tdri logo
tdri logo
โครงการวิจัย อนาคตชาวนา-ชาวสวนรายเล็ก
15 มิถุนายน 2022

เนื้อหา บทคัดย่อ

ภาคเกษตรและเกษตรกรไทยกำลังเผชิญความท้าทายต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ความผันผวนของราคาผลผลิตและราคาปัจจัยการผลิต การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อผลิตภาพการผลิต ต้นทุนการผลิต และความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรในที่สุด โดยเฉพาะเกษตรกรรายเล็ก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาและสร้างฉากทัศน์การเปลี่ยนแปลงของภาคเกษตรในอนาคต เพื่อเป็นแนวทางในการปรับตัวของเกษตรกรกรรายเล็กในการเพิ่มผลิตภาพและรายได้ และการรักษาหรือเพิ่มขีดความสามาถในการแข่งขันของภาคเกษตรอย่างยั่งยืน

“ภาพอนาคต” ที่ชาวนารายเล็กส่วนใหญ่ต้องการ คือ พันธมิตรธุรกิจข้าวสมัยใหม่ด้วยองค์ธุรกิจเพื่อสังคม

เพราะว่า ในภาพอนาคตหรือฉากทัศน์นี้จะมีการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรกับโรงงานแปรรูป ผลิตหรือแปรรูปทำให้ผลิตภัณฑ์ข้าวมูลค่าสูงขึ้น อีกทั้งยังสนองความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่ ในด้านสุขภาพและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้วิจัยตีความว่าเหตุผลเบื้องหลังที่คนส่วนใหญ่ต้องการภาพอนาคตนี้ เนื่องจากมีความเป็นธรรมมากกว่ากรณีชาวนารายใหญ่จำนวนน้อยราย เนื่องจากเป็นการรวมกลุ่มกันแปรรูป ทำให้ชาวนาขนาดเล็ก/ขนาดกลางมีรายได้ต่อหัวสูงขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นระบบการผลิตที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่เรื่องความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการผลิตสินค้าที่เป็นประโยชน์ด้านโภชนาการ

แต่การจะเคลื่อนภาคเกษตรไปยังภาพอนาคตที่ต้องการเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีต้นทุนธุรกรรมในการรวมกลุ่ม และยังต้องมีการคิดค้นเทคโนโลยี/นวัตกรรมผลิตสินค้าสุขภาพชนิดใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามความต้องการของตลาด

อย่างไรก็ตามยังมีภาพอนาคตที่มีความเป็นไปได้ที่สุด คือ ภาพอนาคตที่เป็นชาวนา ไฮเทครายใหญ่ ทํานาในที่ดินขนาดใหญ่ ใช้ความรู้ เทคโนโลยีในการทำเกษตร ชาวนาส่วนใหญ่จะเป็นชาวนามืออาชีพ หรือเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีสูง

ในส่วน ภาพอนาคตของชาวสวนผักและผลไม้รายเล็ก คือ เกษตรกรเป็นผู้ประกอบธุรกิจสีเขียว (All Green Entrepreneur) มีการพัฒนาและการขับเคลื่อนกลุ่มเกษตรกร สร้างกลไกมืออาชีพ ตั้งเป้าหมายว่า จะต้องก้าวสู่ระบบการผลิตการค้าแบบ “เกษตร 4.0” ยกระดับสภาพแวดล้อมสังคม รายได้และเศรษฐกิจแบบยั่งยืนด้วยกัน

และส่วนสุดท้าย ภาพอนาคตเกษตรกรบนที่สูง เรียกว่า เกษตรและธุรกิจสีเขียวของหนุ่มสาว จะมีการสร้างทางเลือกอาชีพเกษตรผสมผสาน การรวมกลุ่มเกษตรกร การสร้างทางเลือกสำหรับการผลิตเกษตรพื้นที่สูง การปรับเปลี่ยนมิติทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย และสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ประโยชน์ที่ดินลุ่มน้ำชั้น 1-2 พัฒนาระบบเกษตรที่สร้างพื้นที่สีเขียวและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ในรายงานวิจัยยังศึกษาการเปลี่ยนแปลงของภาคเกษตรและเกษตรกรไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ศึกษาความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลก การปรับตัวของเกษตรกร รวมท้ังความท้าทายต่างๆ ที่จะมีผลกระทบโดยตรงต่อภาคเกษตรไทย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและแนวโน้มการลดลงของแรงงานภาคเกษตร รวมทั้งการเสนอแนวทางสนับสนุนการปรับตัวของเกษตรกรรายเล็กตามเป้าหมายในการเพิ่มผลิตภาพและรายได้ของเกษตรกรรายเล็กให้ใกล้เคียงรายได้จากการประกอบอาชีพอื่นๆ รวมไปถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด