ธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม เติบโตอย่างก้าวกระโดด ในปี 2564 สร้างมูลค่าตลาดในไทยได้ถึง 9 แสนล้านบาท
หลายคนคงจะคิดว่าเมื่อมูลค่าตลาดสูง รายได้ของรัฐต้องสูงตามไปด้วยจากการเก็บภาษีที่มากขึ้น แต่ความเป็นจริง กลับไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บภาษีจากธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ให้บริการระหว่างประเทศได้
ด้วยเพราะ “ช่องว่าง” ของกฎหมาย จากบทบัญญัติประมวลรัษฎากร ที่ให้อำนาจรัฐบาลไทยเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติเฉพาะบริษัทที่มีสำนักงาน หรือ มีการจ้างลูกจ้างหรือตัวแทนดำเนินงานในประเทศไทยเท่านั้น
แต่ปรากฎว่า ธุรกิจแพลตฟอร์มเหล่านี้ ไม่มีการตั้งสำนักงานในไทย แต่กลับไปจดทะเบียนจัดตั้งสำนักงานในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ เพื่อให้บริษัทจ่ายภาษีในราคาถูกที่สุด ในขณะที่บริษัทยังสามารถสร้างรายได้จากผู้บริโภคในประเทศไทยได้
ปัญหาดังกล่าวนี้เกิดกับหลายประเทศทั่วโลก จนทำให้องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ต้องจัดทำเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเจรจาหาแนวทางการจัดเก็บภาษีธุรกิจแพลตฟอร์มระหว่างประเทศ พร้อมกับเสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีเงินได้ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Statement on a Two–Pillar Solution to Address the Tax Challenges Arising from the Digitalisation of the Economy)
โดยกำหนดให้มีการแบ่งสัดส่วนสิทธิในการจัดเก็บภาษีใหม่ เพื่อให้รัฐบาลประเทศนั้นๆสามารถเก็บภาษีธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ไม่มีการประกอบกิจการทางกายภาพได้ และมีการทำข้อตกลงร่วมในการกําหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำของโลก (Global Minimum Tax) เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ
ความคืบหน้าของประเทศไทยในเรื่องนี้เป็นอย่างไร ติดตามรับฟัง พินิจเศรษฐกิจการเมือง: รื้อกฎหมาย แก้เกมธุรกิจแพลตฟอร์มข้ามชาติเลี่ยงภาษี กับคุณภูมิจิต ศรีอุดมขจร นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ในรายการพินิจเศรษฐกิจการเมือง ทางวิทยุจุฬาฯ