tdri logo
tdri logo
การศึกษาปรับปรุงกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อสร้างความโปร่งใสเป็นธรรม คุ้มค่า และเอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย
22 พฤศจิกายน 2023

เนื้อหา บทคัดย่อ

พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 บัญญัติขึ้นเพื่อใช้แทนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และระเบียบพัสดุของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานส่วนท้องถิ่น โดย พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ มีเจตนารมณ์เพื่อสร้างมาตรฐานกลางของการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมและสร้างความโปร่งใสในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของทุกหน่วยงานพัฒนาการสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ การกำหนดให้มีข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ที่เปิดให้มีผู้สังเกตการณ์อิสระในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐขนาดใหญ่ ซึ่งโดยมากเกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างของภาครัฐ โดยนับตั้งแต่เริ่มบังคับใช้ พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2560 รัฐสามารถประหยัดงบประมาณก่อสร้างไปได้รวม 4.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22 ของงบประมาณก่อสร้างภาครัฐในปี 2561-2562 แม้ยังไม่ได้กำหนดให้โครงการก่อสร้างของรัฐทุกโครงการต้องเข้าร่วม

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งก็พบว่าการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 นี้ นอกจากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเดิมได้แล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาใหม่หลายประการ ตัวอย่างที่สำคัญเช่น – หน่วยงานรัฐเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า จากการมุ่งป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่กล้าดำเนินการในหลายกรณีแม้จะโดยสุจริตและเป็นประโยชน์ต่อผลสัมฤทธิ์ของโครงการโดยรวมก็ตาม

  • สัญญาจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเปิดโอกาสน้อยให้คู่สัญญาเรียกร้องความเป็นธรรมได้ แม้ในบางกรณีภาครัฐจะเป็นฝ่ายผิด โดย พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ เน้นให้สิทธิแก่หน่วยงานรัฐเป็นฝ่ายได้เปรียบ ไม่แยกแยะประโยชน์สาธารณะ เสี่ยงต่อการใช้ดุลพินิจอย่างไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่รัฐ นำมาซึ่งการเรียกร้องสินบน และความล่าช้าในการดำเนินโครงการ
  • ไม่ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างภายในประเทศให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้ หากมีการเปิดเสรีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้ผู้ประกอบการต่างประเทศเข้ามาแข่งขันตามความตกลงการค้าต่างๆ และการออกไปแข่งขันในตลาดโลกได้ อันจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม โดย พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ ยังเน้นเกณฑ์ราคามากกว่าความคุ้มค่าเงิน (value for money) ทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยยังติดอยู่กับการแข่งขันราคามากกว่าคุณภาพ ขาดการใช้เทคโนโลยีและการบริหารจัดการที่ทันสมัย

ปัจจุบัน พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ บังคับใช้มาเกือบ 4 ปีแล้ว ประกอบกับหลักการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 และมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ. หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 จึงสมควรให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของการบังคับใช้ พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนวทางแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ต่อรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด