โครงการศึกษานวัตกรรมเชิงระบบ โครงสร้าง และกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ

การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีประวัติศาสตร์การปรับตัวเป็นระยะมาตั้งแต่ในอดีต เพื่อพยายามแก้และบรรเทาปัญหาด้านน้ำมาตลอด รวมทั้งการปฏิรูประบบราชการปี 2545 การออกกฎหมายทรัพยากรน้ำปี 2561 เป็นอีกก้าวหนึ่งของความพยายามในการปรับปรุงระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งได้จัดทำแผนแม่บทของการพัฒนาทรัพยากรน้ำ (บนฐานของแผนแม่บทของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี) ได้ประเมินผลการดำเนินงาน พบว่า การบริหารด้านน้ำชนบท น้ำเพื่อการผลิต ได้ใกล้เคียงแผนแม่บท แต่ในข้อประเด็นด้าน น้ำต้นทุน คุณภาพน้ำ การบริหารทรัพยากรน้ำในช่วงวิกฤติ การจัดการน้ำชุมชน ผลิตผลของการใช้น้ำ ยังพบปัญหาและมีจุดอ่อนอยู่มาก สาเหตุมาจากเทคโนโลยีที่ใช้ ข้อจำกัดของเครื่องมือ ด้านองค์กร กำลังคนกฎหมาย และข้อจำกัดด้านงบประมาณ

จึงต้องมาพัฒนาและให้ความสำคัญกับการวางแผนด้านทรัพยากรน้ำของประเทศกันใหม่ คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงและความต้องการทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง โดยเร่งรีบดำเนินการ แก้ไข พัฒนา ป้องกัน ไปด้วยกัน เพื่อเป็นการลดความเสียหาย ลดความเสี่ยง และลดอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศ

ในการดำเนินงานได้เสนองานเป็น 2 แผนปฏิบัติการ ซึ่งสามารถดำเนินการคู่ขนานเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

  • แผนปฏิบัติการที่ 1 เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติที่มีอยู่ โดยการจัดทรัพยากรและกำลังคนจากสามกระทรวง (กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย) เข้าร่วมดำเนินการกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติในงานกำกับ (regulator ตามกฎหมายทรัพยากรน้ำที่มีอยู่) และงานการบริหารลุ่มน้ำ โดยสร้างระบบบริหารงานร่วม พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ เชื่อมโยงงานส่วนกลาง ลุ่มน้ำ จังหวัด และจัดระบบพัฒนาบุคคลากร พัฒนาระบบที่จำเป็นตามภารกิจใหม่ ทั้งในสำนักงาน ลุ่มน้ำ และองค์กรผู้ใช้น้ำ เพื่อให้สามารถดำเนินการตามภารกิจที่มีอยู่ และแก้ไขปัญหาปัจจุบันได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้กฎกระทรวงที่จะออกจากแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
  • แผนปฏิบัติการที่ 2 เป็นการออกแบบระบบงานใหม่ (ด้านวางแผนกำกับดำเนินงานและลุ่มน้ำ) พร้อมกลไก และการสร้างเครื่องมือบริหารใหม่ และรวมระบบที่พัฒนาขึ้น ภายใต้โครงสร้างใหม่ที่เสนอเพื่อรองรับปัญหาทั้งปัจจุบันและอนาคตที่คาดว่าจะมีได้ ตามด้วยกิจกรรมการยกร่างปรับปรุงพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และยกร่างการแบ่งส่วนราชการ และกฏหมายที่เกี่ยวข้องภายใต้โครงสร้างใหม่ที่เสนอเพื่อให้รัฐบาลและรัฐสภาพิจารณา

ถ้ามีการปรับปรุงโครงสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จะทำให้มีการสนับสนุนนโยบายการเกษตรทันสมัย พื้นที่ท่องเที่ยว และพื้นที่สำคัญ ได้เร็วยิ่งขึ้น ลดความเสียหายและความเสี่ยงจากน้ำท่วมน้ำแล้ง การจัดการและลงทุนน้ำชุมชนดีขึ้น โครงสร้างการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อบริการประชาชนได้ในระยะยาว

Download