได้นำมาใช้หลายเรื่อง เป็นต้นว่า การปรับปรุงโครงสร้างภาษีอากรครั้งใหญ่ ก็ถือได้ว่าเป็นการปฏิรูประบบภาษีอากรเลยก็ว่าได้ มีการนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ มีการตราพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มีการตั้งคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และมีการปรับปรุงระเบียบกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์

สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากร ที่ได้รับความสำเร็จอย่างยิ่งก็คือโครงสร้างภาษีรถยนต์ มีการเปลี่ยนนโยบายจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า ให้การส่งออกเป็นตัวนำในการพัฒนาอุตสาหกรรม เราลดกำแพงภาษี แล้วชดเชยด้วยการใช้ภาษีสรรพสามิต ทำให้มีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมรถยนต์ครั้งใหญ่ จนประเทศไทยกลายเป็นประเทศส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่สำคัญของภูมิภาค ประจวบกับก่อนหน้านั้นในสมัยรัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลพลเอกชาติชาย มีการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก ซึ่งผู้ที่ผลักดันโครงการนี้จนเป็นผลสำเร็จ ก็คือ ดร.เสนาะ อูนากูล ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งทีดีอาร์ไอ

นอกจากนั้นก็มีการปรับปรุงระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการอนุมัติการให้บัตรส่งเสริมการลงทุน  สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือสิ่งที่เรียกว่า one-stop service center เมื่อก่อน การตั้งโรงงานนั้นยุ่งยากมหาศาล ต้องได้ลายเซ็นถึง 150 ลายเซ็น เราก็พยายามลดขั้นตอนต่างๆ นอกจากนั้น พิธีการศุลกากรก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไข สรรพากรเขตก็เกิดขึ้นในช่วงนั้น  มีการปรับบทบาทของธนาคารออมสิน เพราะแต่เดิม ธนาคารออมสินเป็นธนาคารขาเดียว คือรับแต่เงินฝาก เพื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาล แต่ต่อมารัฐบาลเกินดุลทุกปี ธนาคารออมสินก็ไม่มีที่ปล่อยเงินฝาก ก็มีการแก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน ให้สามารถปล่อยสินเชื่อให้กับภาคเอกชนได้ นอกจากนั้น เรื่องการพัฒนาชนบท ซึ่งเป็นเรื่องที่ผลักดันโดยคุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์  ก็ปรากฏผลอย่างมากในช่วงที่มีการตั้งทีดีอาร์ไอ

ผมจำได้ว่าช่วงที่ผมเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มีเรื่องที่ผมอยากทำภายใน 1 ปี 16 เรื่อง ทำสำเร็จภายในปีนั้น 15 เรื่อง เหลือเรื่องเดียวคือการตั้งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า แต่ก็ได้จัดตั้งขึ้นในภายหลัง

สำหรับเรื่องแผนพัฒนาชนบทนั้นเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ซึ่งมีโครงการมากมายที่ยังเห็นอยู่ทุกวันนี้ เช่น ให้ทุกอำเภอมีโรงพยาบาล เดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เรื่องโภชนาการ แต่ก่อนมีเด็กขาดสารอาหารเยอะ เราเป็นประเทศที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ แต่ประชากรเด็กกว่าร้อยละ 70 ขาดสารอาหาร ไม่ใช่ไม่มีอาหาร แต่ไม่รู้จักทานอาหารที่มีประโยชน์  การตั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เดี๋ยวนี้เกือบจะไม่มีเด็กที่ขาดสารอาหาร คนเป็นตานขโมยพุงโรก้นปอดหายไปหมด

การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ประกอบกับในช่วงนั้นเราพบก๊าซธรรมชาติ ก็มีส่วนทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สำหรับระบบการจัดการเรื่องพลังงาน การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ซึ่งตั้งขึ้นในสมัยนายกฯ เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็มีบทบาทในช่วงวิกฤตการณ์พลังงานครั้งที่สองอย่างมากและประสบความสำเร็จในการเป็นหน่วยงานที่นำตลาดในเรื่องพลังงาน

จนกระทั่งเกิดวิกฤตการเงินในปี 2540 ซึ่งเป็นบทเรียนที่สำคัญเพราะเกิดจากนโยบายการเงินที่ผิดพลาด แต่ในที่สุด หลังจากวิกฤตการเงินในปี 2540 เราก็สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และเป็นการฟื้นตัวที่แข็งแรง เพราะเป็นการเขย่าให้มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งที่สอง หลังจากปรับโครงสร้างครั้งแรกในสมัยพลเอกเปรมต่อเนื่องถึงสมัยพลเอกชาติชาย

หลังวิกฤตการณ์ในปี 2540 จากประเทศที่ขาดดุลการค้าและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาตลอด เราก็กลายเป็นประเทศที่เกินดุลการค้าและเกิดดุลบัญชีเดินสะพัดมาตลอด ฐานะทางการเงิน ความมั่นคงของทุนสำรองระหว่างประเทศ และเสถียรภาพทางการเงินก็ดีกว่าเมื่อก่อนมาก แต่หลังจากปี 2540 มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากมายหลายอย่าง จนในที่สุดก็ไม่มีการลงทุนอะไรเลยตลอดมาจนบัดนี้ การลงทุนในโครงการใหญ่ๆ โครงการสำคัญๆ ว่างเว้นมานาน

อาจารย์คิดว่าอะไรทำให้การลงทุนเกิดขึ้นไม่ได้

ผมคิดว่าการเมือง การเมืองที่ยังไม่เรียบร้อย ยังไม่พัฒนา ความไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย การเล่นนอกกติกาต่างๆ เหล่านี้ ทำให้แก้ไขปรับปรุงกฎบัตรกฎหมายที่จำเป็นทำได้อย่างล่าช้า

ความขัดแย้งทางการเมืองมีมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2540 จนกระทั่งมีรัฐประหารในปี 2549 ตั้งแต่นั้นมา ความไม่แน่นอนและความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราไม่สามารถใช้ส่วนเกินของเรามาลงทุนในด้านต่างๆ ได้อย่างเพียงพอ ซึ่งก็ลากยาวมาจนถึงเดี๋ยวนี้

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจก็ไปตามทางของมันเรื่อยๆ จนกระทั่งเราเคยเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวสูงรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่เศรษฐกิจของเราใหญ่กว่าสิงคโปร์และมาเลเซียค่อนข้างมาก ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายและก็คงจะมีปัญหาต่อไป

อาจารย์เล่าถึงความสำเร็จหลายเรื่องแต่เราก็ยังมีปัญหาอีกมาก  ในปัจจุบันอะไรเป็นปัญหาสำคัญที่เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเป็นครั้งที่สาม

สำหรับครั้งที่สาม เรามาถึงจุดที่ต้องหันมาดูภาคเกษตร เรามีพื้นที่ภาคเกษตรกว้างใหญ่ไพศาล แม้ว่าเราจะผลิตสินค้าเกษตรเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 12 ของจีดีพี แต่ก็เป็นภาคที่สร้างงานให้กับแรงงานของเราค่อนข้างมาก และมีสัดส่วนสำคัญในสินค้าส่งออก ซึ่งก็ทำให้เกิดกิจการต่อเนื่องจากภาคเกษตรมากมาย อุตสาหกรรมที่เรามีความได้เปรียบในการส่งออกก็มักจะเป็นอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากการเกษตรและประมง ผมถือว่าปศุสัตว์และประมงเป็นส่วนหนึ่งของเกษตรกรรม เกตรกรรมประกอบด้วยกสิกรรม ปศุสัตว์ และประมง ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมส่งออกของเรา

รายได้ประชาชาติต่อหัวของเราก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งจากประเทศที่มีคนว่างงานก็กลายเป็นประเทศที่ขาดแคลนแรงงาน จนต้องนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศมาทำงานในภาคก่อสร้าง ในภาคเกษตร และในภาคที่คนไทยไม่ทำแล้ว เราก็ไม่ค่อยพร้อมที่จะโยกย้ายโรงงานของเราออกไปสู่ประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่าเรา ไม่เหมือนญี่ปุ่น ไม่เหมือนไต้หวัน พวกนั้นเขาเข้มงวดในการเข้าไปทำงานในประเทศของเขา แต่เขาก็ส่งเสริมให้บริษัทห้างร้านของเขาออกไปลงทุนในต่างประเทศ 

