นาเปียกสลับแห้ง หนทางแห่งอนาคต ลดผลกระทบโลกร้อน

ทำไมต้องทำนาแบบเปียกสลับแห้ง

                  ภาคเกษตรไทยเป็นภาคการผลิตที่ใช้น้ำชลประทานมากที่สุด (เกือบ 80% ของปริมาณการใช้น้ำทั้งหมด) โดยเฉพาะการทำนาในเขตชลประทานที่มีการใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง ส่วนหนึ่งเพราะชาวนาไม่ต้องจ่ายค่าน้ำ (แต่ยังมีค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำ)การศึกษาของ TDRI (2562) พบว่า หากเกษตรกรสามารถลดการใช้น้ำลงได้ 10% ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในฤดูแล้งของปีที่มีภาวะฝนแล้งรุนแรง (เช่นเกิดภาวะ El Nino) จะทุเลาลงมาก ยิ่งไปกว่านั้น รายงาน UN Water ของสหประชาชาติ แสดงให้เห็นว่า ผลิตภาพการใช้น้ำ (water productivity) ของไทยต่ำมาก เพียง US$8.0 ต่อน้ำ 1 ลบ.ม. ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก (US$19/ลบ.ม.) แผนแม่บททรัพยากรน้ำจึงกำหนดให้การเพิ่มผลิตภาพการใช้น้ำเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ

            มีสาเหตุหลักจากการใช้น้ำชลประทานทำนาอย่างสิ้นเปลืองดังกล่าวข้างต้น มูลค่าผลิตภาพการใช้น้ำผลิตข้าวนาปรัง (value of marginal productivity of water) จึงต่ำที่สุด (0.24 บาทต่อน้ำ 1 ลบม.) เทียบกับผลผลิตเกษตรทุกชนิด (10.85 บาท/ ลบม.) การผลิตสินค้าอุตสาหกรรม (154.76 บาท/ลบม. ) และบริการ (332.72 บาท/ลบม.) (TDRI, 2562) นอกจากนี้ ภาคเกษตรไทยยังเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปลดปล่อยก๊าซกระจกมากถึง 14.7 – 25.23% ของปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนทั้งหมดของประเทศไทยในปี 2559 และ 2562  (ONEP 2020, Thailand’s Third Biennial Report; ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยรายสาขา ปี พ.ศ.2562) และข้าวเป็นแหล่งกำเนิดของก๊าซเรือนกระจก (51% ของ GHG ในภาคเกษตร) โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซมีเทนที่สำคัญที่สุด ปริมาณการเกิดก๊าซมีเทน 4-117 กรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร (IPCC, Chapter 4 agriculture, 1996)  การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง นอกจากจะช่วยประหยัดน้ำ ทำให้มีน้ำเหลือที่สามารถผันไปใช้ปลูกพืชอื่น หรือ กิจกรรมอื่นที่มีมูลค่าสูงกว่าข้าว ทำให้ GDP เพิ่มขึ้นแล้ว ยังจะช่วยลดก๊าซมีเทนอันเป็นต้นเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนที่กำลังก่อความเสียหายต่อชีวิตทรัพย์สินของประชาชนทั่วโลก และต่อผลผลิตการเกษตร
            ทั้งนี้ กรมชลประทานริเริ่มส่งเสริมการทำนาเปียกสลับแห้งตั้งแต่ปี 2558 โดยมีแผนให้ชาวนา จำนวน 8,750 ครัวเรือนหันมาทดลองทำนาเปียกสลับแห้งในปี2562 เพิ่มเป็น 100,000 ครัวเรือนในปี 2566 และกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 2.8 ล้านไร่ในปี 2566 (จากพื้นที่นาปรังทั่วประเทศ 9-12 ล้านไร่) ต่อมาในปี 2561 GIZ ร่วมกับกรมการข้าวจัดทำโครงการThai rice NAMA เพื่อลดการใช้น้ำ เพิ่มผลิตภาพการผลิต และเป้าหมายสำคัญ คือ การลดก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลง Paris Agreement อย่างไรก็ดี จวบจนปัจจุบัน ยังมีชาวนาทำนาเปียกสลับแห้งจำนวนน้อยมาก 

วิธีการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง

            การทำนาเปียกสลับแห้งในนาหว่าน วิธีการโดยสังเขป มีดังต่อไปนี้

            ก) ปรับหน้าดิน ให้เรียบเสมอกัน มีความแตกต่างระหว่างจุดที่สูงที่สุดและต่ำที่สุดไม่เกิน 5 ซ.ม. การปรับหน้าดินด้วยเครื่องมือเลเซอร์ หรือ GPS-RTK สามารถช่วยให้หน้าดินเรียบเสมอได้ 3 – 5 ปี ไม่จำเป็นต้องทำทุกรอบการปลูก

            ข) เตรียมแปลงทำนาทำนาตามปกติ สามารถทำได้ทั้งนาดำ และนาหว่าน เตรียมท่อพีวีซีขนาด 4 นิ้ว ยาว 25 ซ.ม. ให้วัดจากขอบท่อมา 5 ซ.ม. เจาะรูทั้งหมด 4 จุด ทำทุกๆ 5 ซ.ม. นำไปฝังไว้ในแปลงนาลึก 20 ซ.ม. ให้ปากท่อพ้นดิน 5 ซ.ม. ในอัตรา 1 ท่อ ต่อพื้นที่ 1 ไร่ ขุดดินในท่อออกเพื่อใช้สังเกตุระดับน้ำใต้ดิน

รูปที่ 2 ท่อพีวีซีสำหรับการสังเกตุระดับน้ำใต้ดิน

            ที่มา: nectec

ค) หลังข้าวอายุได้ 20 วันขึ้นไป นับจากวันที่ดำนา หรือหว่านข้าว สูบน้ำข้าวนาระดับน้ำให้สูง 5-10 ซม.จากผิวดิน แล้วปล่อยให้แห้ง รอเวลาให้ข้าวแตกรากแตกกอ เป็นเวลา 15-20 วัน หรือจนกระทั้งระดับน้ำใต้ดินในท่อที่ฝังไว้ต่ำกว่า 15 ซ.ม.จากผิวดิน ให้สูบน้ำเข้าอีกครั้ง กระบวนการนี้สามารถทำได้ 1-2 ครั้ง ก่อนข้าวเริ่มตั้งท้อง หรืออายุข้าวได้ 60 วัน            

ง) การให้ปุ๋ย สามารถให้ปุ๋ยกับข้าวตามคำแนะนำปกติ หรือให้ตามค่าวิเคราะห์ดินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

รูปที่ 3 การทำนาเปียกสลับแห้งโครงการ Thai Rice NAMA

ที่มา: Thai Rice NAMA, โบชัวร์ เทคโนโลยีทำนาลดโลกร้อน

ประโยชน์ของการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง

            ผลประโยขน์จากการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ประกอบด้วย ประโยชน์ส่วนตัวของชาวนา และประโยชน์ต่อสังคม (Social benefit) อย่างน้อย 3 ด้าน ดังนี้    

ต้นทุนที่ลดลง ได้แก่

  1. ค่าสูบน้ำ ลดลงฤดูละ 2-4 ครั้ง ครั้งละ 100 – 200 บาท/ไร่ ประหยัดได้ 200-600 บาท/ไร่
  2. การใช้เมล็ดพันธุ์ ลดจาก 15-20 กก./ไร่ เหลือ 5 กก. ในกรณีนาดำ หรือ 8-10 กก. ต่อไร่ในกรณีนาหว่าน เพื่อให้มีพื้นที่ในการแตกกอเพิ่มจำนวนรวง ประหยัดได้ 200-300 บาท/ไร่
  3. ลดค่ายากำจัดศัตรูพืช จากการที่ต้นข้าวไม่อวบน้ำ ความชื้นในแปลงต่ำ ประหยัดได้ 100-200 บาท/ไร่
    ผลประโยชน์ส่วนเพิ่ม ได้แก่
  4. ราก/ต้นแข็งแรง ผลผลิตต่อไร่สูง ข้าวจากนาเปียกสลับแห้งจะมีลำต้นเตี้ยกว่านาปกติ หักล้มยากขึ้น
  5. ชาวนาสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขาย carbon credit
    ผลประโยชน์ต่อสังคม ได้แก่
  6. ประหยัดน้ำและผลิตภาพการใช้น้ำในภาพรวมเพิ่มขึ้น น้ำถูกใช้ในกิจกรรมอื่นมากขึ้น GDP ก็เพิ่มขึ้น 
  7. ความขัดแย้งเรื่องน้ำลดลง มีน้ำอุปโภคบริโภคพอทุกภาคถ้าเกษตรประหยัดได้ BB%
  8. ช่วยลด GHG และลดผลกระทบจากภัยแล้ง

อย่างไรก็ดี การทำนาเปียกสลับแห้งก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมขึ้นมา ได้แก่

  • ค่าปรับระดับแปลงนาไร่ละ 2,500-3,000 บาท ที่ใช้ได้ 3 ปี (6 ฤดู)
  • ต้นทุนการกำจัดหญ้า ข้าวดีด ข้าวเด้ง ในนาดำด้วยแรงงานคน (อีหอบ) ซึ่งกรณีนาหว่านจะไม่มีต้นทุนนี้เนื่องจากไม่สามารถนำเครื่องมือนี้เข้าไปใช้ในแปลงได้
  • ต้นทุนการบันทึกข้อมูลการจัดการนาและตรวจระดับน้ำ เพื่อส่งให้บริษัทที่รับซื้อ carbon credit

เหตุผลที่ชาวนาหลายรายยังไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการปลูก และมาตรการที่จะทำให้หันมาทำนาเปียกสลับแห้ง

            แม้ภาครัฐ ภาควิชาการและ NGO หลายหน่วยงานพยายามผลักดันการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งแต่ ชาวนาหลายรายยังทำนาแบบดั้งเดิม จากการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างชาวนา 211 รายในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างที่ไม่ได้ทำนาเปียกสลับแห้งของ TDRI (นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ, 2566) พบว่า เกษตรกรกังวลปัญหาระบบชลประทานปล่อยน้ำไม่ตรงเวลา หรือได้น้ำไม่เพียงพอในช่วงที่ต้องการน้ำมากที่สุด (20% ของกลุ่มตัวอย่าง) ในขณะที่ร้อยละ 18 เผชิญหน้ากับปัญหาพื้นที่นาไม่เหมาะแก่การทำนาเปียกสลับแห้ง (เช่น เป็นที่ลุ่ม) ซึ่งพื้นที่ ๆ เหมาะสมต้องเรียบเสมอกัน เพื่อง่ายต่อการควบคุมปริมาณน้ำ ทั้งนี้ ในพื้นที่ ๆ เป็นที่ลุ่มอาจต้องอาศัยการปรับแปลงนาด้วยเลเซอร์หรือเครื่องจักร ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยตกอยู่ที่ประมาณ 2,500 – 3,000 บาท/ไร่  และอีกร้อยละ 16 บอกว่าไม่มีองค์ความรู้ในการทำนาเปียกสลับแห้ง นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อาทิ กังวลว่าแปลงนาอาจมีหญ้ามาก (12%) ไม่แน่ใจว่าคุ้มค่าหรือไม่ (11%) กลัวความเสี่ยงว่าผลผลิตต่อไร่จะลดลง (11%) ไม่มีเงินทุน/ไม่ต้องการควักเงินลงทุนปรับระดับที่ดิน (6%) กลัวถูกบอกเลิกการเช่าที่ดินทำนากะทันหัน (จะไม่คุ้มค่ากับการลงทุนปรับที่นา) (3%)

            เมื่อสอบถามถึงการช่วยเหลือ/มาตรการที่จะทำให้ชาวนาตัดสินใจมาทำนาเปียกสลับแห้ง พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องการสัญญาการจัดสรรน้ำอย่างตรงเวลาจากกรมชลประทานมากที่สุด (99 คำตอบ) ตามมาด้วยองค์ความรู้/การเรียนรู้จากเกษตรกรต้นแบบ (66) เงินช่วยเหลือลงทุนปรับระดับแปลงด้วยเลเซอร์ (61) คำตอบที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ มีการรวมตัวตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำในคลองชลประทานอย่างเข้มแข็ง (50) เนื่องจาก ในหลายพื้นที่ แม้จะมีการประชุมการจัดสรรน้ำในกลุ่มผู้ใช้น้ำ แต่ด้วยกลุ่มไม่มีความเข้มแข็ง สมาชิกไม่ปฏิบัติตาม แย่งกันสูบน้ำ การทำนาเปียกสลับแห้งที่ต้องอาศัยการวางแผนปริมาณน้ำที่เหมาะสมจึงทำได้ยาก นอกจากนี้ ชาวนาบางรายต้องการพี่เลี้ยงจากหน่วยงานรัฐหรือเอกชนเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง (49) และการช่วยเหลืออื่น ๆ อาทิ บริการสูบน้ำและติดตามแบบครบวงจร โดยคิดค่าจ้าง ไม่ต้องทำเอง (40) เจ้าของที่นาที่ท่านเช่าตกลงจะช่วยชดเชยเงินลงทุนปรับระดับที่ดิน (24)

            อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันหลังชาวนาสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ไร่ละ 200 บาท ทำให้เริ่มมีแรงจูงใจมากขึ้น

ข้อเสนอแนะเรื่องการสนับสนุนกลุ่มชาวนาที่ทำนาแบบเปียกสลับแห้ง และพัฒนากระบวนการเจรจาระหว่างผู้ใช้น้ำกลุ่มต่างๆ

เป้าหมายของข้อเสนอนี้เพื่อประหยัดการใช้น้ำชลประทาน ลดก๊าซเรือนกระจก (โดยเฉพาะก๊าซมีเทน) และเพิ่มแรงจูงใจให้เกษตรกรจากการขายคาร์บอนเครดิต 

นโยบายที่จะมีประสิทธิผล (effectiveness) ในการดึงดูดให้ชาวนาหันมาทำนาเปียกสลับแห้ง ควรต้องเป็นชุดนโยบาย (package of policy measures) ที่ประกอบด้วยมาตรการต่อไปนี้ 

มาตรการสร้างความมั่นใจเรื่องกำหนดเวลาและปริมาณการส่งน้ำให้กลุ่มผู้ใช้น้ำ (เช่นกลุ่มบริหารจัดการน้ำ ฯ ที่ทำนาอยู่บนคลองชลประทานเดียวกัน) (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมข้างล่าง) 

ผลการทดลอง lab-in-the-field กับชาวนา 2 ครั้งรวม 248 คน (ที่สุพรรณบุรี และพิษณุโลก) ปรากฏว่ามาตรการแทรกแซง (intervention) ที่ได้ผลมากที่สุดต่อการตัดสินใจเลือกทำนาแบบเปียกสลับแห้ง คือ การขายคาร์บอนเครดิต รองลงมาคือ การที่เจ้าของนาเช่าให้คำมั่นสัญญากับผู้เช่านาที่ลงทุนปรับระดับแปลงนาว่าจะไม่เอาที่นาเช่าคืนก่อน 3 ปี แต่ที่น่าแปลกใจ คือ มาตรการที่กรมชลประทานให้ความมั่นใจเรื่องการส่งน้ำในจังหวะเวลาที่ชาวนาต้องการ กลับไม่มีนัยยะสำคัญทางสถิติ เหตุผลไม่ใช่เพราะว่า “ความมั่นใจเรื่องการได้รับน้ำในปริมาณและจังหวะเวลาที่ต้องการ “ไม่สำคัญ” ตรงข้ามผลการสัมภาษณ์ผู้ที่ทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ต่างยืนยันว่าปัจจัยนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดต่อการตัดสินใจเลือกทำนาแบบเปียกสลับแห้ง แต่การที่ผลการทดลองออกมาตรงข้ามกับข้อเท็จจริง น่าจะเกิดจากเหตุผลที่ชาวนาผู้เข้าร่วมทดลอง “ไม่เชื่อ” ว่ากรมชลประทานจะสามารถให้ความมั่นใจเรื่องจังหวะเวลาและปริมาณการส่งน้ำแก่ชาวนาที่ใช้วิธีเปียกสลับแห้ง ดังนั้น ข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ การสร้างระบบกลุ่มผู้ใช้น้ำที่เข้มแข็ง จนสามารถร่วมมือวางระบบการจัดสรรน้ำร่วมกับกรมชลประทานได้สำเร็จ

แรงจูงใจเพิ่มเติมในระยะสั้นและระยะกลาง (จากการสร้างตลาดคาร์บอนภาคบังคับ) แรงจูงใจในระยะสั้น คือการให้ชาวนาสามารถขายคาร์บอนเครดิตจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหมือนที่บริษัทเอกชนบางแห่งเข้ามาเสนอซื้อคาร์บอนเครดิตจากกลุ่มชาวนาในโครงการนาแปลงใหญ่และ Thai Rice NAMA อย่างไรก็ตามในระยะสั้น ราคาการซื้อขายคาร์บอนเครดิตยังค่อนข้างผันผวน เพราะเป็นการซื้อขายแบบสมัครใจ ไม่เป็นทางการ และผู้เกี่ยวข้องในภาครัฐยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าราคาคาร์บอนเครดิตถูกกำหนดอย่างไร[1] ดังนั้นในระยะสั้น รัฐควรมีมาตรการอุดหนุนการทำนาเปียกสลับแห้งแบบมีเงื่อนไขเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก (โดยมีมาตรการตรวจสอบและวัดปริมาณก๊าซมีเทนในนาตามมาตรฐานที่สากลยอมรับอย่างเคร่งครัด)  ส่วนในระยะกลาง รัฐบาลควรเร่งจัดทำนโยบายตลาดคาร์บอนภาคบังคับ

แนวทางในการสร้างตลาดคาร์บอนภาคบังคับ แบบกำหนดภาษีคาร์บอน (ดู Nipon 2023) มีดังนี้

  • เหตุผลที่ต้องสร้างตลาดคาร์บอนด้วยภาษีคาร์บอน แทนที่จะเป็น cap and trade (หรือ Exchange trading system) ที่เป็นการกำหนดโควต้าการปล่อยคาร์บอนให้กิจกรรมการผลิตต่างๆ แล้วปล่อยให้มีการแลกเปลี่ยนคาร์บอนส่วนเกิน ประสบการณ์ด้านภาษีคาร์บอนในแคนาดา และ สก๊อตแลนด์เป็นประโยชน์มากต่อการออกแบบนโยบายของไทย
  • เก็บภาษีเฉพาะภาคพลังงาน และขนส่งที่ใช้พลังงานมาก
  • อัตราภาษีคาร์บอน เท่ากับ global social cost ประมาณ 40-80 $/ตันคาร์บอน
  • นำรายได้จากภาษีคาร์บอนมาตั้งกองทุนเพื่อลดผลกระทบทางลบของภาษี (revenue recycle) ต่อการกระจายรายได้ เพราะภาษีต่อหน่วย (specific tax) จะก่อภาระภาษีแบบถดถอยเทียบกับรายได้ (regressive income distribution) และเกิดผลทางลบต่อภาคเกษตร

ควรมีมาตรการเสริม เช่น การสนับสนุนความร่วมมือระหว่างเจ้าของนาเช่า กับผู้เช่านาที่ต้องลงทุนปรับระดับแปลงนาด้วยเลเซอร์โดยให้มีสัญญาเช่าอย่างต่ำ 3-4 ปีให้คุ้มกับการลงทุนของผู้เช่านา  

นอกจากนั้นควรมีการเก็บรวบรวมข้อมูลการทำนาเปียกสลับแห้งของชาวนาเพื่อวิเคราะห์จุดอ่อน อุปสรรคและปัญหาของการทำนาเปียกสลับแห้ง เพื่อนำไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการทำนาเปียกสลับแห้งและวิธีการส่งเสริมให้ดีขึ้นหรือให้คำแนะนำแก้ไขการทำนาให้ถูกต้อง 

จ) ข้อเสนอเรื่องการรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อสนับสนุนการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง แบ่งเป็น 2 ระยะๆแรก ได้แก่ การทดลองเลือกพื้นที่รวมกลุ่มผู้ใช้น้ำในลุ่มเจ้าพระยา (sand box) โดยการรวมกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานและ คณะกรรมการจัดการชลประทาน (ระดับจังหวัด หรือ JMC) ที่อยู่ในคลองส่งน้ำหลักเดียวกัน โดยทดลองกับพื้นที่เจ้าพระยาตอนบน 2 สายคลองส่งน้ำ (เช่น แม่น้ำน่าน กับ แม่น้ำปิง) และเจ้าพระยาตอนล่าง 2 สายคลอง (ด้านตะวันตก และตะวันออก) ส่วนระยะสองคือ การจัดทำนโยบายส่งเสริมการทำนาแบบเปียกสลับแห้งที่พัฒนาจากการทดลอง

ปัจจุบันแม้กรมชลประทานจะได้ส่งเสริมการรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2540 ตามนโยบายกระจายอำนาจ แต่ยังไม่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ใช้น้ำมีการเจรจาร่วมมือกับกลุ่มผู้ใช้น้ำที่อยู่ต่างคลองส่งน้ำ (แต่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำหรืออ่างเก็บน้ำเดียวกัน) หรือคนละจังหวัด แต่อยู่บนลำน้ำเดียวกัน การเจรจาสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรน้ำที่มีจำกัด แต่เป็นทรัพยากรที่ใช้ร่วมกัน (common pool resource) นอกจากนั้นยังสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำ[2]  ดังปรากฏหลักฐานการวิจัยจากชุมชนทั่วโลกจนทำให้ศาสตราจารย์ Eleanor Ostrom ได้รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ในประเทศไทยก็มีทั้งตัวอย่างความสำเร็จของการรวมกลุ่ม ดังกรณีการจัดการระบบเหมืองฝายในภาคเหนือที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพระยาเม็งราย หรืองานวิจัยที่สร้างห้องแลปทดลองเจรจาทำข้อตกลงผันน้ำข้ามลุ่มน้ำระหว่างกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำในลุ่มน้ำตะวันตกกับกลุ่มผู้ใช้น้ำลุ่มเจ้าพระยา เพื่อแก้ปัญหาน้ำประปาเค็มในลุ่มเจ้าพระยา (TDRI 2015; สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย 2561) ในปัจจุบันกฎหมายทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้กำหนดให้มีคณะกรรมการลุ่มน้ำและองค์กรผู้ใช้น้ำ ที่มีบทบาทร่วมกันในการจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ (integrated area-based water resource management) แต่การดำเนินการยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น 

อนึ่งข้อเสนอการรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อเจรจาเรื่องกติกาการจัดสรรน้ำและการตรวจจับผู้ละเมิดกติกา (policing) ใช้ได้ทั้งกรณีกลุ่มชาวนาที่ใช้น้ำชลประทาน และกลุ่มชาวสวนทุเรียน การสำรวจพบว่าชาวสวนทุเรียนในระยองมีการรวมกลุ่มกันในระดับอบต. เพื่อลงทุนสร้างท่อส่งน้ำที่สูบน้ำจากแหล่งน้ำชลประทานสู่สวนทุเรียน โดยมีข้อตกลงการกำหนดตารางส่งน้ำของแต่ละกลุ่มอย่างเป็นธรรม รวมทั้งมีการเก็บเงินค่าสูบน้ำและค่าบำรุงรักษาท่อส่งน้ำด้วย

บทความโดย : นิพนธ์ พัวพงศกร, กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์, กัมพล ปั้นตะกั่ว และสุทธิภัทร ราชคม


 อ้างอิงถึงงานวิจัยโครงการแพลตฟอร์มนโยบายข้าวและผักผลไม้ไทย (นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ, 2566) โดยการสนับสนุนของ แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0