อุบัติเหตุทางถนนของไทยเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมมหาศาล แต่ละปีมี ผู้เสียชีวิตเกือบ 20,000 ราย คิดเป็นมูลค่าเกือบ 5 แสนล้านบาทต่อปี หรือประมาณร้อยละ 3.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สาเหตุกว่าร้อยละ 77.9 ของ อุบัติเหตุ มาจากการฝ่าฝืนกฎหมายจราจร เช่น ขับรถเร็วเกินกำหนด เมาแล้วขับ และฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร เป็นต้น
แม้จะมีกฎหมายจราจรมาควบคุมพฤติกรรมดังกล่าว แต่ในทางปฏิบัติยังมีผู้ที่ไม่เกรงกลัวและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอยู่จำนวนมาก สะท้อนจากสถิติในปี 2565 ที่มีจำนวนใบสั่งที่มากถึง 17.9 ล้านใบ แต่มีผู้มาชำระค่าปรับเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายจราจรยังไม่ ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงพยายามแสวงหามาตรการต่างๆ มาเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายให้ดียิ่งขึ้น
หนึ่งในมาตรการที่หลายประเทศนิยมใช้คือ การตัด/บันทึกคะแนนพฤติกรรมการขับขี่ หรือระบบตัดแต้ม (Demerit Points System) ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการขับขี่ที่ปลอดภัยและลดการกระทำความผิดซ้ำ
ระบบดังกล่าวสามารถช่วยยับยั้ง (Deterrence) พฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่เหมาะสมได้ เนื่องจากการกระทำความผิด ในแต่ละครั้งจะถูกตัดคะแนน และเพิ่มโอกาส ในการถูกพักใช้ใบขับขี่ชั่วคราว หรือถึงขั้น เพิกถอนใบขับขี่ถาวรได้หากกระทำผิดซ้ำซาก ซึ่งถือเป็นการคัดกรองผู้ขับขี่ที่เป็นอันตรายออกจากท้องถนนอีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ผู้กระทำผิดมีโอกาสกลับมา ขับขี่ได้อีก หากผ่านการอบรมด้านพฤติกรรมจราจรในหลักสูตรที่กำหนด เพื่อฟื้นฟูพฤติกรรม (Rehabilitation) ให้กลับมาขับขี่ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยขึ้น กล่าวคือ ระบบตัดแต้มสามารถช่วยสร้างสภาพแวดล้อมการขับขี่ที่ปลอดภัยขึ้น อีกทั้ง ช่วยปรับพฤติกรรมการขับขี่ในทางที่ดีขึ้น และส่งผลต่อจำนวนการเกิดอุบัติเหตุที่ลดลงตามมา
ตัวอย่างเช่นในอิตาลี พบว่าภายหลังการใช้ระบบตัดแต้มในช่วง 2 ปีแรก จำนวนการเกิดอุบัติเหตุทางถนนลดลงประมาณร้อยละ 10 จำนวนการเสียชีวิตลดลงประมาณร้อยละ 25 และช่วยเพิ่มอัตราการคาดเข็มขัดนิรภัยของผู้ขับขี่จากร้อยละ 54 เป็นร้อยละ 83 รวมถึงผู้โดยสารด้านหน้าจากร้อยละ 53 เป็นร้อยละ 76 ภายในเวลา 3 เดือน
ประเทศไทยจึงได้นำแนวคิดระบบ ตัดแต้มมาใช้เช่นกัน โดยปัจจุบันมี 2 ระบบ คือ (1) ระบบตัดแต้มของกรมการขนส่งทางบกที่บังคับใช้เฉพาะกับผู้ขับขี่รถสาธารณะและรถขนส่ง (เริ่มใช้ 1 ธ.ค.2564) และ (2) ระบบตัดแต้มของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่บังคับใช้กับผู้ขับขี่ทุกราย (เริ่มใช้ 9 ม.ค.2566)
อย่างไรก็ตาม มีความท้าทายที่ควรพิจารณาหลายประการ เช่น (1) ระบบตัดแต้ม บังคับใช้ได้กับเฉพาะบุคคลธรรมดาที่มี ใบขับขี่เท่านั้น ทำให้ไม่สามารถตัดแต้มกับผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบขับขี่ ทั้งที่ประเทศไทยมี ผู้ขับขี่กลุ่มดังกล่าวอยู่บนท้องถนนจำนวนมาก (2) ความสม่ำเสมอและความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายจราจร
หากดำเนินการไม่เข้มข้นและไม่ต่อเนื่อง จะส่งผลให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงแค่ในระยะเวลาสั้นๆ เฉพาะในช่วงที่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเท่านั้น (3) หลักสูตรการอบรมและทดสอบของประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นการอบรมเชิงการให้ความรู้ทั่วไป ผ่านการดูวิดีโออบรมความรู้ ซึ่งยังขาดส่วนของการปรับพฤติกรรมและทัศนคติของ ผู้ขับขี่ที่เป็นรูปธรรม
เช่น การมีกิจกรรมเสวนาระหว่างการอบรม หรือมีนักจิตวิทยาร่วมดำเนินการอบรมด้วย อีกทั้งระยะเวลาในการอมรมค่อนข้างสั้น เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ และ (4) การประชาสัมพันธ์ เนื่องจากการบังคับใช้ระบบตัดแต้มยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น การรับรู้ของประชาชนยังมีไม่มากนัก จึงควรสร้างความรับรู้ความเข้าใจ และทัศนคติที่ดีต่อระบบตัดแต้มอย่างต่อเนื่อง
ระบบตัดแต้มเป็นมาตรการเสริม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายจราจร หากประเทศไทยสามารถปิด ช่องว่างของความท้าทายต่างๆ จะช่วยยกระดับการบังคับใช้ระบบตัดแต้มให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ของคนไทย ให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นและลดอุบัติเหตุทางถนนได้ต่อไป
บทความโดย ดร. สลิลธร ทองมีนสุข ณภัทร ภัทรพิศาล จิตรเลขา สุขรวย ฉัตรฑริกา นภาธนาพงศ์ และ ศุภวิชญ์ สันทัดการ
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 30 มิ.ย. 2566