อีกอย่างหนึ่งก็คือ ชายแดนของเรายาว ระบบราชการก็ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการดำเนินนโยบายแบบเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ในเรื่องการจัดการและการโยกย้ายอุตสาหกรรมไปยังต่างประเทศ มีบางอุตสาหกรรมที่โยกย้ายไปประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

เนื่องจากรายได้ต่อหัวของเราสูง ภาคเกษตรของเราจึงแข่งขันไม่ได้ แล้วมันจะเป็นภาคเศรษฐกิจที่ต้องชดเชยด้วยภาษีอากรมากขึ้นทุกที  ภาคเกษตรของเราไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มันมีความแตกต่างกันเยอะแยะ มีทั้งภาคเกษตรก้าวหน้าและภาคเกษตรล้าหลัง ภาคเกษตรก้าวหน้าคือภาคเกษตรที่อยู่ในเขตชลประทาน ซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละ 20 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด อีกร้อยละ 80 อยู่ในพื้นที่ที่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก

พืชที่ใช้ที่ดินและใช้น้ำมากอย่างข้าวเป็นตัวอย่างหนึ่ง นโยบายขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไรกับข้าว  เรามีข้าวหลายชนิด ข้าวหอมมะลิ ข้าวขาวตาแห้ง ข้าวเสาไห้ หรือข้าวขาวอย่างอื่นราคายังพอไปได้ แต่ข้าวเหล่านี้เป็นข้าวนาปี เป็นข้าวที่ปลูกในเขตเกษตรน้ำฝน ผลผลิตต่อไร่ต่ำ มีความไม่แน่นอนสูงแต่ราคาดี ซึ่งเราใช้ที่ดินที่ดีที่สุดปลูกข้าวคุณภาพต่ำที่สุด และปลูกหลายรอบ แล้วเราก็ใช้เครื่องมือเครื่องจักรเป็นส่วนใหญ่ ใช้แรงงานนิดเดียว และอาศัยการอุดหนุนจากรัฐบาล  ถ้าขืนยังทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นการดูดซับทรัพยากรทางการเงินของประเทศให้สูญไปเปล่าๆ เพราะฉะนั้นภาคเกษตรต้องว่ากันใหม่

ภาคเกษตรเป็นภาคที่ปรับยากที่สุดและมีอิทธิพลทางการเมืองเข้ามามาก ประกอบกับประเทศเพื่อนบ้านเขาก็มีถนนหนทาง เขาก็เปิดเสรีมากขึ้น แรงงานของเขาก็มีเยอะ เราต้องเลิกภูมิใจกับการเป็นผู้ส่งออกข้าวได้แล้ว เพราะเราจะต้องใช้เงินภาษีอากรมาช่วยเหลือให้ผลิตข้าวเพื่อสู้กับประเทศเพื่อนบ้าน มันสำปะหลังและอ้อยยังมีอนาคตมากกว่า ถ้าราคาพลังงานแพงขึ้นไปเรื่อยๆ    ส่วนข้าวไม่น่าจะมีอนาคต  เพราะฉะนั้นต้องปรับความคิดว่าควรจะลดการผลิตข้าว พื้นที่ที่ควรจะเปลี่ยนจากการปลูกข้าวเป็นอย่างอื่นคือพื้นที่ที่ยืดหยุ่นได้ง่าย นั่นคือพื้นที่ในเขตชลประทาน แทนที่จะใช้เงินปีละ 5-6 แสนล้านไปอุดหนุนให้เขาผลิตมากๆ เอาเงินจำนวนนี้ไปอุดหนุนให้เขาเปลี่ยนพืชที่ปลูกจะดีกว่า

เราต้องเลิกคิดส่งออกข้าว เพราะข้าวทุกเมล็ดที่ส่งออก เท่ากับเราเอาภาษีอากรของเราไปชดเชยให้กับผู้นำเข้าในต่างประเทศ ให้เขาได้กินข้าวของเราถูกๆ ทั้งที่ต้นทุนการผลิตของเราแพง  สำหรับผม ผมคิดว่าในเขตเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งเป็นเขตชลประทานที่ดีที่สุดของประเทศไทยน่าจะผลิตอย่างอื่น ส่วนจะผลิตอะไร ก็คงต้องอาศัยนักวิชาการทางด้านการเกษตร เป็นปาล์มน้ำมันได้ไหม เป็นอ้อยได้ไหม หรือเป็นผลไม้ราคาแพงได้หรือเปล่า

ความคิดของผมคือทำอย่างไรให้เขาผลิตน้อยลง โดยเขาไม่เดือดร้อน จะได้ชดเชยน้อยลง ซึ่งไม่มีใครคิดอย่างนี้  สมมติว่าอำเภอนี้ต้องการสนับสนุนปาล์มน้ำมัน ก็ต้องมีโรงงานผลิตน้ำมันปาล์ม หรืออะไรก็แล้วแต่ เข้ามารองรับ ซึ่งจะต้องประสานกับอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากภาคเกษตร

ปัญหาเรื่องข้าวจะเป็นปัญหาที่หนักอกอย่างยิ่ง เราต้องกลับหัวกลับหาง แทนที่จะใช้มาตรการที่ทำให้เขาปลูกมากขึ้น เราควรใช้มาตรการที่ทำให้เขาปลูกน้อยลง

ถ้าภาคกลางเลิกปลูก ภาคอีสานจะปลูกข้าวหอมมะลิมากขึ้น เพราะข้าวหอมมะลิแพงกว่า  ทางภาคอีสานเขาไม่มีชลประทาน เขาเปลี่ยนอาชีพยาก แล้วชาวนาภาคกลางก็ไม่ได้จน เขาทำเองที่ไหน เขาจ้างไถ จ้างหว่าน จ้างเกี่ยว ตัวเองนั่งสั่งการอยู่ที่บ้าน แต่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยจะโฆษณาว่าชาวนายากจน 

อันที่จริงเกษตรกรในเขตก้าวหน้าไม่ได้จน หรืออย่างในภาคตะวันออก เขาก็ปลูกผลไม้ เขาก็ไปได้ดี เขาก็ไม่ได้ทำนา จะบอกว่าผลตอบแทนจากผลไม้ต่ำกว่าข้าว ก็ไม่แน่ แล้วการปลูกไม้ยืนต้นก็เหมาะกับภาคกลาง ซึ่งมีแรงงานน้อย เพียงแต่ลงทุนครั้งแรกอาจจะแพงในการปรับพื้นที่และลงทุนเรื่องต่างๆ นอกจากนั้นการเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นไปได้ไหม ผมก็ไม่รู้ แต่ก็ต้องทดลองว่ารายได้จะดีกว่าปลูกข้าวไหม ต้องคิดนะ แต่ขณะนี้ไม่มีใครคิด คิดแต่จะช่วยชาวนา แล้ววิธีช่วยคือช่วยให้ผลิตมากขึ้น ไม่ได้ช่วยให้ผลิตน้อยลง

ในด้านอื่นๆ มีเรื่องอะไรอีกที่อาจารย์เป็นห่วง

ที่น่าห่วงมีสองเรื่อง เรื่องแรกคือระบบการขนส่งและการคมนาคม ซึ่งต้นทุนแพงกว่าที่อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งทางบก ซึ่งเรายังใช้ระบบถนนเป็นหลัก ระบบที่ถูกและมีประสิทธิภาพคือระบบราง ซึ่งเราล้าหลังมานาน  ถ้าเรามีระบบรางมาตรฐานที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ก็จะยิ่งสะดวก

เรื่องที่สองคือพลังงาน เราใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละประมาณสองเท่าของอัตราการเติบโตของจีดีพีตอนนี้เราใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก เพราะใช้ถ่านหินซึ่งถูกที่สุดไม่ได้ แล้วในอนาคตจะทำอย่างไรเรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงานจะเอาอย่างไร ที่จริงเราต้องกระจายแหล่งของพลังงานถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ชีวมวล และพลังงานอย่างอื่น ตอนนี้เราเอียงมาทางก๊าซ เพราะเอ็นจีโอไม่ให้สร้างอะไรทั้งนั้น

จริงๆ แล้ว ร้อยละ 70-75 ของไฟฟ้าในฝรั่งเศส มาจากนิวเคลียร์  ฮ่องกง จีน เวียดนาม ก็ใช้นิวเคลียร์  แต่เนื่องจากเหตุผลทางการเมืองและเอ็นจีโอทั้งหลาย เราก็คงทำไม่ได้ ในประเทศนี้พูดถึงนิวเคลียร์ไม่ได้

อาจารย์อยู่ในการเมืองมายาวนาน กระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจหรือกระบวนการพัฒนาประเทศ ในมุมของเศรษฐศาสตร์การเมือง 30 ปีที่ผ่านมามันเปลี่ยนไปอย่างไร

นายกฯ เปรม ท่านใช้เทคโนแครต ทหารมายุ่งน้อยมาก แทบจะไม่มีทหารมายุ่งเลย เพราะฉะนั้นก็เป็นโอกาสของเทคโนแครตที่ได้ทำงานอย่างเต็มที่  ส่วนนายกฯ ชาติชาย ท่านก็ใช้เทคโนแครตพอสมควร ผมเองก็เป็นที่ปรึกษา ต่อมาก็เป็นรัฐมนตรีเสนออะไรท่านก็เห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่หลังจากท่านได้ซักถามจนเป็นที่กระจ่าง ซึ่งผมประหลาดใจมาก เสนอให้ขึ้นราคาน้ำมันทุกอาทิตย์ ท่านก็เห็นด้วย ผมยังตกใจเลย นึกว่าท่านจะไม่เอา  ส่วนคุณอานันท์นี่เป็นรัฐบาลเทคโนแครต รวมทั้งตัวนายกฯ ด้วย

ส่วนคนอื่นก็อยู่สั้นๆ คุณบรรหารตัดสินใจเร็ว เข้าใจเรื่องได้เร็วพอๆ กับคุณอานันท์เลย เป็นคนที่รู้เรื่อง เป็นคนที่ไว แต่ไม่ใช่เทคโนแครต

สำหรับคุณทักษิณ ตอนที่ผมไปช่วยงาน ก็ไปกันได้ดีหลายเรื่อง เป็นคนตัดสินใจ ถ้าทำแล้วไปไม่ได้ ก็ถอย  เรื่องที่คิด 100 เรื่อง ถอยประมาณ 60 เรื่อง คือทำไปก่อน ถ้าไม่ดีก็ถอย ดีกว่าไม่ตัดสินใจ

อาจารย์ทำงานกับนายกฯ หลายคนชอบทำงานกับนายกฯ คนไหน

คงจะแล้วแต่สถานการณ์ นายกฯ เปรมก็เหมาะกับสถานการณ์ในช่วงนั้น พลเอกชาติชาย นายกฯ อานันท์ นายกฯ ทักษิณก็เหมาะกับสถานการณ์ขณะนั้น

ทีดีอาร์ไอเกิดขึ้นในยุคเทคโนแครต และมีความเป็นเทคโนแครตค่อนข้างมาก  ในสังคมการเมืองทุกวันนี้ ซึ่งคนกลุ่มหนึ่งบอกว่าเทคโนแครตตายไปแล้ว บทบาทของทีดีอาร์ไอควรเป็นอย่างไร

ไม่รู้ ผมออกมานานแล้ว แต่ภาพลักษณ์ในช่วงหลังเหมือนจะเอียงข้างไปทางการเมืองอยู่บ้าง

มันเป็นภาพลักษณ์ หรือเราเอียงจริงๆ

ไม่รู้ คนเขาคิดอย่างนั้น

ภาพลักษณ์ที่ดูเหมือนเอียงข้าง ส่งผลต่อทีดีอาร์ไออย่างไร

ทำให้น้ำหนักของการเสนอนโยบายมีน้ำหนักน้อยลง เรื่องนี้เขาจะยอมรับหรือไม่ ก็ไม่รู้ แต่ผมอยู่ข้างนอก ผมได้ยินอย่างนั้น และตอนนี้ภาพนั้นก็ยังอยู่ ซึ่งมันผิดจากวัตถุประสงค์ตอนเริ่มต้น ซึ่งคิดว่าประเทศไทยควรมีสถาบันที่เป็นอิสระ ไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง ทั้งด้านชอบหรือไม่ชอบ เพื่อทำงานวิจัยให้รัฐบาลนำไปใช้ประโยชน์

ถ้าภาพของเราไม่อิสระจากการเมือง น้ำหนักมันก็ลดลง

ถ้าจะล้างภาพพวกนี้ อาจารย์จะแนะนำว่าอย่างไร

ไม่แนะนำ เขารู้ เขาทำใจยาก ความเกลียด ความรัก มันเกิดขึ้นแล้ว เปลี่ยนแปลงได้ยาก

ยุคทองของเทคโนแครตหมดไปแล้ว จริงไหม

ไม่จริง อย่างผมเป็นเทคโนแครต ผมก็ยังมีบทบาทของผมไปเรื่อยๆ รัฐบาลนายกฯ ทักษิณ เขาก็มีเทคโนแครตของเขา เรื่องนโยบายเขาก็ไม่ได้คิดเอง เขาก็มีกลุ่มของเทคโนแครตในพรรค แต่เขาอาจจะไม่เปิดตัว

คุณทักษิณเขาไม่ให้เครดิตกับราชการเท่าไร เพราะราชการมีจุดหมายปลายทางของตัวเอง จุดหมายปลายทางของราชการคืออะไร ก็คือตำแหน่งและความมั่นคงในตำแหน่งหน้าที่ ส่วนนักการเมือง จุดหมายปลายทางของเขาก็คือเพื่อจะได้คะแนนเสียง

ในปัจจุบันถ้าจะผลักดันนโยบายให้เกิดประสิทธิผล ทีดีอาร์ไอต้องทำอย่างไร

ผมคิดว่าถ้างานของเราดี เขาก็ใช้เอง อย่าไปห่วงว่าเขาจะใช้หรือไม่ใช้ แต่บางทีงานของเราก็ไม่ดี พวกข้าราชการเขาหัวเราะก็มี 

ถ้างานของเราดี ถูกต้อง เขาก็ต้องใช้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาต้องเอาไปใช้ทั้งดุ้น อย่างเรื่องภาษีอากร ทฤษฎีภาษีอากรมันเปลี่ยนไปถึงไหนแล้ว ก็ยังคิดอยู่เหมือนเดิม ยังพูดถึงช่องว่างระหว่างรายได้ แทนที่จะพูดถึงช่องว่างระหว่างคุณภาพชีวิต  ทฤษฎีสมัยใหม่บอกว่า ความแตกต่างระหว่างรายได้ สำคัญน้อยกว่าความแตกต่างระหว่างความเป็นอยู่  คนที่มีรายได้สูง แต่อยู่แบบชาวบ้าน ก็ไม่มีใครว่า ไม่ทำให้เกิดความตึงเครียดในสังคม

การแก้ปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างคุณภาพชีวิต เครื่องมือที่สำคัญคือรายจ่ายของรัฐบาล เรื่องสวัสดิการ เรื่องถนนหนทาง  ในยุคโลกาภิวัตน์ เครื่องมือที่จะลดความแตกต่างของประชาชนก็คือ “รัฐบริการ”  ในยุคโลกาภิวิตน์ ประเทศต่างๆ จึงเป็น service state ไม่ใช่ welfare state หรือรัฐสวัสดิการ แนวคิดพวกนี้ยังไม่เคยเข้าถึงทีดีอาร์ไอเลย

ภาพ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร โดย อนุชิต นิ่มตลุง

อะไรเป็นความท้าทายของทีดีอาร์ไอในอีก 30 ปีข้างหน้า

เรื่องภาพลักษณ์ แม้เราคิดว่าเราเป็นกลาง แต่ภาพไม่ได้เป็นอย่างนั้น ต้องสำรวจดูว่ามันเป็นแบบนั้นหรือไม่ งานของเรามันถูกต้อง มันดีจริงหรือเปล่า เราตามโลกทันไหมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งแนวคิดเรื่องเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว หรือเป้าหมายของนโยบายเศรษฐกิจเดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนไป แต่ก่อนเป็น growth, stability และ distribution แต่เมื่อโลกมันไร้พรมแดน เป้าหมายของนโยบายเศรษฐกิจก็จะเน้นไปที่ความสามารถในการแข่งขันและคุณภาพชีวิต

ถ้าโจทย์ของเราคือความสามารถในการแข่งขัน นโยบายต่างๆจะต้องเป็นไปในทิศทางไหน

ก็ต้องอย่าให้นโยบายเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันของภาคเอกชน อย่างนโยบายภาษีอากร ที่เราลดภาษีนำเข้า ลดภาษีนู่นภาษีนี่ วัตถุประสงค์คืออะไร ถ้าเอาการกระจายรายได้เป็นตัวตั้ง มันต้องขึ้นภาษี ก็แสดงว่าเราไม่ได้เอาการกระจายรายได้เป็นตัวตั้ง แต่เราก็ยังพูดเรื่องนี้ คนเขาฟัง เขาก็บอกว่าเชย

เรื่องความเท่าเทียมมีสองมิติ มิติแรกคือพื้นที่ อีกมิติหนึ่งคือคน  สำหรับพื้นที่ พื้นที่ไหนที่ยากจนต้องทุ่มเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องบริการของภาครัฐ  ส่วนเรื่องคน ถามว่าคนไทยถ้าทำงาน มีจนไหม ขนาดต่างชาติลักลอบเข้ามา ยังไม่จนเลย ถ้าทำงาน 

คนจนมีไหม มี ก็คือคนที่ไม่ทำงานหรือทำงานไม่ได้ คนแก่ คนป่วย คนพิการ หรือคนกลุ่มน้อยที่อยู่บนภูเขาหรือบนเกาะ ถ้าจะช่วยคนจน เราก็ช่วยเฉพาะกลุ่ม อย่าหว่านแห  แล้วคนจนอยู่ที่ไหน ถ้ากรุงเทพฯ ก็ในสลัม ถ้าทั่วประเทศเขาก็บอกว่าอยู่ที่ภาคอีสานมากที่สุด ไม่ใช่หว่านแหเสียเงินเป็นแสนๆล้าน

เรื่องเหล่านี้ ผมอยากให้ทีดีอาร์ไอตามให้ทัน ซึ่งผมคิดว่ายังตามไม่ทัน

มองไปข้างหน้าอีก 30 ปี นอกจากเรื่องความสามารถในการแข่งขัน มีความท้าทายอะไรรอเราอยู่อีกบ้าง

ไม่ต้อง 30 ปีหรอก ทุกวันนี้โครงสร้างประชากรของเราเปลี่ยน คือประชากรในวัยทำงานน้อยลง ส่วนประชากรที่มีอายุมากจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ก็มีประสบการณ์ของประเทศอื่นว่าเราต้องเตรียมการอย่างไร นี่เป็นปัญญาที่สำคัญที่สุดใน 30 ปีข้างหน้า

30 ปีข้างหน้าคนที่อายุ 70 ปี คือคนที่อายุ 40 ปีในตอนนี้ ก็ต้องไปคิดว่าต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างไรทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ รวมทั้งบริการของรัฐ รายได้ของรัฐที่จะมาดูแลคนที่ทำงานไม่ได้ ต้องพึ่งบริการของรัฐ และกำลังแรงงานที่จะต้องแบกภาระนี้ จะต้องทำอย่างไร


สัมภาษณ์โดย ปกป้อง จันวิทย์
เมื่อ 17 มิถุนายน 2557

ภาพถ่ายโดย อนุชิต นิ่มตลุง

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด