พินิจเศรษฐกิจการเมือง : ปรับเกณฑ์แจกเบี้ยผู้สูงอายุ

14 ปีเป็นระยะเวลาที่ประเทศไทยหันมาใช้หลักเกณฑ์ “ถ้วนหน้า” ในการจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราแทนการให้เฉพาะคนแก่ยากจน ทำให้ปัจจุบันคนไทยทุกคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปจะได้รับสิทธิการดูแลนี้

กระทั่งกระทรวงมหาดไทยได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพคนชรา ซึ่งมีสาระเพิ่มเติม คือ ผู้มีสิทธิที่จะได้รับเบี้ยคนชรา ต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด

นั่นหมายความว่าทุกคนที่กำลังจะก้าวสู่วัยเกษียณในอนาคตจะไม่ได้รับเบี้ยคนชราอีกต่อไป นอกจากจะไป “พิสูจน์ความจน” ว่าเป็นบุคคลที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ กระบวนการตรวจสอบนี้ทำให้เกิดข้อกังวลว่า จะเป็นความเสี่ยงเกิดการ “ตกหล่น” เหมือนอย่างที่เคยเป็นปัญหากับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือไม่

หลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักและการตอบโต้ระหว่างฝ่ายการเมือง รัฐบาลได้ออกมาชี้แจงสาเหตุของการปรับเกณฑ์ในครั้งนี้ว่า เป็นการใช้นโยบายการคลังที่พุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือไปยังกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนกว่า โดยหวังสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว ฟังมุมมองและข้อเสนอจาก ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ผ่านรายการ พินิจเศรษฐกิจการเมือง: ปรับเกณฑ์แจกเบี้ยผู้สูงอายุ