tdri logo
tdri logo
6 ธันวาคม 2023
Read in Minutes

Views

ปั๊มรายได้ สร้างเศรษฐกิจ… ผลิตในยุคคาร์บอนต่ำ

นิพนธ์ พัวพงศกร
กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์
อุไรรัตน์ จันทรศิริ
พร้อมพัฒน์ ภูมิวัฒน์

ผู้บริโภคในประเทศพัฒนาแล้วตื่นตัว… กระตุ้นรัฐและบริษัทข้ามชาติต้องปรับตัวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น คลื่นความร้อนในสหราชอาณาจักร พายุหิมะในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา อุทกภัยในจีน ฯลฯ [i] สร้างความกังวลต่อประชาชนและผู้บริโภคในหลายประเทศทั่วโลกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์เป็นภัยคุกคามหลัก [ii] ทำให้ประชาชนและผู้บริโภคเกิดการตื่นตัวและเรียกร้องให้ภาครัฐและบริษัทผู้ผลิตสินค้าต่าง ๆ ตระหนักถึงความเร่งด่วนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) นำไปสู่ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลหลายประเทศในการให้ความสำคัญต่อนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีการปรับนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น เช่น นโยบาย European Green Deal ของสหภาพยุโรป เป็นต้น ในขณะเดียวกันบริษัทข้ามชาติหลายแห่งมีการปรับนโยบายขององค์กรเพื่อสนับสนุนการลดการปล่อย GHG จากการดำเนินธุรกิจ การยกระดับนโยบายดังกล่าวสร้างแรงกดดันต่อบริษัทผู้ผลิตสินค้าในประเทศกำลังพัฒนาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต เนืองจากเป็นคู่ค้าของบริษัทข้ามชาติในห่วงโซ่อุปทาน

มาตรการ CBAM… แรงกดดันให้ผู้ส่งออกสินค้าไปสหภาพยุโรปต้องลดการปล่อยก๊าซ GHG

ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปประสบปัญหาการรั่วไหลของคาร์บอน (Carbon leakage) กล่าวคือ บริษัทบางส่วนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีความเข้มงวดที่น้อยกว่าในการกำกับความเข้มข้นของการปล่อยคาร์บอน ส่งผลให้สินค้าที่ผลิตในประเทศเหล่านั้นมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในสหภาพยุโรปและมีราคาถูกกว่า ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่า ด้วยเหตุนี้ ทางสหภาพยุโรปจึงออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนหรือ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งปรับราคาคาร์บอนของสินค้านำเข้าจากนอกสหภาพยุโรปเพื่อสร้างความเท่าเทียมด้านต้นทุนราคาคาร์บอนและการรักษาความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตในสหภาพยุโรป

การดำเนินมาตรการ CBAM แบ่งเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transitional period) โดยผู้นำเข้าสินค้าเข้ามาในสหภาพยุโรปต้องรายงานต่อ EU ปริมาณการนำเข้าสินค้าที่เข้าข่าย CBAM รวมถึงปริมาณคาร์บอนที่แฝงมากับสินค้า (Embedded emissions) โดยระยะที่ 1 ครอบคลุมวันที่ 1 ตุลาคม 2023 ถึง 31 ธันวาคม 2025 โดยสินค้าที่เข้าข่าย CBAM ได้แก่ ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อลูมิเนียม ไฟฟ้า ไฮโดรเจน และปุ๋ย รวมถึงสินค้าประเภท Complex goods ที่ใช้สินค้า 6 กลุ่มข้างต้นเป็นวัตถุดิบในการผลิต และระยะที่ 2 เป็นช่วงที่มีการบังคับใช้ CBAM อย่างเต็มรูปแบบ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2026 เป็นต้นไป โดยผู้นำเข้าสินค้าต้องซื้อ CBAM certificate ตามปริมาณสินค้าและปริมาณคาร์บอนที่แฝงมากับสินค้าในกรณีที่ปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยสูงกว่าค่า Benchmark ของสหภาพยุโรป โดยครอบคลุมการปล่อยคาร์บอนเฉพาะ Scope 1 และ Scope 2 เท่านั้นในระยะแรกนี้ และ Scope 2 ครอบคลุมเฉพาะสินค้าประเภทซีเมนต์และปุ๋ยเท่านั้น สินค้า CBAM ประเภทอื่นคิดเฉพาะ Scope 1 เท่านั้น  

ผลกระทบของมาตรการ CBAM ต่อการส่งออกของไทย

จากข้อมูลมูลค่าสินค้าทั้งหมดที่ประเทศไทยส่งออกไปสหภาพยุโรปในปี 2022 ซึ่งมีมูลค่ารวม 26,697 ล้านเหรียญสหรัฐฯ พบว่าสินค้าส่งออกที่เข้าข่าย CBAM มีมูลค่ารวม 213 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 0.8% ของมูลค่าสินค้ารวมทั้งหมดที่ส่งออกไปสหภาพยุโรป ประกอบด้วย เหล็ก (67.2%) อลูมิเนียม (32.7%) และปุ๋ย/ซีเมนต์ (0.01%) [iv] เนื่องจากมูลค่าของสินค้าที่เข้าข่าย CBAM ที่ประเทศไทยส่งออกไปยังสหภาพยุโรปค่อนข้างน้อย ดังนั้น ในระยะสั้น มาตรการ CBAM คาดว่าไม่ได้สร้างผลกระทบต่อประเทศไทยมากนัก แต่ในระยะยาว หากสหภาพยุโรปขยายขอบเขตของกลุ่มสินค้าที่เข้าข่าย CBAM เพิ่มขึ้น เช่น เคมีภัณฑ์ ปิโตรเลียม เซรามิก แก้ว ฯลฯ ผลกระทบจากมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรปที่มีต่อประเทศไทยอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณานำมาตรการที่คล้ายคลึงกับ CBAM มาปรับใช้ เช่น ประเทศแคนาดากำลังพิจารณาใช้ CBAM กับสินค้าอุปโภคบริโภค ประเทศออสเตรเลียกำลังพิจารณาใช้ CBAM กับสินค้าเหล็กและซีเมนต์ ประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมาย Clean Competition Action (CCA) โดยสินค้าที่อาจเข้าข่าย เช่น สินค้าภายใต้ CBAM ของสหภาพยุโรป ปิโตรเลียมปิโตรเคมี เยื่อกระดาษ เอทานอล ฯลฯ ดังนั้น ในระยะยาว ผลกระทบของมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรปและประเทศอื่น ๆ ต่อประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งผู้ส่งออกของไทยต้องเฝ้าระวังและดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว

แรงกดดันจากบริษัทข้ามชาติที่มีต่อสู่ Suppliers ในห่วงโซ่อุปทาน

บริษัทข้ามชาติหลายแห่งประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หรือเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ส่งผลต่อความต้องการพลังงานสะอาด การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การส่งเสริมให้คู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น บริษัท P&G ตั้งเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2040 โดยตั้งเป้าที่จะซื้อไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2030 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทานให้ได้ 40% ต่อหน่วยการผลิตภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับปี 2020 (ปีฐาน) บริษัท IBM ตั้งเป้าใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 90% ภายในปี 2030 และใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน ฯลฯ การประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทข้ามชาติส่งผลต่อภาคส่วนอื่น ๆ ในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะ SMEsต้องปรับตัวเพื่อลดการปล่อย GHG เช่นกัน ตัวอย่างเช่น บริษัท Apple กำหนดให้ Suppliers ที่เป็นคู่ค้ากว่า 200 รายทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด [iiii]

สถานภาพการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยในแต่ละภาพเศรษฐกิจ

ในปี 2018 ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 372,649,000 tCO2eq โดยภาคพลังงานและขนส่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด 257,341,000 tCO2eq รองลงมาคือภาคเกษตรกรรม 58,486,000 tCO2eq (15.7%) โดยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่มาจากการปลูกข้าว รองลงมาคือการจัดการดิน การหมักในระบบย่อยของสัตว์ และเกษตรอื่น ๆ สำหรับกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 40,118,000 tCO2eq (10.8%) โดยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่มาจากการผลิตซีเมนต์สูงสุด รองลงมาคือการผลิตเคมีภัณฑ์ [vi]

หัวใจสำคัญคือการเปลี่ยนจากแรงกดดันให้เป็นโอกาสในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ โดยผู้ประกอบการไทยอาจเริ่มจากการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อบุกเบิกตลาดสินค้าคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะสร้างความได้เปรียบจากการเข้าสู่ตลาดก่อนคู่แข่ง อาทิ กรณีผลิตภัณฑ์ของบริษัท CPF ได้แก่ ไข่ไก่ เนื้อไก่สด และเนื้อหมูสด ได้รับการรับรองโดยองค์กรรับรองมาตรฐาน DVN.GL ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย [ix]

มาตรการลดการปล่อยก๊าซ GHG เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจไทย

 แนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพควรดำเนินควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร คณะผู้วิจัยแบ่งมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกเป็น 3 ระยะ ตามความพร้อมและต้นทุนทางด้านเทคโนโลยี ประกอบด้วย หนึ่ง มาตรการ Quick win ซึ่งเป็นมาตรการที่ดำเนินการได้ทันทีและคืนทุนเร็ว เช่น การนำมูลสัตว์มาทำก๊าซชีวภาพในภาคเกษตร การใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การติด Solar PV เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในอาคาร เป็นต้น สอง มาตรการระยะกลาง ซึ่งในปัจจุบันยังมีต้นทุนสูง แต่จะคุ้มทุนในอนาคตเนื่องจากต้นทุนทางด้านเทคโนโลยีมีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็ว เช่น การปรับสูตรอาหารสัตว์เพื่อลดก๊าซมีเทนในภาคเกษตร การผลิตซีเมนต์คาร์บอนต่ำ (Hydraulic cement) ในภาคอุตสาหกรรม การใช้เชื้อเพลิง SAF (Sustainable Aviation Fuel) ในภาคบริการ เป็นต้น และ สาม มาตรการระยะยาว ซึ่งต้องรอพัฒนาการทางเทคโนโลยี เช่น การพัฒนาพันธุ์สัตว์หรือวัคซีนเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนในภาคเกษตร เทคโนโลยี CCS/CCU/CCUS[1] เทคโนโลยีเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสีเขียว (Green hydrogen) อากาศยานพลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen aircraft) เป็นต้น

ในระยะสั้น ภาครัฐอาจเริ่มจากการผลักดันมาตรการประเภท Quick Win ก่อน เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น รวมถึงการจัดการขยะและน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในโรงงานและสถานประกอบการ สำหรับในระยะกลางและระยะยาว เมื่อต้นทุนด้านเทคโนโลยีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงและเทคโนโลยีมีความพร้อมมากขึ้น อาจสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีการลดการปล่อยและการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพสูง

ตัวอย่างการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจในภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ

จากแรงกดดันตามที่กล่าวมาข้างต้นส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจหลายรายทั้งในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเริ่มกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่เพียงผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้นที่จะมีบทบาทในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ด้วย ตัวอย่างกรณีศึกษาของธุรกิจในสาขาต่างๆ ที่มีการกำหนดแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนกิจกรรมทางธุรกิจ ทั้งการปรับกิจกรรมการผลิตรวมไปถึงการปรับใช้เทคโนโลยีการลดการปล่อยก๊าซต่างๆ โดยคณะผู้วิจัยสรุปแนวทางปฏิบัติที่น่าสนใจไว้ดังนี้

  • ภาคเกษตรกรรม

บริษัท เบทาโกร จํากัด (มหาชน) มุ่งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิต (Scope 1) และจากไฟฟ้าที่ใช้ในกระบวนการผลิต (Scope 2) อย่างน้อย 20% ภายในปี 2030 ในระยะเริ่มต้นบริษัทเบทาโกรได้ดำเนินการโดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและทำการบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งช่วยให้บริษัทลดการใช้ไฟฟ้าและความร้อนได้สูงถึง 30 ล้านเมกะจูลต่อปี พร้อมกับการปรับใช้พลังงานหมุนเวียนภายในโรงงานอาหารสัตว์ เช่น การจัดตั้งโซลาร์ฟาร์ม การติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาโรงงาน (solar rooftop) การนำมูลสัตว์มาผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น ที่ผ่านมาบริษัทสามารถผลิตพลังงานสะอาดได้มากกว่า 40 เมกะวัตต์ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 22,000 ตันต่อปี

นอกจากนี้ เบทาโกรวางแผนที่จะดำเนินกิจกรรมเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเติม โดยในระยะกลางบริษัทอยู่ระหว่างการทำวิจัยและพัฒนาสูตรอาหารของวัวนม อาทิ การเติมสาหร่าย การเพิ่มโพรไบโอติกส์ (Probiotics) ในอาหารสัตว์ เพื่อแก้ปัญหาการปล่อยมีเทนจากกระบวนการหมักในระบบย่อยอาหาร (Enteric fermentation) และในระยะยาวบริษัทมุ่งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนที่ต้นน้ำจาก การลดการเผาในแปลงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การลดการใช้ปุ๋ยเคมีในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 โดยซีพีเอฟมีจุดเด่นในการสอดแทรกแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกไปในกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนและดาวเทียมในการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ CPF รับซื้อมาจากพื้นที่ที่มีการเผาหรือไม่ ที่กลางน้ำ บริษัท CPF ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในโรงงานอาหารสัตว์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต เช่น Internet of Things (IoT) ระบบอัตโนมัติภายในโรงงาน (Automation) เป็นต้น รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพอาหารสัตว์เพื่อลดการปล่อยก๊าซจากการเลี้ยงสัตว์ การปรับกิจกรรมเหล่านี้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 70,000 tCO2eq/ปี และที่ปลายน้ำ บริษัทได้นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในฟาร์มและโรงงานแปรรูป ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 630,000 tCO2eq/ปี สำหรับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตนั้น บริษัท CPF คาดหวังว่าจะได้ปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การแปลงมีเทนเป็นไฮโดรเจน เป็นต้น

กลุ่มเกษตรกรปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง เนื่องจากการปลูกข้าวรูปแบบเดิมด้วยการขังน้ำในนาทำให้เกิดก๊าซมีเทนจำนวนมาก หากเกษตรกรปรับเปลี่ยนมาปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งจะสามารถสร้างประโยชน์ต่อสังคมจากการลดการปล่อยก๊าซมีเทนและช่วยประหยัดน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกกว่า 28% ทำให้สามารถนำน้ำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น นอกจากนี้ การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งยังสร้างประโยชน์โดยตรงแก่เกษตรกรจากการประหยัดต้นทุน อาทิ ประหยัดต้นทุนการสูบน้ำ ประหยัดค่าเมล็ดพันธุ์และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช อีกทั้งเกษตรกรยังมีโอกาสที่จะได้รับรายได้เพิ่มเติมจากการขายคาร์บอนเครดิต

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งจะสร้างทั้งประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ส่วนบุคคลแก่เกษตรกรตามที่กล่าวข้างต้น แต่การปรับไปใช้วิธีดังกล่าวเกษตรกรจะต้องพิจารณาถึงข้อจำกัดและต้นทุนที่จะเกิดขึ้น กล่าวคือ วิธีการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งนั้นเหมาะสำหรับพื้นที่นาในเขตชลประทานและมีระบบการควบคุมการปล่อยน้ำที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปล่อยน้ำในช่วงเวลาที่ข้าวต้องการ นอกจากนี้ เกษตรกรจะต้องลงทุนปรับแปลงนาให้มีระดับที่สม่ำเสมอเพื่อสะดวกในการควบคุมระดับน้ำ และเกษตรกรจะต้องใช้เวลาลงแปลงเพื่อติดตามระดับน้ำในนาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่เสมอ

จากผลการทดลองภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (2023) หรือที่รู้จักกันในนาม “Thai Rice NAMA”[2] เป็นการส่งเสริมเกษตรกรใน 6 จังหวัดนำร่อง ให้เปลี่ยนมาใช้วิธีการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งด้วยการให้บริการปรับหน้าดินด้วยเลเซอร์ จากการประมาณการณ์พบว่าการปรับเปลี่ยนดังกล่าวจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกข้าวได้ 2.57 – 5.13% ของการปลูกข้าวรูปแบบเดิม[3] หรือคิดเป็น 737,000 – 1,474,000 tCO2eq อีกทั้งยังช่วยประหยัดการใช้น้ำประมาณ 3 – 5.9%[4] หรือประมาณ 322 – 644 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 540 – 1,081 ล้านบาทต่อปี[5]

ขณะที่งานศึกษาของนิพนธ์ พัวพงศกร กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ และคณะ (2023) [x] ซึ่งเป็นการศึกษามาตรการที่มีผลต่อการตัดสินใจของเกษตรกรในการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งด้วยวิธีการทดลองแบบ Lab-in-the-field กับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนบนและตอนล่างจำนวน 248 ราย พบว่าการขายคาร์บอนเครดิตสามารถจูงใจให้เกษตรกรปรับรูปแบบการปลูกข้าวมาปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมาตรการดังกล่าวส่งผลให้เกษตรกรในกลุ่มตัวอย่างตัดสินใจเลือกปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งเพิ่มขึ้น 30% จากการประมาณการณ์พบว่ามาตรการดังกล่าวช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 7.7% ของการปลูกข้าวรูปแบบเดิม หรือลดลงประมาณ 2,221,000 tCO2eq และช่วยประหยัดการใช้น้ำ 8.9% หรือประมาณ 966 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 1,622 ล้านบาทต่อปี[6]

โดยสรุปหากหน่วยงานภาครัฐมีการดำเนินมาตรการเพื่อส่งเสริมการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง อาทิ การให้บริการปรับหน้าดินด้วยเลเซอร์ การส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนจากการปลูกข้าว คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกข้าวได้ประมาณ 2.57 – 7.7%[7] ของการปล่อยก๊าซเรือกระจกจากการปลูกข้าวรูปแบบเดิม

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางการรับมือกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในภาคเกษตรนั้น นอกจากเป้าหมายที่จะมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือการปรับสู่เกษตรคาร์บอนต่ำแล้ว ภาครัฐและเอกชนควรดำเนินการควบคู่ไปกับกิจกรรมอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ (1) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน เช่น การทำเกษตรแนวตั้ง (Vertical farming) ในเขตเมือง การทำระบบเกษตรฟื้นฟู (Regenerative agriculture) การปลูกป่า เป็นต้น (2) การจัดการน้ำและพลังงาน เช่น การบริหารจัดการน้ำชลประทาน การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งเพื่อประหยัดการใช้น้ำ เป็นต้น และ (3) การจัดการด้านการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เช่น การปรับใช้เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ (Precision agriculture)

  • ภาคอุตสาหกรรม

บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG) ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 โดยในระยะสั้นบริษัท SCG ได้ดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกโดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการใช้พลังงานหมุนเวียน ในระยะกลาง SCG มีการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลและเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel cells) การใช้เชื้อเพลิงทางเลือกในกระบวนการเผาเพื่อผลิตปูนซีเมนต์ การผลิตคอนกรีตคาร์บอนต่ำ การผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Hydraulic cement) และในระยะยาวบริษัทฯ คาดว่าจะใช้เทคโนโลยีเชื้อเพลิงไฮโดรเจนและเทคโนโลยี CCU เป็นต้น

แพนดอร่า (Pandora) บริษัทเครื่องประดับโลกที่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2040 โดยแพนดอร่าได้เริ่มดำเนินกิจกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียนโดยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ การซื้อใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC)[8] รวมถึงการใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิต อาทิ ทองคำและเงินรีไซเคิล ในระยะกลาง Pandora มีแผนที่จะต่อยอดกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้วในระยะสั้น เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์ที่โรงงานเพิ่มเติม การซื้อใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียนสำหรับสำนักงานขายหรือหน้าร้าน การใช้เทคโนโลยีผลิตจิเวลรี่ใหม่ อาทิ เพชรสังเคราะห์ (lab-created diamond) รวมถึงการหาวัสดุรีไซเคิลหรือวัสดุอื่นที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ส่วนในระยะยาว Pandora คาดหวังที่จะทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบใหม่ อีกทั้งวางแผนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากส่วนอื่นๆ ในห่วงโซ่อุปทาน (Scope 3) ด้วยการดำเนินโครงการในลักษณะเข้าไปมีส่วนร่วมกับซัพพลายเออร์ (Supplier Engagement Program) เพื่อปรับกิจกรรมต่างๆ ให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง

บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) ได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ที่ผ่านมาบริษัทไทยวาโก้ได้ดำเนินกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การติดตั้งแผงโซลาร์เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ใช้ในโรงงาน และการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ อาทิ ชุดชั้นในที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล (Recycled PET) ทั้งนี้ ในระยะกลางบริษัทไทยวาโก้มีแผนที่จะติดตั้งแผงโซลาร์ที่โรงงานเพิ่มเติม ขณะที่ระยะยาวบริษัทมีแผนที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต เช่น เทคโนโลยีย้อมผ้าที่ใช้พลังงานในกระบวนการย้อมต่ำและปล่อยก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างน้อย นวัตกรรมย้อมผ้าแบบแห้ง (Dry dye) เทคโนโลยีสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผ้าที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติ (Eco-printing) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือกกระจกของไทยวาโก้จะเห็นได้ว่าความท้าทายสำคัญอยู่ที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งไทยวาโก้นั้นมีการดำเนินธุรกิจร่วมกับซัพพลายเออร์หรือคู่ค้าในห่วงโซ่มูลค่าจำนวนมากทั้งในไทยและต่างประเทศ

  • ภาคบริการ

พีชฮิลล์รีสอร์ท (Peach Hill Resort) เป็นตัวอย่างธุรกิจ SMEs ที่สนใจปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมานานกว่า 20 ปี ด้วยเป้าหมายการเป็นโรงแรมคาร์บอนต่ำ ที่ผ่านมาพีชฮิลล์รีสอร์ทได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาทิ การออกแบบอาคาร/ โรงแรมโดยรักษาพื้นที่สีเขียว การไม่ใช้ระบบปรับอากาศในพื้นที่ล็อบบี้เพื่อประหยัดพลังงาน การจัดการขยะโดยตั้งเป้าหมาย Zero Waste เช่น การนำน้ำเสียมาบำบัดเพื่อนำกลับมาใช้รดน้ำต้นไม้ภายในโรงแรม เป็นต้น รวมถึงการติดตั้งแผงโซลาร์เพื่อผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ในระยะกลางและระยะยาว พีชฮิลล์รีสอร์ทวางแผนที่จะติดตั้งแผงโซลาร์เพิ่มเติมและใช้พลังงานหมุนเวียนอื่นๆ สำหรับช่วงเวลากลางคืน อีกทั้งขยายขอบเขตการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปยังกิจกรรมอื่นๆ ในห่วงโซ่อุปทาน (Scope 3) โดยวางแผนที่จะจัดซื้อสินค้าที่จะต้องใช้ภายในโรงแรมให้เป็นกลุ่มสินค้าคาร์บอนต่ำ เช่น ผงซักฟอกแบบน้ำ น้ำยาเช็ดพื้น เป็นต้น

อุปสรรคในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

จากการศึกษาพบว่าการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำยังคงมีอุปสรรคสำคัญ เช่น ข้อจำกัดด้านกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้า การขาดมาตรการราคาคาร์บอนภาคบังคับ ข้อจำกัดด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการปรับตัวไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ การขาดความรู้ความเข้าใจของผู้ประกอบการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถปรับไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ คณะผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญ ดังนี้

  1. การปฏิรูปตลาดซื้อขายไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้าสะอาดในกระบวนผลิต
  2. การใช้กลไกภาษีคาร์บอนควบคู่กับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน ลดผลกระทบจากแรงกดดันภายนอก อาทิ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) และทำให้ธุรกิจมีทางเลือกในการปรับตัวเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน นอกจากนี้ ในอนาคตภาครัฐควรทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างตลาดคาร์บอนเครดิตเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องปรับกระบวนการผลิต
  3. การปรับเปลี่ยนมาตรการให้เงินอุดหนุนของภาครัฐเป็นการอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข เช่น การให้เงินอุดหนุนเกษตรกรโดยมีเงื่อนไขว่าเกษตรกรจะต้องไม่เผาวัสดุทางการเกษตร ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและ PM2.5 ที่เกิดจากการเผาวัสดุทางการเกษตร 
  4. การสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผู้ประกอบการ SMEs ในห่วงโซ่อุปทาน เช่น การให้ความรู้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ เป็นต้น

นอกจากการดำเนินนโยบายข้างต้นแล้วภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการและกลไกสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ กลไกที่สำคัญคือการจัดตั้งกองทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green transition fund) และกองทุนเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation fund) โดยใช้รายได้ที่มาจากการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งกองทุนทั้งสองจะมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการที่ต่างกัน ในส่วน Green Transition Fund มีวัตถุประสงค์เพื่อลดผลกระทบของการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำต่อกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ และสนับสนุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ในการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น การประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น ขณะที่ Adaptation fund มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยก้าวไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้ เช่น สถาบันการเงินอาจพิจารณาออกสินเชื่อสีเขียวแก่ธุรกิจ/ ผู้ประกอบการ SME เพื่อใช้ในการปรับตัว ผู้ประกอบการรายใหญ่อาจระดมทุนที่จะใช้ในการปรับธุรกิจให้คาร์บอนต่ำผ่านการออกตราสารหนี้สีเขียวหรือตราสารหนี้ยั่งยืน เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่อาจเข้าไปมีส่วนร่วมหรือให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งจะเป็นผลดีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตาม Scope 3

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ งานสัมมนาสาธารณะประจำปี 2566 ของทีดีอาร์ไอ ในหัวข้อ “ปฏิรูปภาคไฟฟ้า…พาไทยให้อยู่รอด” สามารถ รับชมย้อนหลัง และดาวน์โหลดเอกสารประกอบการนำเสนอ

เอกสารอ้างอิง

[i] German Watch and TDRI

[ii] Pew Research Center, Aug 31, 2022

[iii] European Commission

[iv] https://zerotracker.net/#companies-table

[v] SCB EIC, Data from EU Commission

[vi] Thailand’s Fourth National Communication

[vii] กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน, นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ (2561)

[viii] https://www.europarl.europa.eu/news/en/press-room/20220909IPR40140/climate-cha
nge-new-rules-for-companies-to-help-limit-global-deforestation

[ix] CPF

[x] นิพนธ์ พัวพงศกร กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ และคณะ. (2023). โครงการแพลตฟอร์มนโยบายข้าวและผักผลไม้ไทย. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)


[1] Carbon Capture Storage, Carbon Capture Utilization, Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS

[2] ที่มา: https://www.thai-german-cooperation.info/th/thai-rice-nama-nationally-appropriate-mitigation-action/

[3] ข้อมูลปี 2018 กิจกรรมการปลูกข้าวปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 29,990,000 tCO2e

[4] ปริมาณน้ำที่ประหยัดได้คำนวณจากปริมาณการใช้น้ำชลประทานปลูกข้าวในช่วงฤดูแล้ง

[5] คำนวณจากราคาเงาของน้ำชลประทาน 1.68 บาท/ ลบ.ม.

[6] คำนวณจากราคาเงาของน้ำชลประทาน 1.68 บาท/ ลบ.ม.

[7] คำนวณจากพื้นที่นาข้าวในเขตชลประทานซึ่งจะสามารถใช้วิธีปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งได้ โดยข้อมูลเฉลี่ย 10 ปี (2013 – 2022) ประมาณ 7.3 ล้านไร่

[8] Renewable Energy Certificate (REC) คือ ใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน เป็นกลไกที่ช่วยให้ผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถอ้างสิทธิ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดย 1 REC = 1 MWh

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด