ลดค่าไฟ…แนวทางไหน คือทางออกที่ยั่งยืน ?

มาตรการลดภาระค่าครองชีพของคนไทย เป็นหนึ่งในมาตรการเร่งด่วนที่ได้รับการอนุมัติภายหลังการประชุม ครม. นัดแรกของรัฐบาล ผ่านหลากหลายมาตรการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการการลดราคาน้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่า 30 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน การพักหนี้เกษตรกรหรือธุรกิจขนาดเล็ก 3 ปี ไปจนถึงการลดค่าไฟฟ้า จากเดิมในอัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย เหลือเพียง 3.99 บาทต่อหน่วย  ในรอบบิลเดือนกันยายน ซึ่งนับได้ว่าเป็นอีกมาตรการที่เรียกได้ว่ามีผลในทันทีในการช่วยลดภาระค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน  

ข่าวดี คือ ค่าไฟฟ้ามีแนวโน้มลดลง เนื่องจากความสามารถในการนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมาใช้กลับมาเท่าเดิมหรือเพิ่มมากขึ้น จากการที่ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้ดำเนินการติดตั้งแท่นหลุมผลิตใหม่แทนหลุมเดิมเสร็จเรียบร้อย ทำให้สามารถรักษาระดับอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยได้ตามแผน และลดการนำเข้า LNG ที่มีราคาสูงกว่า 

อย่างไรก็ตาม มาตรการการลดค่าไฟฟ้านับตั้งแต่เดือนนี้ยังคงไม่ชัดเจนในแง่ของกลไกการสนับสนุน ส่วนต่างของค่าไฟฟ้าที่ลดลง 46 สตางค์ต่อหน่วย โดยแนวทางในการสนับสนุนส่วนต่างดังกล่าวเป็นได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในช่วงเดือนปลายเมษายน 2566 ผ่านกรอบงบวงเงินงบประมาณไม่เกิน 7,602 ล้านบาท ซึ่งทางเลือกนี้ขึ้นอยู่กับวงเงินงบที่เหลืออยู่ในช่วงปลายปีงบประมาณ 2566 แต่การใช้งบดังกล่าวอาจจะเป็นการใช้ผิดวัตถุประสงค์ของงบ หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือการเจรจาเพื่อขอขยายระยะเวลาชำระหนี้ค่าเชื้อเพลิง กับ ปตท. ซึ่งเป็นผู้จัดหาแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้งจากภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ  รวมทั้งการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าถ่านหินในช่วงที่ราคาก๊าซธรรมชาติสูงมากๆ หรือการใช้น้ำมันมาทดแทนก๊าซธรรมชาติในโรงไฟฟ้าก๊าซ เพื่อลดภาระต้นทุนของค่าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ซึ่งการใช้เชื้อเพลิงอื่นมาทดแทนก๊าซธรรมชาติได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว 

ดังนั้นการยืดหนี้หรือภาระต้นทุนจากการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตหรือ กฟผ. ออกไปก่อนดูจะเป็นทางเลือกที่รัฐน่าจะเลือกมากที่สุด จากเดิมต้องมีการชำระคืนภายใน 3 ปี ตามมติของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในช่วงธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยหนี้ดังกล่าวเกิดจากการแบกรับค่า Ft ซึ่งประกอบด้วยต้นทุนของค่าความพร้อมเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า (AP) และต้นทุนของเชื้อเพลิงที่มีการเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 1.5 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การยืดหนี้ย่อมสร้างต้นทุนในกับ กฟผ. อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดสภาพคล่องของ กฟผ. และยังกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้ขององค์กรซึ่งเป็นผลให้อัตราดอกเบี้ย (ต้นทุนทางการเงิน) เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งภาระดังกล่าวจะส่งผลต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนต่อไปในอนาคต นอกจากนั้นเพื่อเป็นการรักษาสภาพคล่องของ กฟผ. ภาครัฐยังคงมีความจำเป็นในการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล อย่างเช่นที่เกิดในปีงบประมาณปัจจุบัน ซึ่งส่งผลต่อสถานการณ์หนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว  การขาดสภาพคล่องของ กฟผ. อาจทำให้ กฟผ. ไม่สามารถลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ที่จะช่วยรองรับแนวโน้มการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผู้บริโภคจากการใช้โซลาร์เซลล์และยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตได้ 

“ดังนั้นมาตรการลดค่าไฟฟ้าจากการปรับโครงสร้างหนี้โดยปราศจากการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม จะกลายเป็นเพียงการพักหนี้ระยะสั้นเท่านั้น โดยหากพ้นระยะของการพักชำระหนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากมีการเรียกเก็บคืนทันทีในระยะเวลาหลังจากนั้น อาจจะทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นสูงขึ้นมากกว่า 6 บาทกว่าต่อหน่วยเลยทีเดียวและภายใต้เงื่อนไขที่ราคาก๊าซธรรมชาติยังคงเท่ากับทุกวันนี้ มาตรการยืดเวลาการชำระหนี้จึงเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นและมีแนวโน้มที่จะเกิดสถานการณ์ราคาค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่กิจการไฟฟ้าของประเทศไทยยังคงมีการส่งต้นทุนไปยังผู้บริโภคโดยตรง (Cost pass-through) โดยผู้ลงทุนโรงไฟฟ้าไม่ต้องมีการแบกรับความเสี่ยงของราคาเชื้อเพลิงที่มีความผันผวนตลอดเวลา และท้ายที่สุดผู้บริโภคจะต้องเจอกับราคาค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยภาระหนี้ในอดีตอย่างเลี่ยงไม่ได้”  

การพักชำระหนี้ผ่านการตรึงค่า Ft จึงเป็นเหมือน “ระเบิดเวลา”ที่รอเวลาเกิดผลกระทบในวงกว้างจากภาระหนี้สินและดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นแล้วยังส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้พลังงานของภาคประชาชนและอุตสาหกรรม เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงจะเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นให้เกิดการบริหารจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการพัฒนานวัตกรรมและนำเทคโนโลยีด้านการจัดการพลังงานมาใช้ (smart energy management)  

แน่นอนว่าภาระค่าครองชีพเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขในระยะสั้น ดังนั้นหากรัฐจะใช้แนวทางการยืดหนี้ ควรใช้ให้ถูกกลุ่มและมีระยะเวลาการช่วยเหลือที่ชัดเจน เช่น ลดค่าไฟฟ้าให้ครัวเรือนที่มีความจำเป็นหรือครัวเรือนที่มีรายได้น้อย เท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสจากภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการใช้พลังงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ  

การจัดการกับปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าราคาแพงในระยะยาวจึงต้องมีการให้ความสำคัญกับการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรภายในประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงานหมุนเวียน เช่น การใช้พลังงานแสงแดด การใช้พลังงานลม หรือพลังงานน้ำ เป็นต้น อันเป็นการกระจายความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่มีหลายปัจจัยที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งมีราคาสูงกว่าการผลิตจากในอ่าวไทยมากกว่า 2 เท่า ส่งผลให้การควบคุมราคาค่าไฟฟ้ามีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง โดยการให้ความสำคัญกับแหล่งพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศเป็นหนึ่งในทางเลือกที่สำคัญ เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานดังกล่าวมีแนวโน้มต่ำลงและความผันผวนต่ำ

รวมทั้งการแก้ไขปัญหาในระยะยาวควรมีการวางแผนและจัดระบบไฟฟ้าควรคำนึงถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าของสังคมที่เพิ่มมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านหรือการใช้รถยนต์ไฟฟ้า พร้อมทั้งการพิจารณาเทคโนโลยีในอนาคตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่ไปอีกด้วย 

ท้ายที่สุด การเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงานโดยเพิ่มการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มประทธิภาพในการผลิตไฟฟ้านั้นยังคงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการอาศัยเงินลงทุน (Climate Finance) เพื่อสร้างการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ภาครัฐจึงต้องมองหากลไกและมาตราการทางการเงินที่เหมาะสมกับช่วงระดับการพัฒนาของเทคโนโลยี (Level of Technology Development) เพื่อส่งเสริมการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีโดยยังรักษาเสถียรภาพของราคาไฟฟ้าในอนาคตผ่านมาตรการที่หลากหลาย เช่น การสนับสนุนแหล่งเงินทุนสีเขียว (green finance) การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและการันตรีความเสี่ยงสำหรับโครงการสีเขียว รวมถึงการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น อันเป็นรากฐานสำคัญของเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไปในอนาคตนั่นเอง 

บทความโดย ชาคร เลิศนิทัศน์ นักวิจัยอาวุโสทีมนโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ,ดร.สิริภา จุลกาญจน์  สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  

ภายใต้โครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Clean, Affordable, and Secure Energy for Southeast Asia: CASE) ซึ่งดำเนินการร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)