เปิด 5 ข้อเท็จจริงพลังงานไทย

การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ คือเทรนด์ของโลกในเวลานี้ และภาคพลังงานเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนจึงเสมือนเป็นหัวใจที่นำไปสู่การพัฒนาต่างๆ

แต่จะทำอย่างไร ให้การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้เป็นไปตามนิยามของคำว่า “ Just Energy Transition” หรือ การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรม  

เป็นโจทย์ที่ ดร.วีรินทร์ หวังจิรนิรันดร์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนผู้เข้าร่วมอบรมร่วมกันคิด ในงาน “Workshop ปลดปล่อยไอเดีย…สายคอนเทนต์ เจาะประเด็นพลังงาน”  ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สถาบันวิจัยพลังงาน (ERI) ภายใต้โครงการพลังงานสะอาดเข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CASE) ดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)

โดยประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในพ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) หรือในอีก 30 ปีนับจากนี้ แต่ก่อนที่เราจะเข้าสู่เป้าหมายนั้น  ดร.วีรินทร์ พาไปทำความรู้จักพลังงานไทย ผ่าน5 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพลังงานของไทย”

1.ภาคพลังงาน ตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด

ในประเทศไทยปัจจุบัน 69 เปอร์เซ็นต์ของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยมากจากภาคพลังงาน ผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้ง การขนส่ง อุตสาหกรรม ชีวิตประจําวัน ภาคธุรกิจพาณิชย์ รวมไปถึงภาคการเกษตร  โดยการขนส่ง  และภาคอุตสาหกรรม เป็นสองกิจกรรมที่มีการใช้พลังงานมากที่สุด

“ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในสำหรับสาขากระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม (IPPU) ไม่ใช่เกิดจากการเผา แต่เป็นปฏิกริยาเคมีต่างๆในโรงปูน โรงเหล็ก  ในภาคเกษตรเอง ก็มีก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นด้วยเหมือนกัน เช่น  ปศุสัตว์ เกิดจากมูลของสัตว์ ทำให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซที่ทำให้เกิดปฏิกริยาเรือนกระจก หรือ จากการหมักในนาข้าว”

2.ความท้าทายพลังงานไทย มั่นคง – เข้าถึงได้ – ยั่งยืน

“ความมั่นคง” (Energy Security)  เป็นหลักใหญ่ของการบริหารจัดการพลังงานในอดีต ซึ่งในมิตินี้หมายถึง การมีพลังงานพอใช้กับความต้องการ ทั้งในช่วงเวลาปกติ และเมื่อเจอเหตุที่ไม่คาดคิด  รวมถึงต้องมีสัดส่วนพลังงานที่มีความหลากหลาย  เช่น แหล่งเชื้อเพลิงที่ผลิตได้ภายในประเทศ  ไม่พึ่งพาพลังงานจากแหล่งเดียว รวมไปถึงการทำให้โครงสร้างพลังงานต้องมีความน่าเชื่อถือมั่นคงและยืดหยุ่น และต้องเป็นพลังงานที่ทำให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้ (Energy Equity) ในราคาที่เหมาะสม เพียงพอต่อความต้องการ

แต่ปัจจุบันมีมิติในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเพิ่มเติมเข้ามา  โดยมิติความยั่งยืน (Sustainability)นั้น จะต้องมีการเปลี่ยนผ่าน ให้พลังงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการเพิ่มประสิทธิภาพในภาคการผลิต ระบบส่งและจำหน่ายพลังงาน การลดคาร์บอน การลดมลพิษทางอากาศ  ซึ่งแต่ละประเทศจะต้องบริหารจัดการ สัดส่วนพลังงานที่เหมาะสม

สำหรับประเทศไทย ดัชนีชี้วัดความมั่นคง และ ความยั่งยืน ถูกจัดอยู่ในกลุ่มใกล้เคียงค่าเฉลี่ยของโลกในทั้ง 2 มิติ

“ในศตวรรษที่ 19 นี้เป็นยุคที่เส้นกราฟของการใช้พลังงานพุ่งขึ้นอย่างหาจุดจบไม่ได้  และเริ่มมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาเรื่อยๆ ว่าพอมีการใช้พลังงาน ก็มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก จนทำให้มีการพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน”

3.ไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ห่วงก๊าซหมดอ่าวไทย

ในประเทศไทยก๊าซธรรมชาติเป็นสัดส่วนหลักในการผลิตไฟฟ้าไทย โดย 69 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตไฟฟ้ายังพึ่งพิงเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งแบ่งเป็น ก๊าซธรรมชาติประมาณ 53 เปอร์เซ็นต์ และ ถ่านหิน -ลิกไนต์ประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์

มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มาจากพลังงานหมุนเวียน เช่น ชีวมวล (Biomass) แสงอาทิตย์  ลม  ขยะ  ก๊าซชีวภาพ (Biogas) ความร้อนเหลือทิ้ง (Waste Heat)  พลังงานใต้ภิภพ (Geothermal) และพลังงานน้ำ (Hydro)

ดร.วีรินทร์ ระบุว่า สิ่งที่น่ากังวลสำหรับประเทศไทย  คือ ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ที่เรามีการค้นพบและนำมาใช้ตั้งแต่ยุคโชติช่วงชัชชวาล แต่มีแนวโน้มจะน้อยลงไปเรื่อยๆและอาจจะหมดลงได้ ถ้ายังคงสัดส่วนการผลิตก๊าซเหมือนเดิม     

4.นโยบายพลังงาน หัวใจสําคัญในการเปลี่ยนผ่าน

สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนผ่าน คือ “นโยบายพลังงาน”  ทั้งแผนพลังงานแห่งชาติ ซึ่งที่ผ่านมาเริ่มมีการให้ความสําคัญกับเรื่องภูมิอากาศ เรื่องโลกร้อน มากขึ้นเรื่อยๆ และในอนาคตอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของการซื้อขาย  เช่น ทางเลือกในการซื้อกระแสไฟฟ้าจากแหล่งผลิตที่มากขึ้น มีหลายเจ้าให้ผู้ใช้เลือกใช้ได้ ทั้งในรูปแบบขายปลีก หรือ ขายส่ง หรืออาจจะมีทางเลือกอีกหลายทาง หรืออาจจะมี Operator หลายราย 

โดย 5 เทคโนโลยีสำคัญที่จะเป็นคําตอบในอนาคต คือ โซลาร์เซลล์   การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart mobility) ระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า ไฮโดรเจน และการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน หรือ Carbon Capture and Storage (CCS)  

5.การเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม คือโจทย์สําคัญของสังคม

เป้าหมาย Net Zero จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน และทําให้อํานาจต่อรองผู้ใช้เปลี่ยนแปลงไป โดยจะมีกิจการใหม่ๆเกิดขึ้น จากความล้ำหน้าทางนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้คนในสังคมมีการปรับตัวตาม จะมีการ Upskill Reskill เพื่อรองรับธุรกิจใหม่ เกิดธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม   

“ความท้าทายของยุคนี้คือจะทำอย่างไร ให้เศรษฐกิจโต ควบคู่ไปกับ การใช้พลังงานและก๊าซเรือนกระจกที่ไม่ควรต้องเพิ่มขึ้นแล้ว  ควรจะชะลอตัว เท่าเดิม หรือ ลดลง”

“มีกลไกทางเศรษฐศาสตร์ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างตลาดคาร์บอน ซึ่งส่วนตัวเชื่อในตลาดคาร์บอนที่ใครทำดี ก็จะได้รับผลประโยชน์ คนที่ต้องลดแต่ยังทำไม่ได้ ก็ต้องจ่าย ส่วนในประเทศไทยตอนนี้เริ่มมีการขับเคลื่อนนโยบายเกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว ผ่านทางภาษีสรรพสามิต สมัยก่อนเราเก็บภาษีรถ ดูจาก CC หรือขนาดของรถ  แต่ตอนนี้ดูจากปริมาณก๊าซเรือนกระจก ปล่อยเยอะเก็บเยอะ ปล่อยน้อยเก็บน้อย  และตอนนี้เชื่อว่ากระทรวงการคลังกำลังพิจารณาเรื่องของการเก็บภาษีคาร์บอน หรือแม้แต่ ตลาดคาร์บอน”

ทั้งหมดนี้คือข้อมูลที่คนในสังคมต้องเรียนรู้ร่วมกันระหว่างทางของก้าวฝ่าความท้าทายนี้ไปสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานไปตามเป้าหมายที่วางเอาไว้