งานบูรณาการเครือข่ายด้านการส่งเสริม SME: ศึกษาแนวทางการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดยพบว่า ในปี 2564 SME มีจำนวนทั้งสิ้น 3,178,124 บริษัท คิดเป็นร้อยละ 99 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอย่างมหาศาล

โดยมูลค่าตลาดการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ จากฐานข้อมูล THAI SME-GP ของ สสว. และกรมบัญชีกลางในปี 2564 มีมูลค่า 1.3 ล้านล้านบาท มีสัดส่วน SME ที่ลงทะเบียนถึง 42% ในส่วนของมูลค่าตลาดการจัดซื้อจัดจ้างของภาคเอกชน ที่คำนวณจากข้อมูลตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต SME ปี 2558 พบว่า มีมูลค่าสูงถึง 20.5 ล้านล้านบาทซึ่งสูงกว่าภาครัฐเกือบ 16 เท่า แต่กับมีสัดส่วน SME เพียง 26% แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการ SME ยังมีโอกาสเพิ่มส่วนแบ่งตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชนได้อีก

ประเด็นปัญหาที่พบจากทั้งผู้ขาย ผู้ซื้อ และหน่วยงานที่ส่งเสริมและกำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างระหว่าง SME กับผู้ซื้อ อย่างเช่น SME ไม่ทราบช่องทางในการติดตามข่าวสารหรือต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงข่าวสาร ไม่มีโอกาสเข้าไปแนะนำหรือนำเสนอสินค้า/บริการของตนได้ ผู้ซื้อมีต้นทุนและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการสรรหา คัดเลือก และทำสัญญากับซัพพลายเออร์ กระบวนการการสร้างความซับซ้อนและเป็นภาระกับผู้ซื้อ รวมถึงหน่วยงานส่งเสริมและกำกับดูแลมีการกำหนดนโยบายที่ยังขาดความชัดเจน การทำงานของแต่ละหน่วยงานแยกส่วนกัน ไม่เชื่อมโยงกัน

สหราชอาณาจักร ได้จัดทำระบบออนไลน์แพลตฟอร์ม CompeteFor เพื่ออำนวยความสะดวกให้ SME เข้าถึงข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัทที่เป็นคู่สัญญาหลักกับภาครัฐซึ่งมักเป็นบริษัทขนาดใหญ่ โดยเป็นศูนย์ข้อมูลที่เผยแพร่ข่าวสารความต้องการจัดหาซัพพลายเออร์หรือผู้ขายในลำดับรองๆ ลงไป และเพื่อให้มั่นใจได้ว่า SME ที่สนใจทุกรายจะได้รับทราบข้อมูลชุดเดียวกันอย่างทั่วถึง โดยภาครัฐในอีกหลายๆประเทศก็เริ่มมีบทบาทในการเป็นตัวกลางและสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาคเอกชนมากขึ้น ภาครัฐจึงเป็นส่วนที่สำคัญในการใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจและผู้ประกอบการ

แนวทางการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชนได้มากขึ้น มีดังต่อไปนี้

  • การสร้างแรงจูงใจให้เกิดการซื้อสินค้า/บริการจาก SME อย่างการสะสมแต้มจากการซื้อสินค้า/บริการจาก SME ซึ่งแต้มนั้นสามารถนำไปใช้แลกรับสิทธิประโยชน์ต่างๆได้ การให้โอกาสทางธุรกิจ และสิทธิประโยชน์ทางภาษี
  • การพัฒนาขีดความสามารถของ SME การส่งเสริมทักษะ หลักสูตรอบรม และการลดต้นทุน/ค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น การให้ส่วนลดแก่ SME ที่ต้องการใช้บริการทางธุรกิจอย่างการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน การจัดทำบัญชี/สอบบัญชี
  • การสร้างระบบนิเวศที่ช่วยให้เกิดการซื้อสินค้า/บริการจาก SME โดยจะต้องเพิ่มโอกาสการเข้าถึงตลาด กระบวนการจัดซื้อที่มีประสิทธิภาพและไม่สร้างภาระมากเกินไป การป้องกันและช่วยเหลือ SME

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จึงได้คิดขยายผลการขับเคลื่อนมาตรการไปสู่ตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชนและมีโครงการนำร่องที่สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนในการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

งานบูรณาการเครือข่ายด้านการส่งเสริม SME: ศึกษาแนวทางการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน